หัวร้อน เกิดขึ้นได้อย่างไร ควรควบคุมอย่างไร สมองไม่ชอบ คนหัวร้อน จริง ๆ นะ
ในเชิงประสาทวิทยา หรือ Neuroscience พบว่า เมื่อเราอยู่ในอารมณ์โกรธ สมองด้านความคิดของเรากำลังทำงานหนักมากเพื่อประมวลผลหาคำตอบในประเด็นที่ไม่เข้าใจและไม่พอใจ เป็นสภาวะที่สมองต้องใช้ออกซิเจนมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการเสียสมดุล และหากเราไม่สามารถดึงความสมดุลกลับมา จะทำให้สมองด้านความคิดไม่สามารถแยกแยะความเป็นเหตุเป็นผลได้ หรือเมื่อได้รับฟังคำตอบแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ สมองจึงทำงานผิดปกติ และเป็นที่มาของ อาการหัวร้อน นั่นเอง
ข้อเสียของการหัวร้อน
1.ส่งผลให้คุณโง่ลง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัย OHIO ได้กล่าวไว้ว่า “ความโกรธและความเครียดส่งผลให้เส้นเลือดในสมองโป่งพอง ทำให้สมองทำงานได้ช้าลง” จึงไม่น่า แปลกใจว่าทำไมเวลาคนเราโมโห หงุดหงิด จะมองไม่เห็นทางออกของปัญหา มีความสามารถในการใช้เหตุผลน้อยลง ใช้อารมณ์เป็นหลัก มักจะพูดก่อนคิด ทำโดยขาดการไตร่ตรอง ซึ่งนำไปสู่เหตุทะเลาะวิวาทในที่สุด
คริส อายเก้น (Chris Aiken) จิตแพทย์จากสถาบัน Wake Forest University School กล่าวว่า หากเราอยู่ในสภาวะหัวร้อนบ่อย ๆ จะทำให้สมองเสื่อมก่อนวัย เหมือนเราเปิด ๆ ปิด ๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้อายุการใช้งานของมันสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็น สมองของเราก็เช่นกัน
2.ส่งผลให้คุณใจร้อนไปด้วย Chris Aiken จิตแพทย์ชื่อดังจาก Wake Forest University School of Medicine ได้ให้ข้อมูลว่า “หลังจากที่คนเรามีอาการโมโห ในช่วงเวลา 2 ชั่วโมงหลังจากนั้น หัวใจจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นหัวใจวายเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า อีกทั้งความโกรธที่ไม่ได้รับการระบายออก เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจ” หมายความว่า ยิ่งหัวร้อนมากเท่าไหร่ สุขภาพยิ่งถูกทำร้ายมากขึ้นเท่านั้น
3.ตัวบ่อนทำลายมิตรภาพ การหัวร้อนใส่กันก็เหมือนการกระแทกแก้วน้ำ ถึงแก้วไม่แตก แต่ก็จะมีรอบร้าว และหาก ถูกกระแทกบ่อย ๆ แก้วก็จะร้าวมากขึ้น จนแตกในที่สุด ก่อนที่จะหัวร้อนใส่ใคร โปรดคิดถึงความสำคัญของคน ๆ นั้น ก่อนที่จะเผลอระเบิดอารมณ์ และเสียเขาไปตลอดกาล
วิธีควบคุมอารมณ์เพื่อจัดการกับอาการหัวร้อน
- หายใจเข้าออกช้า ๆ เมื่อรู้สึกหัวร้อนให้หายใจเข้าออกช้า ๆ จากนั้นนับ 1-10 หรือนับไปเรื่อย ๆ จนกว่าอารมณ์จะเย็นลง เป็นวิธีเบื้องต้นที่จะช่วยควบคุมอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้
- ปรับความคิดของตัวเองใหม่ เป็นวิธีการคิดบวกที่จะช่วยให้รู้สึกมีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น อย่างเช่น เมื่อรู้สึกว่าไม่ชอบการทำงาน ให้ลองปรับมุมมองความคิดใหม่ว่า วันนี้ได้ไปเจอเพื่อนร่วมงานที่ดี ได้กินข้าวอร่อย ๆ ตอนพักกลางวัน หรือได้นั่งทำงานในมุมสวย ๆ ก็อาจช่วยให้มีอารมณ์ที่ดีขึ้น
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะช่วยหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งเป็นสารเคมีแห่งความสุขที่จะช่วยบรรเทาความเครียดได้
- หากิจกรรมทำเพื่อจัดการกับอารมณ์ อย่างเช่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ เดินเล่น ไปเที่ยว วาดรูป ทำสวน เป็นกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียดให้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ และยังช่วยให้สภาวะทางอารมณ์ดีขึ้นตามไปด้วย
- พักผ่อนร่างกายและจิตใจบ้าง บางคนอาจมีอารมณ์หัวร้อนรุนแรงเพราะความเครียดและความเหนื่อยจากการทำงาน จึงควรหาวันหยุดเพื่อหยุดพักจากการทำงานบ้าง จะสามารถช่วยปรับอารมณ์และความเครียดภายในจิตใจได้
- พูดคุยกับคนรอบข้าง บางครั้งการเก็บอารมณ์ ความคิดและความรู้สึกทุกอย่างไว้ที่ตัวเองคนเดียว อาจยิ่งทำให้เกิดความเครียดและอารมณ์หัวร้อนมากขึ้น จึงควรพูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวเพื่อช่วยระบายความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้น บางทีคนรอบข้างอาจช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี