โรคหลายบุคลิก หรือ โรคหลายอัตลักษณ์ Multiple Personality Disorder
โรคหลายบุคลิก หรือ โรคหลายอัตลักษณ์ Multiple Personality Disorder ถูกจัดอยู่ในโรคทางจิตเวชประเภท Dissociative identity disorders ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต เป็นโรคทางจิตเวชรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีอัตลักษณ์ หรือบุคลิกมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป ซึ่งจะสลับสับเปลี่ยนไปมาในตนเอง โดยระบบความจำ การรับรู้ ความคิด และความรู้สึกมักแยกขาดออกจากกัน ผู้ป่วยบางรายจึงอาจไม่สามารถจดจำตนเองได้ เมื่ออีกอัตลักษณ์หนึ่งปรากฏออกมาแทนที่
ลักษณะอาการของโรคหลายบุคลิก
ผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกอาจมีสองอัตลักษณ์ หรือมากกว่านั้นผสมกันอยู่ในตัว โดยแต่ละอัตลักษณ์ในตัวผู้ป่วยอาจมีชื่อ เพศ อายุ หรืออุปนิสัยแตกต่างกันไป และจะสับเปลี่ยนกันเข้าควบคุมความคิด การรับรู้ต่อสภาพแวดล้อม และพฤติกรรมโดยไม่รู้ตัว เพราะในตัวตนของคนเหล่านั้นมีหลายส่วนที่ไม่ต่อเนื่องกัน หรือถูกแยกออกจากกันเป็นหลายส่วน
ในผู้ป่วยโรคหลายบุคลิก ความเป็นตัวตนเหล่านั้นจะขาดออกจากกัน ทำให้อารมณ์ และพฤติกรรมที่แสดงออกไม่ต่อเนื่องและไม่เหมือนกัน บางครั้งจะรู้สึกรักตัวเอง แต่บางครั้งก็จะรู้สึกเกลียดตัวเอง และมีความกดดันเกิดขึ้น มีความทรงจำเกี่ยวกับตัวเองที่ขาดหายไป จึงแสดงออกแตกต่างไปจากเดิมที่เคยเป็น
รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้มองดูการกระทำของตนเอง ผู้ป่วยบางรายอาจได้ยินเสียงผู้อื่นแทรกขึ้นมา อย่างเสียงเด็ก หรือเสียงจากภายในที่คอยควบคุมตนเองอยู่
- รู้สึกว่าตนเองไม่มีอำนาจในการควบคุมตนเอง เมื่ออัตลักษณ์เปลี่ยนไป และอาจรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และจิตใจ อย่างเช่น รู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นเด็ก หรือมีร่างกายแข็งแรงขึ้น โดยที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับอัตลักษณ์หลัก เป็นต้น
- อัตลักษณ์รองมักปรากฏออกมาเมื่ออยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด หรือได้รับความกดดันทางจิตใจ
- เมื่ออัตลักษณ์เปลี่ยนแปลงไป ผู้ป่วยบางรายอาจจดจำเรื่องราวขณะนั้นได้ แต่บางรายอาจสูญเสียความทรงจำไปชั่วคราว
นอกจากนี้ อาจพบอาการอื่น ๆ อย่างเช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดเมื่อยตามร่างกาย อารมณ์แปรปรวน เบื่ออาหาร มีอาการวิตกกังวล หรือซึมเศร้า เป็นต้น
สาเหตุของโรคหลายบุคลิก
- เกิดจากพันธุกรรม
- เกิดจากประสบการณ์วัยเด็ก มีเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง อย่างเช่น ถูกทำร้ายทางร่างกาย และจิตใจในวัยเด็ก
- การถูกทำร้ายร่างกาย และ จิตใจ
- การถูกล่วงละเมิดทางเพศ เหตุการณ์ที่รุนแรงทางเพศ
- การประสบเหตุการณ์ร้ายแรง อย่างเช่น อุบัติเหตุ ภัยพิบัติการจากไปของคนในครอบครัว
- การถูกทอดทิ้งเป็นระยะเวลานาน
โรคหลายบุคลิกจึงอาจเป็นวิธีการรับมือที่ผู้ป่วยสร้างขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพื่อตัดขาดตนเองจากสถานการณ์ตึงเครียด หรือพยายามแยกความทรงจำอันเลวร้ายออกจากชีวิต เพราะรู้สึกไม่ชอบ และไม่ยอมรับในตัวตนของตัวเอง จึงแสดงออกในอัตลักษณ์ที่แตกต่างออกไป ในบางกรณี อาจเป็นกลไกการป้องกันตัวจากความเจ็บปวดทางร่างกาย และจิตใจจากเหตุการณ์ที่เคยพบเจอในอดีต แม้จะไม่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นซ้ำอีกในปัจจุบัน
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคหลายบุคลิก ได้แก่ ความเครียด อาการเจ็บป่วย และการนึกถึงประสบการณ์อันเลวร้ายในวัยเด็กของตัวเอง
การรักษาโรคหลายบุคลิก
เป้าหมายของการรักษา คือ การยับยั้งอาการ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วย และคนรอบข้าง รวมถึงเชื่อมโยงอัตลักษณ์ หรือบุคลิกที่หลากหลายให้รวมเป็นอัตลักษณ์เดียว และช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข
การรักษาจะต้องใช้จิตบำบัดในระยะยาว ต้องค่อย ๆ ปรับอัตลักษณ์ และบุคลิกภาพในระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน โดยใช้จิตแพทย์เป็นหลักในการรักษา สิ่งที่คนรอบข้างควรทำ คือ ให้ความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่คนไข้เป็น จะทำให้ผู้ป่วยไม่เกิดการต่อต้าน และเข้ารับการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จิตบำบัด (Psychotherapy)
จิตแพทย์จะพูดคุยเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยพูดคุยเกี่ยวกับความทรงจำอันเลวร้ายได้ดีขึ้น ผ่านการเรียนรู้สาเหตุของอาการ วิธีรับมือในสถานการณ์ตึงเครียด และวิธีพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเหมาะสม
- การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy)เน้นการทำความเข้าใจสาเหตุ พร้อมกำหนดเป้าหมายในการบำบัดรูปแบบความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และฝึกฝนให้ผู้ป่วยมีทักษะในการจัดการกับปัญหาของตนเองได้ดียิ่งขึ้น
- การบำบัดในรูปแบบอื่น อย่างเช่น จิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์ (Eye Movement Desensitization and Reprocessing Therapy) พฤติกรรมบำบัด ครอบครัวบําบัด สมาธิบำบัด สะกดจิตบำบัด และดนตรีบำบัด เป็นต้น
การใช้ยา
เนื่องจากไม่มียาที่รักษาโรคหลายบุคลิกได้โดยตรง หากผู้ป่วยมีอาการอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างอาการวิตกกังวล หรือ ซึมเศร้า ผู้ป่วยอาจได้รับยาตามดุลยพินิจของแพทย์