นอนหลับมากเกินไป (Hypersomnia) เสี่ยงเป็นซึมเศร้า !
การนอนมากเกินไป (hypersomnia) เป็นสิ่งที่ผิดปกติ เกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ภาวะนี้จะมีลักษณะที่ต้องการนอนเพิ่มขึ้นทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน มีภาวะตื่นยากมากจากการนอน เมื่อตื่นนอนก็รู้สึกว่าต้องการนอนต่อไปอีก แม้จะหลับมาอย่างมากเพียงพอแล้ว หลังตื่นขึ้นมาอาจงัวเงีย ไม่สดชื่น บางครั้งอาจจะรู้สึกสมาธิ หรือ ความจำแย่ลง รู้สึกอ่อนเพลียทั้งวัน ไม่ค่อยมีแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ บางคนอาจหงุดหงิดง่าย ทำให้มีปัญหาทะเลาะกับบุคคลอื่นเป็นประจำ และ ระหว่างวันมีความต้องการที่จะนอนหลับหลายครั้ง บางรายอาจเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ขับรถ ใช้เครื่องจักรที่อาจเกิดอันตราย ขณะคุยกัน หรือ ระหว่างกินอาหาร
สาเหตุที่ทำให้นอนมากเกินไป
- อดนอนเป็นเวลานาน และ บ่อยครั้ง จนร่างกายพักผ่อนไม่พอ
- นาฬิกาชีวภาพในร่างกายแปรปรวน ปรับเวลาผิด เช่น การเดินทางข้ามประเทศที่ต่างช่วงเวลากัน
- ฮอร์โมนในร่างกาย หรือ สารเคมีในสมองไม่ปกติ
- นอนกรน มีภาวการณ์หยุดหายใจในช่วงนอนหลับ ทำให้ร่างกายรับออกซิเจนไม่พอ
- สมองได้รับบาดเจ็บ หรือ โรคเกี่ยวกับทางสมอง
- การกินยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาคลายเครียด
- สุขภาพจิต เช่น ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า อาจมีเรื่องการนอนไม่หลับ บางคนหลับมากเกินไปรู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา ไม่อยากทำอะไร อยากนอนตลอดทั้งวัน
ผลกระทบจากการ นอนหลับมากเกินไป
- สมองเฉื่อยชา สมองล้า กลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวา
- ประสิทธิภาพการทำงานของกระดูก กล้ามเนื้อ และ ข้อ ลดลงหากไม่มีการเคลื่อนไหวนาน ๆ อาจมีผลทำให้กระดูก หรือ กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง มีปัญหาข้อต่าง ๆ เคลื่อนไหวได้ยากตามมา
- น้ำหนักเกิน / นำหนักมากกว่าเดิม เนื่องจากระบบการเผาผลาญไขมันลดลง มีการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง
- ไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ ของตนเอง อาจถูกตำหนิต่อว่าจากคนรอบข้าง เกิดความรู้สึกขาดคุณค่า และเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าได้
การนอนมากเกินไปสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าอย่างไร ?
ปัญหาการนอนเป็นส่วนหนึ่งของภาวะซึมเศร้า เพราะอาจทำให้มีการนอนมากเกินไป หรือ นอนไม่พอ เมื่อมีภาวะซึมเศร้า จะทำให้มีความรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง ไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่ได้ตามปกติ และ การนอนมาก ๆ ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน โดยเฉพาะ “เคมีอารมณ์ สารความสุข” จำพวก “เซโรโทนิน (Serotonin)” และ “เอนดอร์ฟิน (Endorphin)” ลดต่ำลง
อาการซึมเศร้าที่ควรเฝ้าสังเกต
- รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า หรือ หงุดหงิดง่าย
- รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า หรือ รู้สึกผิด
- รู้สึกอ่อนเพลียและเชื่องช้า
- วิตกกังวล กระวนกระวาย
- ขาดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ
- หมดแรง
- มีปัญหาเกี่ยวกับการทำสมาธิ การคิด การตัดสินใจ
- ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไปทำให้น้ำหนักร่างกายเปลี่ยนแปลง
- ความอยากนอนเพิ่มขึ้น หรือ ลดลง
- คิดเกี่ยวกับการตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ วางแผนหรือพยายามทำร้ายตัวเอง
วิธีแก้ไขอาการนอนมากเกินไป
1.เข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่ม ปกติร่างกายจะนอนหลับเป็นรอบ ถ้าเริ่มตั้งแต่เคลิ้ม ๆ สะลึมสะลือจนถึงขั้นหลับลึก จะกินเวลารอบละ 90 นาที คืนละ 5-6 รอบ ยิ่งนอนหัวค่ำก็จะทำให้มีโอกาสนอนได้หลับลึกมากขึ้น
2.กำหนดตารางเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดียวกันทุกวันเป็นประจำสม่ำเสมอ
3.จัดห้องนอนให้โปร่งโล่ง อากาศระบายได้ดี ร่างกายที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจะทำให้สมองเซื่องซึม และง่วงนอนตลอดเวลา
4.ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ แต่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงก่อนเวลาเข้านอน
5.นั่งสมาธิหรือกิจกรรมเบา ๆ เพื่อผ่อนคลายก่อนเข้านอน
6.กินอาหารเป็นเวลาสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการกินจนแน่นก่อนเวลาเข้านอน
7.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน สูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนช่วงเวลาเช้านอน