ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น (Masked Depression)
ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น (Masked Depression) คือ ภาวะซึมเศร้ารูปแบบพิเศษชนิดหนึ่งที่ไม่แสดงออกทางจิตใจ หรือ ทางอารมณ์ แต่ แสดงออกอาการเจ็บป่วยทางกายให้เห็นบ่อย ๆ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด คลื่นไส้ ปั่นป่วนในท้อง จะเริ่มทำให้รู้สึกกังวลจนคิดว่าป่วยเป็นโรคทางกายบางอย่าง แต่เมื่อไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วย กลับไม่พบความผิดปกติทางกายใด ๆ อย่างชัดเจน
อาการของภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น แตกต่างกันกับ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ผู้ป่วยซึมเศร้าจะแสดงออกอาการซึมเศร้าให้เห็นเด่นชัด เช่น อาการเหนื่อย ท้อแท้ หมดหวัง หมดกำลังใจ รู้สึกไร้ค่าไม่เป็นที่ต้องการ มีความความคิดอยากตาย สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้าซ่อนเร้นนั้นมักไม่พบอาการซึมเศร้าที่ชัดเจนเหล่านั้น ผู้ป่วยโรคนี้สามารถพูดจาทักทายกับคนรอบข้างได้ตามปกติ ยิ้มแย้มกับคนใกล้ชิดเหมือนไร้ซึ่งปัญหา ยังสามารถรับผิดชอบหน้าที่การงานได้ แต่เมื่อนานไปประสิทธิภาพในการทำงานจะเริ่มลดลง จนไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ตามศักยภาพ เนื่องจากความเครียดความกังวลมากเกินไป และ จะเริ่มส่งผลกับสุขภาพจิต ทำให้ความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามา หรือ การรับมือความผิดหวังจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงในชีวิตจะทำได้ไม่ดี นำไปสู่การป่วยทางจิตใจมากขึ้นต่อไป อาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้ และ หากยังไม่สามารถปรับตัวได้อีกก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงการฆ่าตัวตายก็เป็นได้
ในบางรายอาจมีอาการทางพฤติกรรมอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น พฤติกรรมแบบ Perfectionist คือ ย้ำคิดย้ำทำหมกมุ่นกับความสมบูรณ์แบบ เพราะในระดับจิตใต้สำนึกของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นจะมีความรู้สึกไม่มั่นคง สงสัย ไม่มั่นใจในคุณค่าของตนเอง จึงพยายามทุ่มเท ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ดี สมบูรณ์แบบที่สุดตามมาตรฐาน เพื่อให้ตนเองเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ถ้างานไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง จะรู้สึกผิดหวังรุนแรง โกรธเกรี้ยวรุนแรง หงุดหงิดง่ายอย่างไม่สมเหตุสมผล
ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น หากปล่อยไว้นานอาจส่งผลกระทบหลายด้าน
เมื่อรู้สึกว่าตนเองมีปัญหาเจ็บป่วยทางกาย ได้รับการตรวจรักษาแต่ไม่ตรงจุด จึงทำให้ได้รับการรักษามากเกินจำเป็น เสียเวลา เสียเงินทอง สภาพร่างกายและจิตใจที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะแย่ลงไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้สาเหตุ
วิธีรับมือ ดูแล รักษาภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น
1.ต้องเปิดใจยอมรับก่อนว่าตนเองเป็นโรคนี้ เพราะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ยอมรับว่าตนเองมีภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจ มักมองว่าตนเองเจ็บป่วยทางกายเท่านั้น เลือกที่จะเก็บกดปัญหาเอาไว้
2.ฝึกฝนตนเองให้มีสติ สังเกตความคิดและอารมณ์ ให้เท่าทันความคิดและอารมณ์ของตัวเอง เพื่อให้สามารถปรับอารมณ์กลับมาตามปกติได้ทัน
3.จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น ออกกำลังกาย เล่นโยคะ ฟังเพลงที่ชอบ ดูซีรีส์ ปลูกต้นไม้ ออกไปเดินเล่นให้ร่างกายได้รับแสงแดด การฝึกหายใจเข้าออกช้า ๆ ยาว ๆ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เป็นต้น
4.มองโลกตามความเป็นจริง ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาในชีวิต ยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวเอง โดยไม่เปรียบเทียบกับผู้อื่น ให้อภัยตัวเองหากมีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้น ทุกอย่างมีทางแก้เสมอ
5.รักษาความสัมพันธ์ ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนสนิทให้มากขึ้น พูดคุยระบายความรู้สึกกันและกัน
6.ออกไปทำสิ่งใหม่ ๆ อย่างการเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรม เพื่อพบปะผู้คนที่มีความสนใจคล้ายกัน
7.เลือกปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตทันทีเมื่อรู้สึกว่าไม่ไหว โดยการทำจิตบำบัด และ การบำบัดแบบอื่น ๆ เช่น ศิลปะบำบัด ฝึกผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ ซึ่งต้องใช้เวลาให้เข้าใจเรื่องบุคลิกภาพของตนเอง และ กลไกทางจิตของตนเองที่จะใช้แก้ปัญหา