ข่าวจริง ข้าวเหนียวนึ่งที่อยู่ในกระติกน้ำพลาสติก หากรับประทานจะทำให้อันตราย
ข่าวจริง
ข้าวเหนียวนึ่ง ที่ถูกเก็บในกระติกน้ำพลาสติก หากรับประทานจะทำให้อันตราย
จากที่มีข้อความถูกเผยแพร่อยู่ตามสื่อออนไลน์ต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง " ข้าวเหนียวที่ใส่ไว้ในกระติกน้ำพลาสติก หากรับประทานจะทำให้อันตราย " นั้น
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ไปยัง หน่วยงาน สำนักคุณภาพ และความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ข้อมูลข่าวที่ปรากฏดังกล่าว เป็น " เรื่องจริง " 💚 ค่ะ
กระติกน้ำแข็ง ส่วนใหญ่แล้วจะประกอบด้วยพลาสติก 3 ชั้น
1. ชั้นนอก เป็นพลาสติกแข็งขึ้นรูป อาจจะเสริมโลหะด้วย
2. ชั้นกลาง เป็นฉนวนกันความร้อน มักใช้วัสดุเป็น โฟมโพลิยูริเทน
3. ชั้นในสุด ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกชนิด โพลิเอทิลีน ( PE ) ทนความร้อนได้ 80-100 C
กระติกน้ำแข็ง มีคุณสมบัติในการเก็บความเย็นให้คงอยู่นาน ไม่เหมาะต่อการบรรจุ ของร้อนจัด เช่น น้ำเดือด เพราะอาจจะทำให้พลาสติกอ่อนตัวได้ เสื่อมสภาพเร็วยิ่งขึ้น และอาจมีสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของพลาสติก หลุดลอกออกมาได้ค่ะ
ในปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นโดยทั่วไปว่ามีผู้ขายนำข้าวสุก หรือข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ ซึ่ง คาดว่าอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 70 C – 80 C มาเก็บไว้ในกระติกน้ำแข๋งพลาสติก
ก็อาจมีบางร้านที่ห่อด้วยผ้าขาวบางก่อน 1 ชั้น โอกาสที่จะได้รับสารเคมีที่จะหลุดออกมาไม่มากเท่ากับการสัมผัสกับพลาสติก หรือการบรรจุของเหลวร้อนๆ โดยตรง
แต่ถึงอย่างไรก็อาจไม่ปลอดภัย เพราะจะทำให้พลาสติกเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น
กระติกน้ำแข็ง จะมีฉลากที่มักจะกำหนดอุณหภูมิการใช้งานไว้ว่าสามารถบรรจุของได้ช่วงอุณหภูมิเท่าไรถึงเท่าไร ดังนั้นในการเลือกซื้อให้สังเกตฉลากเป็นสำคัญค่ะ
พลาสติกทุกชนิด ทำมาจากสารเคมี มีการใช้สารเคมีหลายชนิดในขบวนการผลิต ย่อมจะมีสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในเนื้อพลาสติกได้ มากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับขบวนการผลิต และชนิดของวัตถุดิบที่ใช้
ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร มีกฎข้อบังคับเพื่อควบคุมการผลิต คือ วัตถุดิบที่นำไปใช้ในการผลิตต้องได้มาตรฐานมีขบวนการตรวจสอบ และมีการรับรอง
และเมื่อผลิตมาเป็นภาชนะแล้ว ต้องมั่นใจว่าไม่มีการละลายออกมาของสารเคมีอันตรายที่มีอยู่ในพลาสติก ลงมาสู่อาหารที่จะบรรจุ จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอาหาร หรือ มีสารเคมีละลายออกมามากจนเกินระดับปลอดภัย ต่อการบริโภคอาหารนั้น จึงต้องมีหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบความปลอดภัยของภาชนะบรรจุ และสัมผัสอาหารเมื่อนำมาบรรจุอาหาร
พลาสติก ที่นิยมบรรจุอาหารมีหลายประเภท ภัยหรืออันตรายจากพลาสติกมักจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยหลากหลายปัจจัยที่เกี่ยวกับการใช้งาน ได้แก่
1. การใช้งานที่ไม่ถูกต้อง คือ พลาสติกมีความทนทานต่อปัจจัยทางด้านการใช้งานที่ต่างกัน เช่นความร้อน ลักษณะของอาหารที่มีไขมัน หรืออาหารที่เป็นกรด เนื้อพลาสติกซึ่งเป็นสารที่มีโมเลกุลใหญ่ ส่วนใหญ่จะไม่มีผลต่อร่างกายเพราะไม่สามารถดูดซึมได้ง่าย ขณะที่สารเติมแต่งหรือโมโนเมอร์ตกค้าง ซึ่งมีโมเลกุลเล็ก จะมีผลต่อร่างกายมากกว่า อาหารที่มีความเป็นกรดสูง เช่น พริกดองน้ำส้มสายชู ไม่ควรใส่แช่ค้างไว้ในภาชนะพลาสติกนานๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว อาหารประเภทกรดจะสามารถชะสารเคมีต่างๆจากพลาสติกได้มากกว่าอาหารที่มีกรดต่ำ อาหารประเภทไขมัน เช่นน้ำมันพืช หรือน้ำมันสัตว์ต่างๆ ควรบรรจุในภาชนะพลาสติกที่เหมาะสม เช่น ขวด PET เพราะพลาสติกบางชนิดจะมีการละลายออกมาของสารเคมีได้มากเมื่อตัวทำละลายเป็นไขมัน
2. สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานที่ควบคุมดูแลด้านนี้ เช่น สมอ. และมักไม่มีฉลาก ซึ่งภาชนะเหล่านี้มักมีราคาถูก แต่อาจจะมีการตกค้างของสารเคมีอันตรายเกินค่ามาตรฐานได้เช่นมีตะกั่วในเนื้อพลาสติกเกินค่ามาตรฐาน หรือ มีสีละลายออกมา หรือมีสารต่างๆ ละลายออกมาเกินมาตรฐานเมื่อนำไปบรรจุของเหลว หรืออาจจะมีกลิ่นของสารเคมีที่มากเกินการยอมรับได้ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่ไม่มีการควบคุมการผลิตที่ดี โดยผู้ใช้ต้องสังเกต และเลือกใช้ด้วย
3. การใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ เรื่องนี้บางครั้งก็เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น นำภาชนะที่เคยบรรจุสารฆ่าแมลง หรือสารเคมีมาก่อน มาใส่อาหารทำให้สารอันตรายที่ตกค้างอยู่ออกมาปนเปื้อนกับอาหาร หรือใช้ภาชนะที่ทำขึ้นเพื่อกิจกรรมอื่นเช่น กาละมังซักผ้า ถังใส่ขยะ ถุงดำบรรจุขยะนำมาใส่อาหาร พลาสติกเหล่านี้อาจทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล หรือเป็นเรซินที่ไม่ใช่เกรดที่ใช้กับอาหาร ซึ่งไม่มีการตรวจสอบความปลอดภัยก่อนนำมาใช้งาน หรือการนำท่อน้ำมาทำเป็นภาชนะหุงต้ม ก็อาจจะได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ละลายออกมาได้
4. การดูแลรักษา การล้างทำความสะอาด ขัดถูภาชนะ ต้องระมัดระวัง การขูด ทำลายของผิวภาชนะทำให้เป็นที่สะสมของเศษอาหาร ล้างทำความสะอาดได้ยาก เป็นแหล่งที่อยู่ของเชื้อโรค ซึ่งอาจจะปนเปื้อนกับอาหารได้ และไม่ควรนำภาชนะพลาสติกไปผึ่งแดดนานๆ เพราะรังสี UV จะทำให้พลาสติกเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น
5. การเลือกซื้อ เลือกซื้อสินค้าที่มีฉลาก หรือที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจในสินค้าเหล่านั้นว่ามีการตรวจสอบดูแล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้วระดับหนึ่ง และปฏิบัติตามคำแนะนำที่แจ้งไว้อย่างเคร่งครัด
หากเพื่อนๆ มีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนๆ สามารถติดต่อไปได้ที่ Call Center 0-2951-0000
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
อ้างอิงจาก: https://www.antifakenewscenter.com/ข้าวเหนียวที่ใส่ไว้ในก/
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข