จริงหรือไม่: สุโขทัย(สมัยพ่อขุน)ไม่มีลอยกระทง ?
หลักฐานเพียงอย่างเดียวนำมาใช้อ้างอิงว่าประเพณีลอยกระทงเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยก็คือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” หรือ “เรวดีนพมาศ” ที่เป็นบันทึกเรื่องราวของ
นางนพมาศ ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นสนมเอกของพระร่วง (เชื่อว่าคือพ่อขุนรามคำแหง) ตามคำบอกเล่านางเป็นผู้ประดิษฐ์ “โคมลอยรูปดอกกระมุท” หรือกระทงอย่างที่เรารู้จักกัน
และ นำไปถวายพระร่วงเจ้าเพื่อลอยในแม่น้ำอุทิศสักการบูชาพระจุฬามณีเจดีย์ เนื่องในพระราชพิธีจองเปรียง หากว่าหลักฐานที่ใช้อ้างอิงคือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้รับการ
พิสูจน์ว่าแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัยจริง แม้ว่าจะไม่อาจพิสูจน์ได้ว่านางนพมาศมีตัวตนจริงหรือไม่ แต่ก็เชื่อได้ว่ามีประเพณีการลอยกระทงเกิดขึ้นแล้วในสมัยสุโขทัย
แต่โชคไม่ดีนัก หลักฐานสำคัญที่จะพิสูจน์การมีอยู่จริงของประเพณีลอยกระทงในสมัยสุโขทัย ได้รับการตรวจสอบจากนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน และทุกท่าน
ก็เห็นพ้องต้องกันคือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” นี้ ถูกแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้เอง นักประวัติศาสตร์พระองค์แรกที่ออกมาถกเถียงประเด็นนี้คือ สมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยจากเนื้อความที่ปรากฏอยู่ในตำรับฯ ว่ามีหลายตอนไม่สอดคล้องกับยุคสมัยสุโขทัย เช่น มีการกล่าวถึงชาติฝรั่งหลายชาติซึ่งยังไม่เข้า
มาในสมัยสุโขทัย ยิ่งไปกว่านั้นคือการกล่าวถึง “อเมริกัน” จะพบว่าสุโขทัยเก่าแก่ถึง 700 ปี ย้อนแย้งอย่างมากกับคำว่า “อเมริกัน” อันเป็นชื่อของทวีปที่เพิ่งถูกค้นพบโดยชาว
ตะวันตกราวปี ค.ศ. 1492 หรือ (พ.ศ. 2035)
นอกจากนี้ยังกล่าวถึง “ปืนใหญ่” ที่ไม่มีปรากฏในสมัยสุโขทัยอย่างแน่นอน นั่นทำให้ทรงเชื่อว่าตำรับฯ ไม่น่าจะมีอายุเก่าแก่ไปกว่าสมัยรัชกาลที่ 2 อย่างแน่นอน นักวิชาการ
รุ่นหลังที่มีโอกาสเข้าถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ เพื่อนำมาตรวจสอบกับตำรับฯ นี้ อย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์พบว่า ตำรับฯ น่าจะแต่งขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2360-2378 เนื่อง
จากในตำรับฯ ได้กล่าวถึงพระราชพิธีวิสาขบูชา ซึ่งมีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มจัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ประมาณปี 2369 และอ้างอิงจากฉบับนางนพมาศที่จัดเก็บอยู่ในหอสมุดแห่ง
ชาติ ซึ่งระบุว่าเป็นฉบับที่จำลองขึ้นมาในปี พ.ศ. 2378 ดังนั้น ต้นฉบับจริงย่อมต้องแต่งก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่ควรเกินไปกว่าช่วงเวลาในการเริ่มจัดพิธีวิสาขบูชาอย่างแน่นอน และ
เมื่อพิจารณาจากสำนวนการแต่งตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นี้ เทียบเคียงกับงานวรรณกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้พอระบุได้ว่ามีบางส่วนในตำรับฯ นี้เป็นสำนวน
พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)
นอกเหนือจากการพิจารณาเนื้อความในตำรับฯ ที่มีข้อขัดแย้งกับความเป็นจริงที่จะแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัยแล้ว นิธิยังแสดงให้เห็นถึงมิติที่ลึกลงไปกว่านั้น นั่นคือ การ
วิเคราะห์ความแตกต่างของโลกทัศน์ที่แฝงอยู่ในตำรับฯ ซึ่งสามารถสะท้อนบริบทแวดล้อมที่ผู้แต่งอาศัยอยู่ โดยเปรียบเทียบความแตกต่างจากโลกทัศน์ของงานที่ได้รับการพิสูจน์
แล้วว่าแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัยอย่างแท้จริง คือ ไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิกถา เป็นงานพระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) เนื่องจากเป็นงานที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก
ในสมัยสุโขทัยเป็นต้นมา ทำให้เชื่อได้ว่าไตรภูมิพระร่วงนี้สะท้อนโลกทัศน์ของผู้คนสมัยสุโขทัยได้เป็นอย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์จะพบว่า โลกทัศน์ตาม
แบบไตรภูมิพระร่วงนั้นมีลักษณะที่ “เหนือธรรมชาติ” มีการกล่าวถึงเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์แบบเดิม ทว่าตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นับว่าเป็นวรรณกรรมชิ้น
แรกที่สะท้อนโลกแห่งความเป็นจริง ลักษณะโลกทัศน์แบบในตำรับฯ นี้เป็นแบบของสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่เริ่มรับความคิดและเหตุผลตามอย่างโลกตะวันตก
แม้ว่ายังคงมีหลายท่านนำข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่มีคำว่า “เผาเทียน” และ “เล่นไฟ” ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มิใช่เป็น
การละเล่นรื่นเริงมากล่าวอ้าง เพราะในปัจจุบันการเผาเทียนและเล่นไฟเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีลอยกระทง ทว่าสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้หักล้างแนวคิดที่ว่าลอยกระทงมีมาตั้งแต่สมัย
สุโขทัย (หากละข้อถกเถียงประเด็นศิลาจารึกถูกสร้างในสมัยสุโขทัยจริงหรือไม่) โดยใช้การวิเคราะห์จากสภาพภูมิศาสตร์ของสุโขทัยและข้อมูลจากศิลาจารึกหลักดังกล่าว เริ่ม
จากการพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งกรุงสุโขทัย จะเห็นว่าสุโขทัยตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา ระยะทางห่างจากแม่น้ำเกินกว่า 10 กิโลเมตร ทำให้มีปัญหาขาดแคลนน้ำในหน้า
แล้ง ทำให้ต้องมีการจัดการระบบชลประทานโดยการขุดตระพังและสร้างทำนบกั้นน้ำที่เรียกว่า “สรีดภงส”
ตามข้อความในจารึกว่า “กลางเมืองสุโขทัยนี้มีน้ำตระพังโพยสีใสกินดีดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง” สุจิตต์จึงได้ข้อสรุปว่าทั้งตระพังและสรีดภงสนั้นมีไว้เพื่อใช้บริโภคและทำ
การเกษตร สังคมที่น้ำขาดแคลนและน้ำมีความสำคัญมากเช่นนี้ จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะมีเทศกาลหรือประเพณีที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพของแหล่งน้ำอย่างการ
ลอยกระทงได้
จากที่กล่าวข้างต้นน่าจะชัดเจนแล้วว่า “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ไม่ได้ถูกแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัย ดังนั้น จึงไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่ออ้างอิงการมีอยู่ของประเพณี
ลอยกระทงในสมัยสุโขทัยได้ แม้ว่าจะพิสูจน์ได้ดังนี้แล้ว ทว่าคำถามต่อไปคือ “ทำไมผู้แต่งตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นี้จึงเขียนอ้างอิงถึงช่วงเวลาในประวัติศาสตร์สุโขทัย” ตามคำ
อธิบายของสุจิตต์เชื่อว่าช่วงเวลาการแต่งตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ขึ้นนั้น ผู้แต่งคงยังไม่ได้มีแนวคิดเรื่องการสร้างความเก่าแก่ของชาติ โดยการสร้างประวัติศาสตร์ของประเพณี
ที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน แต่ผู้แต่งอาจมีจุดประสงค์คล้ายคลึงกับนิยายอิงประวัติศาสตร์ ที่ใช้ช่วงเวลาในสมัยสุโขทัยเป็นโครงเรื่อง ทว่ารายละเอียดที่ปรากฏในเรื่องกับเป็นสิ่งที่
เกิดขึ้นร่วมสมัยกับผู้เขียนมากกว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย
อย่างไรก็ตาม แวดวงวิชาการประวัติศาสตร์รับรู้ถึงสถานะของตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในฐานะการเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มีคุณค่าในการ
ศึกษาโลกทัศน์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของราษฎร และพระราชพิธีต่างๆ ที่ปรากฏในตำรับฯ สำหรับสุจิตต์แล้วตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็น “สารนิยายที่มีคุณค่าทาง
วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ความคิดของผู้คนในสมัยรัตนโกสินทร์ต่างหาก ไม่ใช่สมัยพระร่วงเจ้าแห่งแว่นแคว้นสุโขทัยศรีสัชนาลัยดังที่เคยใฝ่ฝันเป็นอุดมคติกันมานานนักหนา”
แม้ว่าจะมีความชัดเจนแล้วว่า “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” และ “ประเพณีลอยกระทง” ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย ทว่าในปัจจุบันยังคงมีความเชื่อดังกล่าวอยู่และถูกผลิตซ้ำ
ตลอดเวลา เห็นได้ชัดคือ ประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟที่สุโขทัย ซึ่งเป็นความพยายามสร้างประวัติศาสตร์และความเก่าแก่ของวัฒนธรรมประเพณีของไทย เพื่อวัตถุ
ประสงค์ในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ธิดา สาระยากล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรตระหนักถึงความจริงทางประวัติศาสตร์ที่เราต้องรับผิดชอบส่งต่อให้สาธารณชนว่าประเพณีนี้ที่สุโขทัยเป็นของปรุงแต่งขึ้นในปัจจุบันนี้เท่านั้น
ไม่เคยมีหลักฐานใดๆ ในประวัติศาสตร์สุโขทัยว่าการลอยกระทงเป็นประเพณีรื่นเริงของชุมชนซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ในที่แล้งน้ำโดยธรรมชาติ[อย่างเมืองสุโขทัย]”