โรคขี้มโน “Erotomania” ที่สุดแห่งการรักข้างเดียว ภาวะหลงผิดคิดว่ารัก ชอบหลอกตนเองว่ามีคนรักใคร่
โรคขี้มโน (Erotomania) เป็นภาวะสุขภาพจิตอย่างหนึ่งที่ใกล้เคียงกับอาการหลงผิด หรืออาการคลั่งไคล้ที่มากจนเกินไป โดยมักจะชอบยึดติด หรือคิดเข้าข้างตนเองเสมอว่าฝ่ายตรงข้ามนั้นตกหลุมรักตนเอง เสมือนที่ตนเองก็ตกหลุมรักพวกเขาเช่นกัน จึงอาจทำให้บางครั้งตัวผู้ป่วยมีอาการอยากจะใกล้ชิด หรืออยากติดต่อเพิ่มมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ในโลกแห่งความเป็นจริง แทบจะไม่ได้พูดคุยกัน หรือไม่เคยรู้จักกันเลยด้วยซ้ำ โดยฝ่ายที่ถูกแอบชอบนั้น มักจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงทางสังคม มีชื่อเสียงโด่งดัง อย่างเช่น ศิลปิน นักร้อง นักแสดง เป็นต้น
พบได้บ่อยใน เพศหญิง มากกว่า เพศชาย รวมถึงผู้ป่วยที่กำลังตกอยู่ในภาวะของโรคซึมเศร้า (Depression) และโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
งานบางวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่า อาการหลงผิดดังกล่าว อาจพัฒนากลายเป็นความเครียดที่ทำลายระบบประสาทจนประสาทหลอนรุนแรง หากไม่เร่งรักษา หรือไม่ได้รับการบำบัดจิตใจ อาจทำให้ผู้ป่วยประสบอยู่กับอาการเหล่านี้เป็นเวลาหลายปีได้เลยทีเดียว
อาการ บ่งบอกว่ากำลังเป็น โรคขี้มโน
- คลั่งไคล้มากจนนั่งดูรูป ดูคลิปได้ทั้งวัน ปักอกปักใจเชื่ออย่างแรงกล้าว่ากำลังคบหากันอยู่
- พยายามติดต่ออีกฝ่ายอย่างไม่ลดละ แม้จะไม่รับโทรศัพท์ หรือไม่ยอมพูดด้วย ก็ยังตื๊อไม่เลิก มีพฤติกรรมสะกดรอยตาม สตอล์คเกอร์ หรือทำร้ายคนที่มายุ่งกับแฟนในมโนของตัวเอง คุกคามผู้นั้นจนถึงขั้นถูกดำเนินการทางกฎหมาย
- เชื่อสนิทใจว่าท่าทาง สายตา หรือคำพูดบางนั้นสื่อถึงเรา หรือเขากำลังส่งสัญญาณบอกรักเราอย่างลับ ๆ หากโดนปฏิเสธ ก็จะคิดว่าเขาอยากให้ความสัมพันธ์เป็นความลับ ไม่อยากเปิดเผยให้ใครรู้
- มีอาการไม่พอใจมากหากใครมายุ่งกับคนที่ชอบ รู้สึกมีอารมณ์อิจฉาเมื่อเห็นผู้อื่นเข้าใกล้ หรือมีการติดต่ออีกฝ่ายได้มากกว่า
- ใช้เวลาไปกับเรื่องของคนที่ชอบ จนเสียการเสียงาน รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง
- อาการนอนไม่หลับ
- อยากมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมที่ฝ่ายตรงข้ามได้กระทำ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นต้น
- มีอารมณ์รุนแรงเมื่อถูกฝ่ายนั้นเกิดพฤติกรรม หรือคำพูดเชิงปฏิเสธ
วิธีการรักษาโรคขี้มโน
จำเป็นต้องใช้วิธีการพบคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมไปถึงนักบำบัดสุขภาพจิตเข้ามามีส่วนร่วม โดยแพทย์อาจมีการให้ยารับประทานเสริมเพื่อกล่อมประสาท และปรับอารมณ์ให้คงที่ ตามแต่อาการเบื้องต้นที่ได้รับการวินิจฉัย พร้อมกับการบำบัดด้วยการพูดคุย การสอบถาม และอาจเพิ่มทักษะด้วยการอบรบการใช้ชีวิตในสังคมจากนักบำบัด เพื่อเป็นการปรับปรุงคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น