พิษจากปลาปักเป้า
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. มุกดา ตฤษณานนท์
การเดินทางไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ นอกจากจะดูภูมิประเทศในแหล่งต่างๆ แล้ว การรับประทานอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง การรับประทานอาหารอาจมีอันตรายได้ ถ้าเราไม่ระวังและไม่ทราบสิ่งที่เป็นพิษมาก่อน ปลาเป็นอาหารที่น่ารับประทานอย่างหนึ่ง เนื่องจากเป็นอาหารที่ย่อยง่าย มีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย มีสารอาหารที่สำคัญ แต่ปลาที่เป็นพิษ เช่น ปลาปักเป้า รับประทานแล้วเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ พิษของปลาปักเป้าเป็นพิษที่ทนต่อความร้อน เมื่อถูกความร้อนพิษจะไม่เสียไป ได้มีผู้นำเอาปลาปักเป้ามาขายเป็นจำนวนมากเรียกว่า “ปลาเนื้อไก่” เพราะเนื้อมีลักษณะคล้ายเนื้อไก่ ราคามไม่แพงเห็นแล้วน่ารับประทาน แต่ที่จริงเป็นพิษ
ปลาปักเป้า หรือ Puffer fish เป็นปลาที่หาได้ในน้ำจืดและน้ำเค็ม พบได้ทั่วประเทศที่มีอากาศร้อนอบอุ่น ในประเทศไทยพบปลาปักเป้าน้ำจืดได้ตามแหล่งน้าต่าง ๆ เช่น ตามหนอง คลอง บึง ส่วนปลาปักเป้าหนามทุเรียน เป็นปลาปักเป้าทะเล พบได้ในอ่าวไทย ตามปกติ ปลาปักเป้าจะมีสภาพเหมือนปลาทั่วไป มีหนามสั้นหรือยาวแล้วแต่ชนิด หากถูกรบกวนจะพองตัวโตขึ้น มีรูปร่างคล้ายลูกโป่ง หรือ ลูกบอลลูน ปลาปักเป้าทะเลเป็นที่รู้จักันดี สำหรับชาวประมง ถ้าพบเห็นบนเรือลากอวน เขามักจะทำลายมันทิ้งหรือโยนกลับลงไปในทะเลในญี่ปุ่นเรียกปลาชนิดนี้ว่า “Fuge” ชาวญี่ปุ่นชอบรับประทานแต่ต้องมีการเตรียมโดยผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะเป็นพิเศษ จึงจะไม่มีพิษ
พิษของปลาปักเป้ามีชื่อว่า Tetrodotoxin พิษปลาปักเป้า พบมากที่สุดในส่วนของไข่ ตับ ลำไส้ หนัง ส่วนที่เป็นเนื้อปลาจะมีพิษน้อยลักษณะอาการในผู้ที่ได้รับพิษ หลังรับประทานอาหารเข้าไปประมาณ 10-30 นาที จะมีอาการดังนี้ (บางรายอาจเป็นชั่วโมง ขึ้นอยู่ริมปริมาณของพิษที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป)
- ระยะแรก จะเริ่มมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณ ใบหน้าและปลายนิ้ว รวมทั้งคลื่นไส้อาเจียน
- ระยะที่สอง จะมีอาการอ่อนเพลีย ชามากขึ้น แขนขา ไม่มีแรง จน เดินหรือยืนไม่ได้
- ระยะที่สาม จะมีกล้ามเนื้อกระตุกคล้ายชัก พูดลำบาก ตะกุกตะกัก เนื่องจากมีอัมพาตของสายกล่องเสียง
- ระยะที่สี่ กล้ามเนื้อจะเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก ไม่รู้สึกตัว และถึงแก่ความตามโดยการหยุดหายใจ
พิษของปลาปักเป้าไม่มียาแก้พิษ (antidote) โดยเฉพาะต้องรักษาแบบประคับประคองโดยการให้น้ำเกลือ ถ้าหยุดหายใจต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เมื่อพิษของปลาปักเป้าถูกขับออกไปทางปัสสาวะ ผู้ป่วยก็จะหายจากอาการเหล่านี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2546 ได้มีผู้ป่วยรับประทานอาหารปลาสงสัยว่าเป็นพิษจากปลาปักเป้า 3 รายที่ลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ
รายแรก อายุ 69 ปี เป็นหญิง มาด้วยอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก แขนขาอ่อนแรง มีอาการเขียวคล้ำ cyanosis ให้ใส่อช่วยหายใจแล้วเข้า ICU ได้ประวัติว่า ตอนเย็นประมาณ 18.00 น. ได้ซื้อปลากะพงผัดคึ่นฉ่าย มารับประทานกับลูกชาย ต่อมาประมาณ 21.00 น. ผู้ป่วยตื่นมา ชาทั้งตัว เดินไม่ไหว ต่อมามีอาเจียน เวียนศรีษะ หายใจไม่ค่อยออก จึงมาโรงพยาบาล อยู่โรงพยาบล 3 วัน จึงเอาท่อช่วยหายใจออกต่อมาอีก 2 วันจึงออกจากโรงพยาบาล
รายที่สอง คือ ลูกชายรับประทานปลากะพงผัดคึ่นฉ่ายเพียงเล็กน้อย หลังรับประทานประมาณ 2 ชม. มีอาการชาที่คอปากแห้ง เวียนศรีษะ ชาทั้งตัวแต่ไม่อ่อนแรง วันรุ่งขึ้นอาการหายไปเอง
รายที่สาม เป็นชายอายุ 69 ปี รับประทานอาหารกล่องที่เดียวกันนี้มีปลาด้วย รับประทานไปได้ 2-3 คำ รู้สึกรสชาติแปลกไป รู้สึกลิ้นชา ๆ จึงทิ้งไป ต่อมารู้สึกชาตามปาก คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกเหมือนตัวลอยๆ ได้ไปโรงพยาบาลพักอยู่ 2 วัน อาการทุเลาหายไป
ทั้ง 3 ราย ดังได้กล่าวมาแล้ว แสดงว่า ได้รับประทานปลาเข้าไป ซึ่งเป็นปลาปักเป้า หรือเรียกว่าปลาเนื้อไก่ และมีอาการเป็นพิษ คือมีชาตามปาก ลิ้น คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาไม่มีแรง ถ้ารับประทานปลามาก พิษก็เข้าไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการรุนแรง หายใจไม่ออก และกล้ามเนื้อเกี่ยวกับหายใจ เป็นอัมพาตต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ มิฉะนั้น อาจถึงแก่ความตาย
ฉะนั้น การรับประทานอาหารต้องระวัง เช่น ข้าวต้มปลา หรือปลาผัดคึ้นฉ่าย ถ้าเกิดอาการดังได้กล่าวมาแล้ว ต้องรีบไปโรงพยาบาล มิฉะนั้น ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงแก่ชีวิตได้ ความจริงกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 264 พ.ศ. 2545 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้า หรือจำหน่าย คือ ปลาปักเป้าทุกชนิด และอาหารที่มีปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม เป้นอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือจำหน่าย แต่ก็ยังมีผู้ละเมิดอาจจะรู้หรือไม่รู้เพราะปลาปักเป้ามีราคาถูก และมีเนื้อน่ารับประทานนำมาขายทำให้เกิดเหตุร้ายดังกล่าวมาแล้ว ฉะนั้น จำเป็นต้องระมัดระวัง ในการรับประทาน