10 ขนมหวานไทยยอดนิยม [ทำง่ายๆ ได้ที่บ้าน]
ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย “ขนมหวานไทย” ก็ยังคงยอดนิยมกันจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยรสชาติอร่อยที่ถูกสร้างสรรค์ให้ออกมาถูกปากถูกใจคนไทย และขนมหวานไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องหน้าตาที่สวยงามชวนน่ารับประทานอีกด้วย
นอกจากรสชาติที่อร่อย และหน้าตาน่ารับประทานแล้ว ขนมหวานไทยยังผ่านการพลิกแพลงทั้งนำ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ มาประยุกต์เป็นขนมหวานรสชาติอร่อย โดยยังใส่ความสร้างสรรค์ให้กับหน้าตาของขนมหวานไทยได้อย่างไม่จำกัดอีกด้วย
วันนี้เราจึงรวบรวม 10 ขนมหวานไทยยอดนิยมที่คุณเองก็สามารถทำเองได้ที่บ้านมาฝาก! ถ้าคุณเป็นคนนึงที่ชื่นชอบขนมไทยแล้วล่ะก็ห้ามพลาด มาอ่านแล้วตามหาเมนูโปรดของคุณเลย
10 ขนมหวานไทยยอดนิยม ทำได้ง่ายจากที่บ้าน
เรามักจะคิดว่า “เมนูขนมหวานไทย” มักจะทำยาก มีขั้นตอนที่เยอะแยะมากมาย ใช้ส่วนผสมหลายอย่าง และใช้เวลาทำเยอะ แต่จริงๆ แล้วก็มีขนมไทยบางเมนูที่สามารถทำได้ง่าย ทำเองได้ที่บ้าน
เพียงแต่ต้องอาศัยความใส่ใจและความตั้งใจในการทำลงไป ขนมไทยก็จะออกมามีหน้าตาสวยงามเหมือนในภาพ มีกลิ่นหอมหวนชวนรับประทาน และยังมีรสชาติที่อร่อยอีกด้วย
มาดูกันเลยว่ามีเมนูขนมไทยยอดนิยมอะไรบ้างที่เราสามารถทำได้เองจากที่บ้าน
1. ลูกชุบ
ลูกชุบขนมไทยที่ว่ากันว่าถูกประยุกต์มาจากขนมของโปรตุเกสตั้งแต่ในสมัยอยุธยาเพื่อให้ใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในเมืองไทย และมีการนำมาปรับให้รสชาติถูกปากคนไทยด้วย โดยนอกจากจะเป็นขนมที่มีมายาวนานแล้ว ยังเป็นขนมรสชาติอร่อยที่มีหน้าตาสวยงาม และสร้างสรรค์หน้าตาของลูกชุบได้หลายแบบ ไม่ใช่แค่รูปผักผลไม้ธรรมดาๆ เพราะสมัยนี้ลูกชุบกลายเป็นขนมหวานไทยสุดล้ำที่จะปั้นเป็นรูปอะไรก็ได้แล้ว!
เห็นหน้าตาสวยงามน่าทานแบบนี้บอกเลยว่าทำได้ง่ายสุดๆ โดยเฉพาะหากใครมีฝีมือในด้านศิลปะแล้วล่ะก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพราะมีวัตถุดิบเพียงแค่ ถั่วกวน, ผงวุ้น, น้ำตาลทราย, สีผสมอาหาร และน้ำเปล่า เพียงเท่านี้คุณก็ทำลูกชุบง่ายๆ ที่บ้านได้แล้ว
เตรียมส่วนผสมลูกชุบ
ส่วนผสมสำหรับทำไส้ถั่วกวน
- ถั่วเขียวเลาะเปลือก 1 + ½ ถ้วยตวง
- น้ำตาลทราย ½ ถ้วยตวง
- กะทิ
- เกลือ ¼ ช้อนชา
ส่วนผสมวุ้นสำหรับชุบ
- ผงวุ้น
- น้ำเปล่า
- น้ำตาลทราย ½ ถ้วยตวง
- สีผสมอาหาร
- กลิ่นมะลิ ½ ช้อนชา
ขั้นตอนการทำลูกชุบ
การทำไส้ถั่วกวน
- นำถั่วเขียวเลาะเปลือกล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ จนกว่าสีของน้ำจากสีเหลืองอ่อน จะเปลี่ยนเป็นสีใสสะอาด หลังจากนั้นจึงแช่ถั่วเขียวเลาะเปลือกกับน้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง ให้ถั่วเขียวพองตัวอิ่มน้ำจนนิ่ม แล้วจึงนำไปล้างให้สะอาดอีกครั้ง
- นำถั่วเขียวที่แช่เสร็จแล้วใส่ในหม้อนึ่ง นึ่งนานประมาณ 15-20 นาที ด้วยไฟกลางจนกระทั่งถั่วเขียวสุก
- นำถั่วเขียวนึ่งสุกที่นิ่มแล้วลงใส่ในโถปั่น โดยแบ่งการปั่นทีละน้อย เพื่อเพิ่มความชัวร์ว่าถั่วกวนของเราจะละเอียดมากพอก็ได้
- ใส่น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง ตามด้วยเกลือป่น 1/4 ช้อนชา หัวกะทิ 1/2 ถ้วยตวง และจึงปั่นส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันอย่างละเอียด
- เทส่วนผสมทั้งหมดลงในกะทะด้วยไฟอ่อนๆ และค่อยๆ กวนไส้ไปเรื่อยๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง จนได้ไส้ถั่วกวนแห้ง และเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงนำออกจากกระทะ ใช้ไม้พายยีๆ ตัวไส้ถั่วกวนเพื่อให้ไส้ระบายความร้อนได้เร็วขึ้น หรือพักทิ้งไว้ให้จนไส้ถั่วกวนเย็นลง
การทำวุ้นสำหรับชุบ
- มาเริ่มทำตัววุ้นสำหรับใช้ชุบ ด้วยการใส่ผงวุ้น 2 ช้อนชา ลงแช่ในน้ำเปล่าประมาณ 10 นาที ให้วุ้นอิ่มน้ำ
- เติมน้ำเปล่าประมาณ 2 ถ้วยตวง ลงในหม้อต้มน้ำ ตามด้วยผงวุ้นที่แช่ทิ้งเอาไว้ประมาณ 1 ถ้วยตวง และใส่น้ำตาลทราย 1/ 2 ถ้วยตวงตามลงไป แล้วจึงเคี่ยวส่วนผสมให้เข้ากันด้วยไฟกลาง ประมาณ 15 นาที เพื่อให้วุ้นจมลงไป และคนเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้วุ้นจับตัวเป็นก้อน
- เมื่อน้ำเดือดจึงคนต่ออีกประมาณ 2-3 นาที จากนั้นค่อยปิดไฟ ยกลงใส่ภาชนะ และพักวุ้นทิ้งไว้สักประมาณ 5 นาที เพื่อให้วุ้นเซ็ตตัว
- เตรียมสีผสมอาหารตามใจชอบ แนะนำให้ใช้สีผสมอาหาร 1 ฝาต่อน้ำ 2 ช้อนโต๊ะ หรือสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความชอบเข้มอ่อนของสี
- เริ่มปั้นลูกชุบ โดยแบ่งลูกชุบเป็นก้อนๆ ปั้นให้เกิดรูปได้ตามต้องการ หลังจากปั้นเสร็จแล้ว ให้นำลูกชุบรูปทรงต่างๆ เสียบกับไม้ปลายแหลม โดยเสียบแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นแค่ปลายไม้
- หลังจากนั้นนำลูกชุบไปชุบกับสีผสมอาหารที่เตรียมเอาไว้ สามารถใช้พู่กันทำให้เกิดลวดลายได้ตามใจชอบ พักไว้ให้แห้ง แล้วจึงค่อยเริ่มชุบวุ้น โดยจะชุบทั้งหมด 2 ครั้ง คือชุบครั้งแรกพักทิ้งให้แห้ง แล้วจึงเริ่มชุบครั้งที่ 2 โดยเราจะต้องวางและเสียบลูกชุบแต่ละไม้เว้นระยะ ไม่ให้ติดกัน
- เมื่อชุบวุ้นจนแห้งแล้ว นำลูกชุบมาตกแต่งต่อด้วยอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมความน่ารัก เพียงเท่านี้เราก็จะได้ลูบชุบหน้าตาน่ารับประทานแล้วค่ะ
2. ขนมใส่ไส้
“ขนมใส่ไส้” ขนมที่เวลาทานจะต้องแกะห่อใบตองออกจึงจะพบกับขนมใส่ไส้ที่อยู่ด้านใน โดยมีรสชาติอร่อยเต็มคำไปด้วยความเค็มมันของแป้งและกะทิ บวกกับรสชาติหวานของไส้มะพร้าวขูดที่ปรุงรสชาติอย่างเข้มข้น หยิบมาทานตอนไหนก็อร่อยไม่มีเบื่อ
วิธีทำขนมใส่ไส้
ส่วนผสมสำหรับ 15 ห่อ
- น้ำตาลปี๊ป 100 กรัม
- แป้งข้าวเหนียว 175 กรัม
- น้ำใบเตยปั่นละเอียด 150 มิลลิลิตร
- กะทิ 400 มิลลิลิตร
- แป้งข้าวเจ้า 40 กรัม
- เกลือป่น ½ ช้อนชา สำหรับใส่ในไส้
- เกลือป่น ½ ช้อนชา สำหรับใส่ในกะทิ
- มะพร้าวขูด
- กลิ่นมะลิ ½ ช้อนชา
- ใบตองสำหรับห่อขนม
- ไม้สำหรับกลัด หรือไม้จิ้มฟัน
ขั้นตอนการทำขนมใส่ไส้
- นำใบตองสำหรับห่อมาตัดแบ่ง โดยจะแบ่งตัดเป็น 2 ขนาด สำหรับใช้ห่อชั้นใน และชั้นนอก โดยให้ฉีกใบตองชั้นนอกขนาดประมาณ 5 นิ้ว และสำหรับชั้นในขนาดประมาณ 4 นิ้ว และตัดทรงให้เป็นรูปวงรี เพื่อให้สามารถห่อได้ง่ายขึ้น พร้อมกับเช็ดใบตองให้สะอาดเตรียมพร้อมสำหรับห่อขนม
- นำมะพร้าวที่ขูดแล้วมาใส่เกลือป่น พร้อมน้ำตาลปี๊บแล้วนำขึ้นตั้งไฟอ่อน พร้อมกวนส่วนผสมทั้งหมดไปเรื่อยๆ ประมาณ 15 นาที จนส่วนผสมเริ่มแห้งจึงปิดไฟแล้วพักทิ้งไว้ให้เย็น
- นำแป้งข้าวเหนียวและน้ำใบเตยมาผสมเข้าด้วยกัน พร้อมกับนวดจนแป้งเริ่มจับตัวเป็นก้อน จากนั้นพักทิ้งไว้และคลุมด้วยพลาสติก
- ตั้งไฟนำกะทิ 100 มิลลิลิตร เทผสมกับแป้งข้าวเจ้า เกลือป่น และใส่กลิ่นมะลิเพิ่มความหอม คนให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันจนแป้งจับตัวเป็นเม็ด แล้วจึงใส่กระทิ 300 มิลลิลิตรที่เหลือ คนต่อไปเรื่อยๆ ด้วยไฟอ่อนๆ จนกะทิข้นขึ้นจึงปิดไฟ และพักทิ้งไว้ให้เย็น
- นำตัวไส้ที่เย็นแล้วมาปั้นให้เป็นก้อนกลมๆ ขนาดประมาณ 1 นิ้ว และปั้นตัวแป้งให้เป็นก้อนกลมๆ แต่ต้องมีขนาดใหญ่กว่าตัวไส้ หลังจากนั้นจึงแผ่ตัวแป้งออก พร้อมกับวางตัวไส้ลงตรงกลางแป้ง พร้อมกับห่อตัวแป้งให้มิดไส้
- นำใบตองทั้งชั้นนอก และชั้นในมาประกบกัน แล้วจึงนำขนมที่ปั้นไว้วางบนใบตอง พร้อมราดด้วยน้ำกะทิประมาณ ½ ช้อนโต๊ะ แล้วจึงพับใบตองให้เป็นทรงสูง ก่อนจะคาดทับด้วยใบมะพร้าว และใช้ไม้กลัดตัวขนมไว้ไม่ให้หลุด
- ตั้งหม้อนึ่ง นำขนมไปนึ่งในน้ำที่เดือดจัดนานประมาณ 20 นาที (หากลองเช็คแล้วยังไม่สุกดีให้นึ่งต่อได้) เมื่อครบเวลาแล้วพร้อมจัดเสิร์ฟ
3. ขนมชั้น
“ขนมชั้น” อีกหนึ่งในเมนูขนมหวานไทยยอดนิยม ด้วยหน้าตาที่เป็นชั้นๆ ดูหนึบหนับน่าทาน มีรสชาติหวาน เนื้อเหนียวนุ่ม และหอมกลิ่นใบเตย เป็นอีกหนึ่งเมนูขนมหวานที่สามารถทำได้เองจากที่บ้าน และปรับเปลี่ยนรสชาติได้หลากหลายเลยล่ะ
วิธีทำขนมชั้น
ส่วนผสมขนมชั้นสำหรับเสิร์ฟ 4 คน
- แป้งมัน 320 กรัม
- แป้งข้าวโพด 80 กรัม
- แป้งข้าวเจ้า 80 กรัม
- แป้งท้าวยายม่อม 40 กรัม
- น้ำตาลทรายขาว 550 กรัม
- กะทิ 3 ถ้วย
- น้ำเปล่า 1 ถ้วย
- สีผสมอาหาร (สีเขียว, สีฟ้า หรือสีตามใจชอบ)
วิธีทำขนมชั้น
- นำแป้งทั้งหมดมาผสมเข้าด้วยกันและพักทิ้งไว้
- นำน้ำเปล่าขึ้นตั้งไฟกลาง แล้วจึงใส่น้ำตาลตามลงไป เคี่ยวไปเรื่อยๆ และเมื่อน้ำตาลละลายดีจนกลายเป็นน้ำเชื่อมแล้วให้ยกลงจากเตา และพักทิ้งไว้ให้เย็น
- เมื่อน้ำเชื่อมเย็นตัวลงแล้วให้ใส่กะทิ พร้อมคนให้เข้ากัน
- นำกะทิและน้ำเชื่อมไปเทผสมกับแป้งทั้งหมดที่เตรียมเอาไว้ โดยค่อยๆ เททีละนิดพร้อมขยำให้แป้งเข้ากันดี
- หลังจากนั้นแบ่งแป้งออกเป็น 2 ส่วน แล้วนำส่วนที่ 1 ใส่สีผสมอาหารลงไป สามารถใช้ทั้งสีฟ้า เขียว หรือสีตามใจชอบ
- หลังจากนั้นเตรียมนึ่งโดยนำถาดพิมพ์มาเตรียมเอาไว้ แล้วเทแป้งส่วนที่ 1 ที่ใส่สีผสมอาหารแล้วลงไปก่อน เทให้มีความหนาประมาณ 2 มล. แล้วนำไปนึ่งประมาณ 10 นาที
- เมื่อนึ่งส่วนที่ 1 เสร็จแล้ว ให้เทแป้งสีที่ 2 ตามลงไปทับบนหน้าด้วยความหนา 2 มล. แล้วจึงทำแบบนี้สลับชั้นกันไปเรื่อยๆ
- เมื่อทำครบจนได้หลายแล้ว พักทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำออกมาตัดเป็นชิ้นๆ ก่อนเสิร์ฟ
4. ขนมตาล
“ขนมตาล” เมนูขนมหวานไทยที่มีสีสันสวยสดใสชวนรับประทาน เสิร์ฟพร้อมกับมะพร้าวโรยหน้าแล้วล่ะก็บอกเลยว่ารสชาติ และกลิ่นหอมคือที่สุด! และความอร่อย กับกลิ่นหอมนี้ก็ทำตามกันเองได้ที่บ้านไม่อยากเลยค่ะ
วิธีทำขนมตาล
ส่วนผสมขนมตาล 20 ชิ้น
- เนื้อลูกตาลสุก 200 กรัม
- แป้งข้าวเจ้า 350 กรัม
- น้ำตาลทราย 320 กรัม
- กะทิ 300 มิลลิลิตร
- เกลือ ½ ช้อนชา
- ผงฟู 1 ช้อนชา
- มะพร้าวขูด
วิธีทำขนมตาล
- นำใบตองมาพับเป็นทรงกลมแบบถ้วยสำหรับเป็นพิมพ์ใส่ขนม
- ใส่กะทิ และน้ำตาลลงในชามผสม คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน จนน้ำตาลละลายหมดจึงใส่เนื้อลูกตาลสุกลงไป พร้อมตีให้เข้ากัน
- หลังจากนั้นจึงใส่แป้งข้าวเจ้า ผงฟู และเกลือตามลงไป พร้อมกับตีผสมให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน
- นำส่วนผสมทั้งหมดมากรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อให้ได้เนื้อแป้งเนียนละเอียด แนะนำให้กรองประมาณ 2-3 รอบ แล้วจึงพักแป้งทิ้งไว้ 10 นาที
- ระหว่างพักแป้งให้นำใบตองนึ่งก่อนประมาณ 1 นาที เพื่อไม่ให้แป้งติดใบตอง
- หลังจากนั้นเทแป้งลงในพิมพ์ใบตอง ใช้เวลานึ่งประมาณ 20 นาที
- เมื่อสุกแล้วนำยกลงจากเตา ใส่มะพร้าวขูดโรยหน้า พร้อมจัดเสิร์ฟได้เลย
5. สังขยาฟักทอง
ขนมหวานไทยที่นำเอาฟักทองมาใส่สังขยา กลายเป็นส่วนผสมความอร่อยที่ลงตัวและเข้ากันมากๆ เพราะตัวฟักทองที่เมื่อนำไปนึ่งก็จะมีเนื้อนิ่มทานง่าย รวมกับกับสังขยาที่มีกลิ่นหอมและรสชาติที่หวานละมุน โดยมีวิธีทำและขั้นตอนที่ไม่ยาก ถ้าพร้อมแล้วมาเตรียมอุปกรณ์แล้วลงมือทำกันเลย
วิธีทำสังขยาฟักทอง
ส่วนผสมสำหรับสังขยาฟักทอง 1 ลูก
- ฟักทอง 1 ลูก
- กะทิ 200 มล.
- ไข่ไก่ 2 ฟอง
- ไข่เป็ด 2 ฟอง
- น้ำตาลปี๊บ 180 กรัม
- เกลือ 1 ช้อนชา
- ใบเตย
ขั้นตอนการทำสังขยาฟักทอง
- นำฟักทองคว้านฝาและคว้านเมล็ดออกให้เรียบร้อย โดยให้เหลือเพียงแต่ใยด้านในให้เก็บเอาไว้ เพื่อช่วยยึดตัวสังขยาไม่ให้หลุดออกเวลานำไปนึ่ง แล้วจึงนำฟักทองไปทำความสะอาดด้านใน และด้านนอกให้สะอาด พักทิ้งไว้ให้ฟักทองแห้งจึงค่อยนำมาทำต่อ
- ใส่ไข่ไก่ และไข่เป็ดลงในชามผสม ตามด้วยกะทิ น้ำตาลปี๊บ และใบเตย หลังจากนั้นใช้วิธีการขยำส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน เมื่อเริ่มเข้ากันแล้วเพื่อให้ได้สังขยาที่เนื้อเนียน ให้กรองส่วนผสมด้วยผ้าขาวบาง หรือกระชอนตาถี่ก่อนใส่ลงในฟักทอง โดยควรกรองมากกว่า 1 ครั้งเพื่อให้ได้เนื้อสังขยาที่เนื้อเนียนจริงๆ
- เทสังขยาลงในฟักทอง โดยเหลือบริเวณด้านบนไว้เล็กน้อย เพื่อไม่ให้สังขยาล้นฟักทองเมื่อนำไปนึ่ง ขณะเทหากมีฟองให้ตักออกให้หมด
- นำฟักทองสังขยาไปนึ่งประมาณ 45 นาที วิธีเช็คว่าสังขยาสุกดีแล้วหรือยัง ให้ใช้ไม้จิ้มปลายแหลมจิ้มลงไปเช็คที่สังขยา ถ้าหากไม่มีเนื้อสังขยาติดขึ้นมาตามไม้จิ้มแสดงว่าเนื้อสังขยาสุกดีแล้ว
- เมื่อฟักทองสังขยาสุกแล้ว นำออกจากซึ้งมาพักทิ้งไว้ให้ฟักทองสังขยาเซ็ตตัว และนำมาตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ก่อนจัดเสิร์ฟ
6. ขนมตะโก้
ขนมตะโก้เมนูขนมหวานไทยที่มีรสชาติครบเครื่องทั้งหอมหวานมันอร่อย เรียกได้ว่ากลมกล่อมครบจบในขนมเดียวเลย โดยขนมตะโก้เองปัจจุบันก็มีให้เลือกหลายไส้ ทั้งตะโก้ข้าวโพดยอดฮิต หรือตะโก้เผือก ที่ไม่ว่าจะเป็นตะโก้แบบไหนก็เป็นขนมหวานไทยยอดนิยมของคนทุกรุ่น ความอร่อยของขนมตะโก้นอกจากชั้นไส้แล้วยังอยู่ที่กะทิที่ทั้งหอมมันเค็มช่างตัดกับความหวานของตัวไส้ ใครที่อยากลองทำดูบ้าง ต้องบอกเลยว่าการทำตะโก้ไม่ยากเกินที่จะทำเองที่บ้านอย่างแน่นอน
วิธีทำขนมตะโก้
ส่วนผสมตัวแป้งขนมตะโก้ สำหรับเสิร์ฟ 5 ที่
- แป้งมัน 80 กรัม
- น้ำเปล่า 500 มิลลิลิตร
- กะทิ 500 มิลลิลิตร
- น้ำตาลทราย 100 กรัม
- เกลือ ¼ ช้อนชา
- ข้าวโพด 100 กรัม (หรือเผือก ตามใจชอบ)
- ใบเตย 1 ใบ
- ใบตองสำหรับใส่ขนม
ส่วนผสมหน้าขนมตะโก้ สำหรับเสิร์ฟ 5 ที่
- แป้งมัน 80 กรัม
- เกลือ ½ ช้อนชา
- น้ำตาลทราย 50 กรัม
ขั้นตอนการทำขนมตะโก้
- นำน้ำเปล่าเทใส่หม้อขึ้นตั้งไฟ ก่อนจะใส่ข้าวโพด แป้งมัน น้ำตาลทราย และเกลือ เคี่ยวต่อไปเรื่อยๆ จนแป้งเริ่มเหนียวข้นขึ้น จึงปิดไฟยกลงจากเตา
- เทขนมใส่ใบตองสะอาดที่เตรียมเอาไว้ โดยใส่แค่ ⅔ ของใบตอง แล้วจึงพักทิ้งไว้ให้เย็นตัวลง
- ระหว่างพักแป้งให้ใส่กะทินำขึ้นตั้งไฟกลาง แล้วจึงใส่แป้งมัน น้ำตาลทราย ใบเตย คนทั้งหมดให้เข้ากันจนแป้งเริ่มเหนียวข้นขึ้น จึงปิดไฟยกลงจากเตา
- ตักกะทิราดลงบนหน้าชั้นแป้งที่เซ็ตตัวแล้วจนเต็มกระทง แล้วจึงพักทิ้งไว้ให้เย็นตัวลง ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบทุกชิ้น
- นำข้าวโพดต้มสุก เผือก หรือหน้าอื่นๆ ตามแต่ชอบโรยหน้าตกแต่งหน้าตะโก้ พร้อมนำเสิร์ฟได้
7. ฝอยทอง
อีกหนึ่งเมนูขนมหวานที่ได้สีเหลืองทองสวยจากไข่แดง โดยเคล็ดลับของความอร่อยของฝอยทองคือจะต้องม้วนตัวให้เรียงเป็นเส้นสวย ดังนั้นขั้นตอนในการทำฝอยทองจะต้องมีความพิถีพิถัน แต่แน่นอนว่า! ความพิถีพิถันนี้ไม่ยากแน่นอน เพราะถ้าได้ลองทำแล้วรับรองว่าจะได้พบกับความอร่อยหวานฉ่ำที่ฟินแน่นอน
วิธีทำฝอยทอง
ส่วนผสมฝอยทอง
- ไข่แดงของไข่เป็ด 6 ฟอง
- ไข่แดงของไข่ไก่ 3 ฟอง
- น้ำเปล่า 1 ลิตร
- น้ำตาลทราย 1 กก.
- กลิ่นมะลิ
- ไม้ปลายแหลม
ขั้นตอนการทำฝอยทอง
- แยกไข่ขาว และไข่แดงออกจากกันทั้งไข่เป็ดและไข่ไก่ โดยกรองไข่แดงทั้งหมดด้วยผ้าขาวบาง ให้ได้ไข่แดงที่ละเอียด เพื่อฝอยทองที่เส้นสวย แนะนำให้กรอง 2-3 ครั้ง
- นำหม้อใส่น้ำเปล่า และนำขึ้นตั้งไฟโดยใช้ไฟกลาง แล้วจึงใส่น้ำตาล กลิ่นมะลิ คนไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลละลายเริ่มละลายจึงใช้ไฟอ่อน
- คนไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลเริ่มมีความข้นเป็นน้ำเชื่อม และเมื่อน้ำเชื่อมในกะทะมีลักษณะเป็นน้ำพุ ให้ใช้กรวยโรยไข่แดงลงไป ให้เป็นวงกลม โดยหากโรยสูงจะได้ฝอยทองเส้นเล็ก แต่หากโรยแบบต่ำจะได้ฝอยทองเส้นใหญ่ ให้โรยวนไปเรื่อยๆ ซ้ำทางเดิมประมาณ 20 รอบ
- จากนั้นให้ใช้ไม้ปลายแหลมเกี่ยวเส้นไข่ที่สุกแล้วไปนำไปวนในน้ำเชื่อม พร้อมกับนำเส้นฝอยทองมาพักบนตระแกรงให้สะเด็ดน้ำเชื่อมออก
- นำฝอยทองที่ได้มาม้วนให้เป็นก้อนพอดีคำ พร้อมจัดเสิร์ฟ
8. เปียกปูนใบเตย
“ขนมเปียกปูนใบเตย” หนึ่งในเมนูขนมหวานไทยที่มีรสสัมผัสนุ่มละมุนลิ้น เพราะด้วยตัวแป้งที่เหนียวนุ่ม เมื่อเคี้ยวจะให้สัมผัสที่แปลกใหม่ไม่เหมือนขนมไทยชนิดอื่นๆ มาพร้อมกับรสชาติหวานมันจากกะทิ และหอมกรุ่นไปด้วยกลิ่นของใบเตยที่ช่วยเพิ่มความน่ารับประทานให้เปียกปูนใบเตยมากขึ้นไปอีก ถ้าถามถึงระดับความยากง่ายในการทำเองที่บ้าน เชื่อว่าขนมเปียกปูนใบเตยจะต้องเป็นหนึ่งในขนมหวานไทยที่ทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองที่บ้านแน่นอน
วิธีทำขนมเปียกปูนใบเตย
ส่วนผสมขนมเปียกปูน สำหรับเสิร์ฟ 5 ที่
- แป้งข้าวเจ้า 240 กรัม
- แป้งมันสำปะหลัง 60 กรัม
- น้ำปูนใส 600 มิลลิลิตร
- น้ำใบเตยคั้น 480 มิลลิลิตร
- น้ำตาลมะพร้าว 120 กรัม
- น้ำตาลทรายขาว 60 กรัม
- เกลือ ¼ ช้อนชา
- กะทิ 500 มิลลิลิตร
- แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนชา
- งาขาวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ
ขั้นตอนการทำขนมเปียกปูน
- นำแป้งข้าวเจ้า และแป้งมันร่อนผสมกัน แล้วจึงใส่น้ำปูนใสลงไปผสมกับแป้ง
- หลังจากนั้นใส่น้ำใบเตยปริมาณ 220 มิลลิลิตร น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลทราย กะทิ และเกลือตามลงไป คนจนน้ำตาลละลายดี
- นำส่วนผสมที่ได้กรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อให้ได้แป้งที่เนียนละเอียด
- นำส่วนผสมใส่ในกะทะ แล้วนำขึ้นตั้งไฟอ่อน แล้วจึงเคี่ยวไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้แป้งติดกะทะ และจับตัวกันเป็นก้อน เมื่อรู้สึกว่าแป้งเริ่มเหนียวหนืดขึ้น และแป้งเริ่มมีสีเงามันวาว ให้ปิดเตา
- นำแป้งที่ได้เทใส่แม่พิมพ์ที่ทาน้ำมันไว้แล้วเพื่อไม่ให้แป้งติดพิมพ์ เกลี่ยให้หน้าแป้งสวยเนียนเท่ากัน แล้วจึงพักทิ้งไว้รอให้ขนมเปียกปูนเซ็ตตัว
- เมื่อขนมเปียกปูนเซ็ตตัวเย็นลงแล้ว ก่อนนำเสิร์ฟให้โรยด้วยงาขาวคั่ว พร้อมรับประทาน
9. ขนมน้ำดอกไม้
เมนูขนมหวานไทย “ขนมน้ำดอกไม้” ที่แค่เห็นชื่อก็ได้กลิ่นหอมดอกไม้สมชื่อขนมแล้ว! โดยนอกจากกลิ่นที่หอมหวานชวนรับประทานแล้ว ขนมน้ำดอกไม้ยังทำมาจากน้ำของดอกไม้ชนิดต่างๆ ที่ให้สีสันสวยสดใสโทนพาสเทลที่น่ารักอีกด้วย
ขนมน้ำดอกไม้นั้นทำได้ง่ายกว่าที่คิด เพราะจริงๆ แล้วส่วนผสมของขนมน้ำดอกไม้จะมีแค่แป้งเป็นหลัก กับน้ำลอยดอกมะลิเพิ่มกลิ่นหอมที่โดดเด่นเป็นลักษณ์ เรียกได้ว่าเป็นเมนูที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดเลย
วิธีทำขนมน้ำดอกไม้
ส่วนผสมขนมน้ำดอกไม้ สำหรับเสิร์ฟ 5 ที่
- แป้งข้าวเจ้า 240 กรัม
- แป้งมัน 15 กรัม
- น้ำลอยดอกมะลิ หรือน้ำเปล่าใส่กลิ่นมะลิ 450 มิลลิตลิตร
- น้ำตาลทราย 120 กรัม
- น้ำกระเจี๊ยบ 60 มิลลิตร
- น้ำอัญชัน 60 มิลลิตร
- น้ำใบเตย 60 มิลลิตร
วิธีทำขนมน้ำดอกไม้
- นำแป้งข้าวเจ้า และแป้งมันร่อนผสมให้เข้ากัน
- เตรียมน้ำลอยดอกมะลิ แล้วจึงใส่น้ำตาลทรายลงไป คนไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลทรายละลายหมดจนกลายเป็นน้ำเชื่อม
- นำน้ำเชื่อมที่ได้เทใส่ลงในแป้ง ค่อยๆ คนให้เข้ากันดี จนแป้งไม่เป็นเม็ด แล้วจึงแบ่งแป้งออกเป็น 3 ส่วนเพื่อทำเป็น 3 สี จากนั้นใส่สีจากน้ำสมุนไพรต่างๆ ทั้ง 3 สีที่เตรียมเอาไว้ลงในแป้ง (สามารถปรับเปลี่ยนสีได้ตามใจชอบ) คนให้สีกับแป้งเข้ากันดี แล้วจึงพักทิ้งไว้
- เตรียมนึ่ง โดยให้นำถ้วยตะไลเปล่าไปนึ่งให้ร้อนก่อนใส่แป้ง ประมาณ 5 นาที เพื่อให้แป้งไม่ติดถ้วย และเพื่อให้ตัวแป้งหน้าบุ๋ม
- ใส่แป้งลงในถ้วยตะไล โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที เมื่อครบเวลา หรือขนมสุกดีแล้ว ให้นำถ้วยตะไลแช่ไว้ในน้ำเย็น และเมื่อถ้วยเย็นจึงค่อยแคะขนมน้ำดอกไม้ออก พร้อมนำจัดเสิร์ฟ
10. ขนมต้ม
“ขนมต้ม” ที่เป็นขนมหวานไทยที่มีสีสดใส ก้อนกลม ด้านในเป็นไส้มะพร้าวรสหวาน และนำไปคลุกกับคลุกกับมะพร้าวขูดอีกรอบ ทำให้มีน่าตาที่น่าทานยิ่งขึ้น มีรสหวาน กลิ่นหอม และเนื้อแน่น เต็มไปด้วยมะพร้าว โดยถือเป็นหนึ่งในขนมหวานไทยที่ทำได้ไม่ยาก ด้วยวัตถุดิบที่น้อย อีกทั้งยังทำได้เองจากที่บ้านด้วย
วิธีทำขนมต้ม
ส่วนผสมทำไส้ขนมต้มสำหรับ 4 เสิร์ฟ
- มะพร้าวทึนทึกขูด 300 กรัม
- น้ำตาลปี๊บ 200 กรัม
- น้ำลอยดอกมะลิ หรือน้ำเปล่า
ส่วนผสมแป้งขนมต้มสำหรับ 4 เสิร์ฟ
- แป้งข้าวเหนียว 300 กรัม
- น้ำใบเตย 80 มล.
ส่วนผสมคลุกหน้าขนมต้มสำหรับ 4 เสิร์ฟ
- มะพร้าวขูด 100 กรัม
- เกลือป่น ½ ช้อนชา
ขั้นตอนการทำขนมต้ม
- นำน้ำลอยดอกมะลิ หรือหากไม่มีสามารถใช้น้ำเปล่าได้ขึ้นตั้งไฟกลาง แล้วจึงใส่น้ำตาลปี๊บ และมะพร้าวขูด เมื่อน้ำตาลปี๊บละลายหมดให้ใช้ไฟอ่อน และผัดไปเรื่อยๆ จนไส้เริ่มแห้งจึงปิดเตา และพักทิ้งไว้ให้ไส้เย็นลง
- เมื่อไส้เย็นลงแล้ว นำมาปั้นเป็นก้อนกลมขนาดประมาณ 1 นิ้ว แล้วจึงพักทิ้งไว้
- นำแป้งข้าวเหนียว แล้วทยอยใส่น้ำใบเตย แล้วค่อยๆ นวดจนเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อเริ่มเข้าเนื้อให้เติมน้ำใบเตยเข้าไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นนำผ้าขาวบาง หรือพลาสติกมาคลุมแป้งและพักแป้งทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที
- สำหรับการทำมะพร้าวคลุกขนม ให้นำมะพร้าวที่ขูดไว้แล้วไปนึ่งให้สุก แล้วนำมาคลุกกับเกลือ
- หลังจากนั้นตั้งกะทะด้วยไฟกลาง ใส่น้ำเปล่า เมื่อน้ำเดือดให้แบ่งแป้งมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ แล้วจึงแผ่แป้งออกเป็นแผ่นบางๆ ใส่ไส้ที่เราเตรียมเอาไว้ลงตรงกลาง ให้ตัวแป้งหุ้มตัวไส้ให้มิด แล้วจึงปั้นตัวแป้งที่มีไส้แล้วเป็นก้อนกลมอีกครั้ง
- ใส่แป้งลงไปในกะทะที่น้ำเดือด รอจนตัวแป้งลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ แล้วจึงช้อนขึ้นมาสะเด็ดน้ำออกจากแป้ง แล้วจึงนำแป้งที่ได้ไปคลุกกับมะพร้าวขูดผสมเกลือที่เตรียมเอาไว้
- ทำต่อแบบนี้จนครบทุกลูก ขนมต้มไส้มะพร้าวก็พร้อมกับนำเสิร์ฟได้เลย
สรุปท้ายบทความ
นี่คือ 10 เมนูขนมหวานไทยยอดนิยมที่มีรสชาติอร่อยถูกปากคนไทย ทั้งความหวาน มัน เค็ม ละมุน ที่กลมกล่อม รวมถึงการใช้วัตถุดิบพื้นบ้านแบบไทยๆ มาประยุกต์ให้เป็นขนมหวานอีกด้วย
ใครที่อยากลองทำขนมไทยเองที่บ้านแบบง่ายๆ ลองเลือกหยิบเมนูที่คุณสนใจหรือชื่นชอบ ไปลองทำตามกันได้เลยค่ะ สำหรับมือใหม่ในบางเมนูอาจจะดูยุ่งยากไปสักหน่อย แต่ถ้าลองทำด้วยความตั้งใจและใส่ใจ รับรองว่าทำออกมาได้หน้าตาสวยงามรสชาติอร่อยแน่นอน