ข้าวจี่ อาหารอีสานที่ไม่ธรรมดา
ข้าวจี่ อาหารอีสานที่ไม่ธรรมดา
ชาวอีสานทั่วไปนิยมรับประทานข้าวจี่เป็นอาหารว่างในตอนเช้า โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว
เวลานวดข้าวที่ลาน ชาวบ้านจะพากันมานั่งล้อมวงผิงไฟ นำข้าวเหนียวใหม่ที่นึ่งสุกมาปั้นขนาดเท่ากำมือ นำไม้มาเสียบตรงกลางตามยาวของปั้นข้าวเหนียว นำไปจี่ไฟอ่อนๆ ให้เกรียมพอเหมาะ จากนั้นนำข้าวจี่มาจุ่มไข่ไก่ที่ปรุงรสแล้ว เอาไปจี่ไฟอีกครั้งให้สุกพอประมาณ ข้าวจี่ที่ทำจากข้าวเหนียวใหม่จะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน และข้าวจี่เป็นอาหารที่ชาวอีสานทำเพื่อเป็นเสบียง สำหรับเวลาต้องเดินทางไกลหรือเวลาไปเลี้ยงสัตว์ตามท้องทุ่งนา ชาวบ้านจะนิยมห่อข้าวจี่ไปรับประทานด้วย เนื่องจากข้าวจี่เป็นอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นานตลอดทั้งวัน
การทำบุญข้าวจี่ในประเพณีฮีตสิบสองของภาคอีสาน มีคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนามาจากอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท โกธวรรคที่ 17 เรื่อง นางปุณณทาสี ความว่า ในสมัยพุทธกาล นางปุณณทาสีเป็นคนเข็ญใจ ได้ทำขนมแป้งจี่ถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอานนท์เถระ ครั้นถวายแล้วจึงรับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดอาสนะแล้วทรงประทับนั่งฉันท์ ณ ที่นางถวายนั้น เป็นผลให้นางเกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็บรรลุโสดาบันปัตติผลด้วยอานิงสงฆ์ที่ถวายขนมแป้งจี่
จากเรื่องนี้ชาวอีสานได้นำมาเป็นคติความเชื่อว่า การถวายข้าวจี่นั้นจะได้อนิสงส์มาก ชาวอีสานรวมถึงชาวลาวที่อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จึงพากันยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เรียกว่า บุญข้าวจี่หรือบุญเดือนสาม จัดอยู่ในช่วงเดือนปลายเดือนมกราคมถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์
ดังที่ปราชญ์อีสานได้ประพันธ์ผญา เกี่ยวกับการทำบุญช่วงเดือนสามและเดือนสี่ในประเพณีฮีตสิบสองไว้ว่า เถิงเมื่อเดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ ตกเมื่อเดือนสี่ค้อยจัวน้อยเทศน์มัทรี แปลว่า เมื่อถึงเดือนสามพระภิกษุสามเณรจะรอชาวบ้านทำบุญข้าวจี่ และเมื่อถึงเดือนสี่ ช่วงเดือนมีนาคม สามเณรจะเทศน์กัณฑ์มัทรีในงานบุญมหาชาติ
เมื่อถึงเดือนสามชาวบ้านจะประชุมกันเพื่อนัดวันทำบุญ โดยส่วนมากจะเลือกวันที่ตรงกับวันพระ เช่น เลือกวันมาฆบูชา หรือหลังจากวันมาฆบูชาเป็นวันทำบุญข้าวจี่ เมื่อถึงวันทำบุญชาวบ้านจะลงมือจี่ข้าวตั้งแต่เช้าตรู่ โดยเอาข้าวเหนียวมาปั้นขนาดเท่ากำมือพอเหมาะ นำไม้มาเสียบตรงกลางตามยาวของปั้นข้าว นำไปจี่ไฟให้เกรียมอ่อนๆ ต่อมานำไข่ไก่ที่ปรุงรสด้วยเกลือมาทาให้ทั่ว แล้วนำไปจี่ไฟอีกครั้งจนสุกตามที่ต้องการ เสร็จแล้วก็นำมาถอดออกจากไม้เสียบและนำก้อนน้ำอ้อยยัดใส่ในรูตรงที่ไม้เสียบ จากนั้นนำข้าวจี่ไปยังอารามเพื่อทำบุญตักบาตรถวายข้าวจี่ มีการฟังพระธรรมเทศนา และพระสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธีในการทำบุญ
อ้างอิงจาก: สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์, 2542.