เทคนิคสร้างความมั่นใจง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เปลี่ยนเป็นคนใหม่ ที่มั่นใจได้เต็มร้อย
1.รู้จักตัวเอง
ขั้นตอนแรก คือ การยอมรับในศักยภาพที่ตัวเองมี เมื่อเราทราบจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง จะช่วยให้เราสามารถปรับปรุงจุดด้อย พัฒนาจุดเด่นของตัวเอง เพื่อไปสู่จุดหมายที่ตั้งใจไว้ได้ดีขึ้น การรู้จักตัวเองยังช่วยให้เราเข้าใจว่าทุกคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน
2.การปรับเปลี่ยนรูปแบบความคิดที่มีต่อการเข้าสังคม
เพื่อช่วยลดความวิตกกังวลทางสังคม ในทางจิตวิทยาสามารถทำได้ผ่านกระบวนการบำบัดพฤติกรรมและความคิด (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) ซึ่งเน้นการปรับเปลี่ยนความคิดทางลบ ให้กลายเป็นความคิดและพฤติกรรมทางบวกในการเข้าสังคมแทน โดยมี 3 ขั้นตอน ได้แก่
- ระบุความคิดทางลบออกมาเป็นรูปธรรม โดยการเขียน หรือบันทึกออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างเช่น ฉันทำไม่ได้หรอก หากฉันแสดงความสามารถฉันจะต้องถูกล้อเลียนแน่นอน เป็นต้น
- ตรวจสอบและวิเคราะห์ ว่าความคิดทางลบที่เกิดขึ้นมานั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
- เปลี่ยนความคิดทางลบให้กลายเป็นความคิดทางบวก หรือความคิดที่เป็นกลางมากขึ้น อย่างเช่น เปลี่ยนจาก “ฉันทำไม่ได้อย่างแน่นอน” เป็น “ฉันอาจจะทำพลาดไปบ้าง แต่ไม่มีใครในโลกนี้ที่สมบูรณ์แบบ”
3.เรียนรู้จากความล้มเหลว และยินดีกับความสำเร็จของตัวเอง
เมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ควรใช้โอกาสนี้ปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำอีก และชื่นชมตัวเองเมื่อทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี ต่อให้เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยก็ตาม เราก็สามารถชื่นชมตัวเองได้เสมอ
4.ฝึกลดความตื่นเต้น
เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในตนเอง เราต้องฝึกลดความตื่นเต้นโดยการค่อย ๆ เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล โดยเริ่มจากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวลน้อยที่สุดไปจนถึงสถานการณ์ที่ท้าทายมากขึ้น ควบคุมการหายใจ และปรับเปลี่ยนความคิดให้เป็นไปในทางบวกมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น หากกลัวการพูดในที่สาธารณะ เราจะต้องเริ่มจากฝึกพูดในกลุ่มคนเล็ก ๆ จำนวน 3 – 5 คนก่อน เมื่อเรามั่นใจ และพูดได้คล่องแล้วจึงค่อยไปพูดต่อหน้าคนจำนวนมากขึ้น งานใหญ่ขึ้นตามลำดับ หากระหว่างการพูดเกิดความรู้สึกประหม่า ให้พยายามควบคุมลมหายใจ และคิดว่ามาพูดให้เพื่อนฟัง จะช่วยลดความตื่นเต้นไปได้มาก
5.เลือกทำในสิ่งที่ชอบ และลงมือทำอย่างจริงจัง
เริ่มจากการค้นหาสิ่งที่ตัวเองสนใจหรือชื่นชอบ ตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้จริง อย่างเช่น เรียนร้องเพลง เรียนโยคะ หรือทำงานอาสาสมัคร เมื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ลงมือทำโดยไม่สงสัยในความสามารถของตัวเอง และกล้าเผชิญกับความล้มเหลว
6.เลือกรับฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์
การพูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท ช่วยให้มีกำลังใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นใจ โดยเฉพาะคนรอบข้างที่อาจพูดจาบั่นทอนให้เกิดความไม่สบายใจ
7.ใส่ใจตัวเองอยู่เสมอ
เริ่มจากการดูแลความสะอาดของร่างกาย สวมเสื้อผ้าที่สะอาดเรียบร้อย นอกจากจะช่วยเรียกความมั่นใจในตัวเองได้แล้ว ยังสร้างความประทับใจเมื่อพบปะผู้อื่นอีกด้วย
นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียดอย่างเหมาะสม จะช่วยให้มีพลังในทำสิ่งต่าง ๆ ได้เต็มที่ยิ่งขึ้น
8.พยายามร่วมกิจกรรมทางสังคมให้มากขึ้น
เริ่มจากการร่วมกิจกรรมทางสังคมในกลุ่มเล็ก ๆ ก่อน เพื่อลดความกดดัน เลือกกิจกรรมที่ตนเองชอบและสนใจ เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และทุกครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ควรสร้างความคุ้นเคยกับผู้อื่น เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นกันเอง และเมื่อเราชินกับการทำกิจกรรมกับผู้อื่น หรือแสดงออกต่อหน้าผู้อื่นแล้ว เราจะสามารถทำได้ดียิ่งขึ้น และประหม่าน้อยลง