รู้ทัน ระวังตัว ก่อนเสพติด “โกหก” จนโลกเมิน
รู้ทัน ระวังตัว ก่อนเสพติด “โกหก” จนโลกเมิน ไม่มีใครในโลกใบนี้ที่ชอบคนโกหก เพราะทำให้คนที่ถูกหลอกเสียความรู้สึก และคนที่ชอบโกหกก็จะเสียเครดิตไปอีกนาน ทำให้ต่อไปเมื่อพูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่อ แต่คำถามคือ ทำไมยังมีคนชอบโกหกอยู่ในโลกใบนี้
คนโกหกยังคงมีอยู่ในโลกใบนี้ และใครบ้างที่ชีวิตนี้ไม่เคยโกหก บอกได้เลยว่าหายาก ลองสำรวจดูตัวเอง หรือเพื่อนรอบข้างก็จะเห็นว่า หลายคนเคยโกหกเพราะมีเจตนาดี อย่างเช่น ช่วยลดความขัดแย้ง ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นเมื่อต้องปลอบใจใครสักคน แต่ที่สังคมเกิดความวุ่นวายเพราะการโกหกที่ทำให้มีคนได้รับความเสียหาย ทั้งคนใกล้ตัว และสังคมวงกว้าง จนบุคคลนั้นๆ เป็นภัยต่อสังคม
ทางด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ที่ให้คำแนะนำว่า พฤติกรรมการโกหกโดยหลักๆ แล้วมี 2 ลักษณะสำคัญ
ลักษณะแรกคือ การโกหกเป็นครั้งคราว มีลักษณะหลีกเลี่ยงพูดความจริง เป็นการโกหกในทางบวก ด้วยจุดประสงค์ดี เช่น ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งลักษณะนี้ก็ปล่อยผ่านไปได้ หรือการโกหกนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ทำให้ใครเสียหาย ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ที่คนฟังต้องคัดเลือกแยกแยะ เก็บเป็นบทเรียนในการฟัง
การโกหกอีกลักษณะหนึ่งคือ การโกหกที่ก่อให้เกิดปัญหา โดยหลักๆ เพราะต้องการเอาตัวรอด จนถึงการก่ออาชญากรรมที่มีพฤติกรรมโกหกเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น คนติดการพนัน ติดยาเสพติด ติดเกม มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งพฤติกรรมการโกหกเป็นประจำนั้นไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต แต่เป็นการเอาตัวรอด โดยต้องโกหกซ้ำๆ จนเสพติดความโกหก และปัจจุบันยิ่งสังคมซับซ้อน มีสิ่งยั่วยุมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้เกิดการโกหกมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับการรักษาพฤติกรรมการโกหกโดยตรงนั้น นพ.ยงยุทธ บอกว่า ไม่มีวิธีรักษา เพราะสิ่งที่ต้องรักษาจริงๆ คือพฤติกรรมที่ทำให้ต้องโกหก อย่างการเสพติดการพนัน การติดยาเสพติด การติดเกม การสร้างหนี้สิน เมื่อเลิกสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะเลิกโกหก
แล้วเราจะหลีกเลี่ยงการถูกหลอกจากคนโกหก หรือรู้ได้อย่างไรว่าเขาโกหกหรือไม่ ความสงสัยนี้ นพ.ยงยุทธ แนะนำว่า การดูเพียงอากัปกิริยาอย่างเดียวอาจไม่ใช่ข้อสรุป เพราะยังมีหลายองค์ประกอบต้องดูร่วมกัน และที่สำคัญต้องดูเรื่องพฤติกรรมหลักที่ทำอยู่ดังกล่าวด้วย...
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก >>> https://bit.ly/3mPA3CQ
อ้างอิงจาก: https://bit.ly/3mPA3CQ