เกร็ดความรู้เรื่องดอกมะลิ ดอกไม้คุ้นตาสัญลักษณ์ของวันแม่
วันแม่เพิ่งผ่านพ้นไป วันนี้เลยมาขอตามกระแสวันแม่กันสักหน่อย
พูดถึงวันแม่แล้วสิ่งที่ทุกคนมักจะนึกถึงคือ ดอกมะลิ ดอกไม้ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของวันแม่
กับภาพจำที่ร้อยเรียงเป็นมาลัยช่อใหญ่ดูสวยงาม
ดอกมะลิ จัดเป็นดอกไม้มงคลชนิดหนึ่ง ถือเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความกตัญญู และความปรารถนาดี และเนื่องจากดอกมะลิมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเทือกเขาหิมาลัย ตามความเชื่อพราหมณ์-ฮินดู นั้นว่ากันว่าเป็นที่ประทับของพระนารายณ์ ชาวอินเดียจึงให้ดอกมะลิเป็นดอกไม้ประจำองค์พระนารายณ์ อีกด้วย
แต่รู้ไหมทำไม มะลิ ถึงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่
เนื่องด้วยกลิ่นหอมละมุนและสีขาวอันเปรียบดั่งความรักแสนบริสุทธิ์ ทั้งยังเป็นดอกไม้มงคลที่มักเห็นได้บ่อย ๆ จากการนำไปร้อยมาลัยเพื่อบูชาพระ ดอกมะลิจึงเปรียบได้กับความรักอันแสนบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย
ซึ่งประเทศไทยเริ่มจัดงานวันแม่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2486 ณ สวนอัมพร โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดงาน ต่อมามีการเปลี่ยนกำหนดงานวันแม่หลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เห็นว่าควรกำหนดวันแม่ให้แน่นอนโดยให้ถือว่า วันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม เป็น วันแม่แห่งชาติ และ กำหนดให้ "ดอกมะลิ" เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน จึงกลายเป็นที่มาของดอกมะลิที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ที่เราคุ้นเคยกันถึงทุกวันนี้
นอกจากดอกมะลิที่เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ และถูกนำไปร้อยเป็นมาลัยดูสวยงามแล้ว ดอกมะลิยังมีประโยชน์และสรรคุณที่หลากหลายอีกมากมายเลยนะ งั้นเรามาทำความรู้จัก ดอกมะลิ ที่เราเห็นกันมานานดีกว่า
ดอกมะลิมีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนชื้น หรือ กึ่งร้อนชื้นในเอเชีย และความสมุทรอารเบีย แต่ในปัจจุบันนั้นสามารถพบได้ ทั้งในยุโรป เอเชีย อาฟริกา และแถบแปซิฟิค โดยพืชในสกุลเดียวกับดอกมะลิมีประมาณ 200 ชนิด ส่วนในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 45 ชนิด และสามารถพบเห็นได้ทั่วทุกภาคของประเทศ สำหรับมะลิที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของไทย มีอยู่ประมาณ 15 ชนิด ซึ่งมะลิที่พบเห็นกันมากในไทยได้แก่ มะลิลา มะลิลาซ้อน มะลิถอด มะลิพิกุล หรือ มะลิฉัตร มะลิทะเล มะลิทะเล มะลิเลื้อย มะลิวัลย์ พุทธชาด ปันหยี เครือไส้ไก่ อ้อยแสนสวย และมะลิเขี้ยวงู เป็นต้น ทั้งนี้แหล่งปลูกมะลิที่สำคัญของไทย ได้แก่ นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ชลบุรี พิษณุโลก ลำพูน อุบลราชธานี ขอนแก่น และ หนองคาย
ดอกมะลิจัดเป็นดอกไม้มีฤทธิ์เย็น และการศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะลิ พบว่า
มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus sanguinis ที่เป็นสาเหตุให้เกิดฟันผุ : พบว่าสารสกัด เมทานอล จากดอกมะลิลาแห้ง มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อดังกล่าว โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) เท่ากับ 1 mg/ml ดังนั้นสารสกัดจากดอกมะลิจึงมีผลต่อสุขภาพในช่องปาก ส่วนแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa และเชื้อรา Aspergillus niger : พบว่าสาร caryophyllene oxide, benzyl benzoate, farnesyl acetate, methyl isoeugenol จากดอกมะลิลาออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อดังกล่าว
มีฤทธิ์สงบประสาท และทำให้นอนหลับ : แต่ทั้งนี้ควรระมัดระวังในการใช้ เพราะหากใช้มากเกินไปอาจจะทำให้เกิดอาการสลบได้
มีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด มีการศึกษาวิจัยโดย เมื่อให้สารสกัด 95% เอทานอลของดอกมะลิซอน 50-400 มคก./มล. และสารสกัด 95% เอทานอลของดอกมะลิลา 0.125-2 ก./ล. แก่หนูทดลองพบว่า มีผลทําใหหลอดเลือดแดงของ หนูขยายตัวแปรตามขนาดของสารสกัดที่เพิ่มขึ้น โดยฤทธิ์ขยายหลอดเลือดของสารสกัดจากดอกมะลิ เกี่ยวของกับการกระตุนการ หลั่ง nitric oxide, กระตุน K+channel และยับยั้งส่งผ่านแคลเซียมเข้าสู่เซลล์
นอกจากนี้การศึกษาทางคลินิก ของน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิต่อระบบประสาทอัตโนมัติ พบว่าทำให้เกิดความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า และตื่นตัวมีฤทธิ์ในการกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึกของร่างกาย และทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้
จะเห็นได้ว่าดอกมะลิมีสรรพคุณมากมาย สรุปได้โดยคร่าว ๆ ดังนี้
- ใช้บำรุงหัวใจ
- ช่วยดับพิษร้อน
- ช่วยถอนพิษไข้
- ช่วยทำจิตใจให้ชุ่มชื่น
- ช่วยบำรุงครรภ์รักษา
- แก้ร้อนใน ช่วยกระหายน้ำ
- ช่วยสมานท้อง แก้บิด แก้ปวดท้อง
- แก้แผลเรื้อรัง
- แก้ปวดหัว
- แก้ลมวิงเวียน
- กลิ่นหอมช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ช่วยบำบัดลดความเครียด
- กลิ่นหอมช่วยเรื่องการนอนไม่หลับ
แต่ทุกสิ่งบนโลกใบนี้มีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย แม้ดอกมะลิจะมีสรรพคุณมากมายอย่างที่ได้อ่านกันในข้างต้น แต่จากการศึกษาข้อมูลก็มีข้อควรระวังจากการใช้ประโยชน์จากดอกมะลิ เช่น
- ปัจจุบันมีการนำดอกมะลิตากแห้งหรือดอกมะลิสดในการผสมเป็นชาร้อน หรือเครื่องดื่มเย็นเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายจากกลิ่น จึงไม่ควรกินเป็นประจำติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ความจำไม่ดี ลืมง่าย
- การใช้ดอกมะลิเพื่อช่วยในการนอนหลับ หากใช้มากไปอาจทำให้สลบได้
- การใช้กลิ่นดอกมะลิในการบำบัดไม่ควรใช้ในปริมาณที่มีความเข้มข้นมากเกินไป เพราะกลิ่นหอมแรงเกินไป อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดวิงเวียน และคลื่นไส้ได้
- เนื่องจากดอกมะลินั้นมีฤทธิ์เย็น หากใช้ปริมาณมากเกินไปอาจไปแสลงกับโรคลมจุกเสียดแน่นได้
นอกจากนี้ดอกมะลินอกจากจะใช้ร้อยเป็นมาลัยแล้ว ยังใช้ประกอบอาหารได้อีกด้วยนะ ไม่ว่าจะเป็นเมนูง่าย ๆ อย่างเช่นการทำน้ำลอยดอกมะลิแช่เย็นเพื่อดื่มให้ชื่นใจคลายจากอากาศร้อนของประเทศไทย หรือการใช้คั้นกับกะทิเพื่อให้ได้กลิ่นหอมของมะลิในการทำขนม อย่างเช่น วุ้นกะทิกลิ่นมะลิ ก็ดูน่ากินอย่างบอกไม่ถูก หรือใช้ประกอบอาหารคาวไว้ทานคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ อย่างเช่น กุ้งผัดมะลิ ก็ฟังดูน่าทานไม่น้อยเลยทีเดียว