แอลกอฮอล์เป็นพิษ คิดสักนิดก่อนจะดื่ม อย่าสนุกจนลืมระวัง และ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดปริมาณกี่มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ที่จะส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ?
ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ alcohol poisoning คือ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในปริมาณมาก และ ดื่มแบบรวดเร็วในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้ตับไม่สามารถขับสารนี้ออกจากเลือดได้ทัน ระบบการทำงานของร่างกายจึงรวนจนเกิดภาวะช็อก อาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ หากทำการปฐมพยาบาล หรือ ได้รับการรักษาจากแพทย์ไม่ทัน
สาเหตุแอลกอฮอล์เป็นพิษ !
การดื่มของมึนเมาจนมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้สูงมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้
- การดูดซึมสารในร่างกายของแต่ละบุคคล
- ปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ในแต่ละชนิดของเครื่องดื่ม
- เพศหญิงจะมีปฏิกิริยาต่อแอลกอฮอล์ได้ไวกว่าผู้ชาย
อาการของ ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ
- สับสน
- พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง
- น้ำตาลในเลือดต่ำ
- ไม่สามารถทรงตัวได้
- ง่วงซึม นอนหลับเยอะกว่าปกติ
- อาเจียน
- หายใจผิดปกติ
- เกิดอาการชัก
- การเคลื่อนไหวของดวงตาเร็วกว่าปกติ
- ตัวเย็นจัด
- ผิวหนังซีด กลายเป็นสีม่วง
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว
- เกิดภาวะกึ่งโคม่า ร่างกายไม่สามารถตอบสนองได้
- หัวใจวายเฉียบพลัน
- หยุดหายใจ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1.รีบโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพ 1669 หรือ โทรแจ้งตำรวจ 191 เพื่อขอความช่วยเหลือ
2.ปลุกผู้ป่วยให้ตื่นและพยุงให้อยู่ในท่านั่ง
3.หากยังดื่มน้ำได้ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเปล่า
4.หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคง หรือ อยู่ในท่าพักฟื้น คอยดูว่าผู้ป่วยยังหายใจอยู่หรือไม่
5.หากพบว่าหยุดหายใจให้ทำการช่วยหายใจ หรือ หากพบหัวใจหยุดเต้นให้เริ่มการกู้ชีพ CPR
6.ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยอบอุ่น
7.คอยสังเกตอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมา
8.อย่าให้ผู้ป่วยหลับ
9.ห้ามอาบน้ำให้ผู้ป่วย
ลักษณะอาการที่อาจพบเมื่อมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (หน่วยเป็น มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)
20 – 49 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และ การตัดสินใจช้าลงเล็กน้อย
50 – 99 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เริ่มเสียการทรงตัว ควบคุมตัวเองได้น้อยลง และ ตอบสนองช้าลง
100 – 199 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เดินเซ กล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กัน
200 – 299 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ คลื่นไส้ อาเจียน การรับรู้ลดลง และ จำเหตุการณ์ไม่ได้
300 – 399 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หมดสติ ชีพจรลดลง และ อุณหภูมิร่างกายลดลง
มากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสหยุดหายใจและเสียชีวิตได้
การตอบสนองต่อระดับแอลกอฮอล์อาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แม้ระดับจะน้อยกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็อาจเสี่ยงจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือ การนอนหลับลึกในท่าผิดปกติที่อุดกั้นทางเดินหายใจ
ดื่มอย่างไรจึงจะปลอดภัย
1.กินอาหารรองท้องก่อนดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมได้เร็วเมื่อท้องว่าง
2.ไม่ควรดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน
3.หลีกเลี่ยงการดื่มแบบแก้วต่อแก้ว หรือ ดื่มครั้งละมาก ๆ
4.เมื่อเริ่มมีอาการมึนหัวให้ลดปริมาณการดื่ม หรือ หยุดดื่มทันที
5.อย่าดื่มจนเมาเกินไป
6.เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ไปสักพัก ควรดื่มน้ำเปล่าตามสัก 1 – 2 แก้ว ป้องกันภาวะขาดน้ำ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้ว่าจะเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มความสุข สนุกสนาน แต่ข้อเสียก็ส่งผลเสียร้ายแรงต่อร่างกาย ฉะนั้นควรดื่มแต่พอประมาณ พอดี ไม่หักโหมจนเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายร้ายแรงที่อาจถึงแก่ชีวิตได้