นอนไม่หลับเกิดจากอะไรบ้าง? เจาะลึกสาเหตุพร้อมเรียนรู้วิธีแก้ไข
นอนไม่หลับ (insomnia) อาการนอนหลับไม่สนิทที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้อ่อนเพลียจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ อยากรู้สาเหตุและวิธีแก้โรคนอนไม่หลับ อ่านต่อที่นี่
เมื่อถึงเวลานอนแต่กลับหลับไม่สนิท แม้จะง่วงแค่ไหนแต่ก็นอนไม่หลับสักที ทำให้การตื่นนอนของคุณมาพร้อมกับความอ่อนเพลีย เพราะร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “อาการนอนไม่หลับ” หรือที่หลายคนคุ้นหูกันว่า Insomnia หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ เข้าโดยไม่หาทางแก้หรือเข้ารับการรักษาก็อาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาที่หลังได้
ดังนั้น เพื่อรู้เท่าทันอาการดังกล่าวเราจะมาเจาะลึกถึงสาเหตุและวิธีแก้นอนไม่หลับกัน บอกเลยว่าคนนอนหลับยากและกำลังมองหาตัวช่วยนอนหลับให้สนิทควรอ่านตั้งแต่ต้นไปจนถึงช่วงสรุปท้ายบทความเลยทีเดียว
นอนไม่หลับมีสาเหตุจากอะไรบ้าง จุดเริ่มต้นของการนอนหลับไม่สนิท
นอนไม่หลับเกิดจากอะไรบ้าง? การนอนไม่หลับมีสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ซึ่งการรู้สาเหตุที่แท้จริงย่อมช่วยให้คุณสามารถหาวิธีแก้อาการนอนหลับไม่สนิทได้อย่างตรงจุดมากขึ้น โดยมีสาเหตุมีดังต่อไปนี้
นอนไม่หลับจากสิ่งแวดล้อม
- เตียงนอนไม่เหมาะสมกับสรีระผู้นอน ทั้งขนาดและความแข็ง-อ่อนของเตียง ซึ่งส่งผลต่อการนอนหลับได้
- แสงไฟในห้องนอนสว่างเกินไป ทั้งแสงไฟภายในห้องและแสงไฟจากข้างนอกหน้าต่าง ทำให้รบกวนการนอน
- บริเวณรอบ ๆ ห้องนอนมีเสียงดังรบกวน ยิ่งทำให้นอนไม่หลับทั้งคืนและนอนหลับยากขึ้นกว่าเดิม
- อาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่ายตลอดคืน อาจมีสาเหตุมาจากอุณหภูมิในห้องนอนร้อนหรือหนาวเกินไป ส่งผลให้ระหว่างนอนรู้สึกไม่สบายตัว
นอนไม่หลับจากพฤติกรรม
- การดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มชูกำลัง ในช่วงตอนบ่ายหรือเย็นนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาทและร่างกายให้ตื่นตัว โดยสารคาเฟอีนจะคงอยู่ในร่างกาย 4-6 ชั่วโมง ทำให้ช่วงตอนกลางคืนนอนหลับยากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง
- การสูบบุหรี่เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่กระตุ้นร่างกายให้นอนไม่หลับได้ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่ส่งผลต่อการนอนหลับ รวมไปถึงกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
- พฤติกรรมนอนหลับไม่เป็นเวลา ด้วยอาชีพการทำงานเป็นกะ ต้องเปลี่ยนเวลานอนบ่อย ๆ เช่น แพทย์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน อาจเสี่ยงมีอาการนอนไม่หลับ สมองไม่หยุดคิดมากกว่าปกติ
- การกินอาหารมื้อดึกใกล้เวลาเข้านอนทำให้ร่างกายต้องใช้เวลาย่อยอาหาร ซึ่งอาจรบกวนการนอนตอนกลางคืน นอกจากนี้การกินอาหารเสร็จแล้วนอนทันทีอาจทำให้เป็นกรดไหลย้อนได้อีกด้วย
นอนไม่หลับจากโรค
- มีโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจ เช่น การหยุดหายใจขณะหลับ มีอาการนอนกรน หรือร่างกายกระตุกขณะหลับ
- โรคนอนไม่หลับอาจมีสาเหตุเกิดจากภาวะทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ รวมไปถึงการเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ร่างกายไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้นาน ทำให้รบกวนการนอน ต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ
- ความเครียดสะสมหรืออาการวิตกกังวลนับเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้นอนไม่หลับได้
- มีภาวะซึมเศร้าหรือเป็นไบโพลาร์มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคนอนไม่หลับ
นอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจเราอย่างไรบ้าง?
แน่นอนว่าการนอนไม่หลับย่อมส่งผลต่อสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ แต่จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการในแต่ละบุคคล เรามาดูกันว่าอาการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเราอย่างไรกันบ้าง
ผลกระทบทางสุขภาพกาย
- นอนไม่หลับส่งผลให้ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้าลง
- อาการง่วงแต่นอนไม่หลับอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ช้าลง ตลอดจนส่งผลให้มีความจำสั้น ไม่มีสมาธิ
- กระตุ้นให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ หอบหืด หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำลง
- ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ อาจมีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย และปวดหัวร่วมด้วย
ผลกระทบทางสุขภาพจิต
- การนอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อย ๆ สมองอาจหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโซลออกมา ทำให้เครียดหรือความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น
- เกิดอารมณ์แปรปรวน รู้สึกหงุดหงิดง่าย เนื่องจากสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ทำงานผิดปกติ เมื่อนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
- อาการนอนไม่หลับเรื้อรังมีโอกาสทำให้เป็นโรคซึมเศร้าสูง
นอนไม่หลับแก้ไขอย่างไรดี ให้ห่างไกลจากโรค
นอนไม่หลับมีวิธีแก้ยังไงได้บ้าง? ในหัวข้อนี้เราจะมาแนะนำวิธีทําให้นอนหลับที่สามารถทำตามได้ง่าย ๆ ใช้อุปกรณ์ไม่กี่ชิ้น ช่วยให้หลับสนิทขึ้นได้แน่นอน
- หากิจกรรมให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายก่อนนอน เช่น เปิดดนตรีคลอเบา ๆ หรือดื่มนมอุ่น เป็นวิธีนอนให้หลับที่ทำตามได้ไม่ยาก
- กำหนดเวลานอนและเวลาตื่นที่แน่นอนในแต่ละวัน โดยทำอย่างต่อเนื่อง
- รีบเข้านอนทันทีเมื่อรู้สึกง่วงนอน
- สวมผ้าปิดตาหรือที่อุดหูเพื่อป้องกันเสียงดังและแสงไฟรบกวนขณะนอนหลับ
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายใน 4 ชั่วโมงก่อนนอน เพราะจะกระตุ้นร่างกายให้นอนหลับยากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มชูกำลังในช่วงบ่ายของวันเป็นต้นไป
- ฝึกการหายใจด้วยการนั่งทำสมาธิก่อนนอนเพื่อลดความวิตกกังวลและสร้างความผ่อนคลาย
นอนไม่หลับแก้ได้! เพียงรู้สาเหตุและทำตามวิธีป้องกันอย่างถูกวิธี!
นอนไม่หลับเป็นอาการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ โดยสาเหตุอาจเกิดได้หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมการนอน, พฤติกรรมการใช้ชีวิต, ความเครียด รวมไปถึงโรคประจำตัว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการรู้สาเหตุนอนไม่หลับจะช่วยให้คุณสามารถแก้ไขปัญหาการนอนได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ทั้งนี้ หากมีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง แม้ทำตามวิธีที่เราแนะนำแล้วแต่ยังไม่ได้ผล แนะนำให้เข้ารับการปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อประเมินหาสาเหตุและแนวทางการรักษาทางการแพทย์ที่เหมาะสมต่อไป