ขากระตุกขณะหลับ จึงไม่สามารถเข้าสู่ภาวะหลับลึกได้ ตื่นเช้ามารู้จะสึกง่วงนอนตลอดวัน
ภาวะขากระตุกขณะหลับ คือ การกระตุกของขาซ้ำๆ ขณะนอนหลับ หรือ PLMD (Periodic Limb Movement Disorder) ผู้ป่วยอาจตื่นตอนกลางคืนหลายครั้งจากการที่ขากระตุก เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แม้จะเป็นอาการที่คล้ายกับไม่ได้มีอันตรายมากนัก แต่ที่จริงแล้วเป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม ทำให้สมองมีการตื่นตัวบ่อย ๆ ขณะหลับ ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าสู่ภาวะหลับลึกได้ มักมีอาการเหมือนคนนอนไม่เต็มอิ่ม ง่วงนอนในเวลากลางวัน ภาวะนี้มักจะทราบโดยการสอบถามจากคนที่นอนข้างกัน
อาการของ ภาวะขากระตุกขณะหลับ
-มีอาการขากระตุกเป็นพัก ๆ ขณะนอนหลับ เกิดได้ทั้งขาข้างเดียวและสองข้าง รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ
-หากมีอาการจะเกิดการกระตุกเป็นจังหวะซ้ำ ๆ ประมาณ 20-40 วินาที ซึ่งระยะเวลาของอาการจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล
-ความรุนแรงมีตั้งแต่ระดับกระดิกเบา ๆ ที่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ไปจนถึงเกิดการสะบัดอย่างรุนแรง
-ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมสะดุ้งตื่นตอนกลางคืนบ่อยครั้ง ส่งผลต่อคุณภาพการนอน จากความไม่สบายตัว หรือ รู้สึกเหนื่อย
ทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง
-ตื่นเช้ามามีอาการเหมือนคนนอนไม่เต็มอิ่ม ง่วงนอนในเวลากลางวัน ประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ลดลง เกิดอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
สาเหตุของ ภาวะขากระตุกขณะหลับ
-อาจเกิดจากโรค หรือ อาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น โรคลมหลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคขาอยู่ไม่สุข
-อาการแทรกซ้อนจากภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต
-โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โรคที่เกี่ยวกับพัฒนาการทางร่างกาย
-การได้รับผลกระทบจากการรับยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาแก้แพ้ ยาระงับประสาท ยารักษาโรคจิตเภท บางชนิด
-ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ร่างกายนอนหลับได้ไม่ปกติ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ก่อนนอน
ความเครียด ความวิตกกังวล ฯลฯ
-ขณะตั้งครรภ์ คนท้องจะมีอาการรุนแรงขึ้นได้โดยเฉพาะช่วง สองไตรมาสหลัง
-โรคทางพันธุกรรมและพัฒนาการทางร่างกาย เช่น กลุ่มอาการวิลเลียม โรคสมาธิสั้น
วิธีรักษา ภาวะขากระตุกขณะหลับ
-เริ่มจากการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กให้มากขึ้น รวมถึงอาหารที่มีกรดโฟลิคสูง เพราะหากมีธาตุเหล็กและกรดโฟลิคในเลือดค่อนข้างต่ำ อาจส่งผลให้เกิดภาวะขากระตุกขณะหลับได้
-ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดเครื่องดื่มจำพวกที่มีส่วนประกอบคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบเนื่องจากคาเฟอีนอาจมีส่วนทำให้อาการของภาวะนี้รุนแรงยิ่งขึ้น
-งดออกกำลังกายที่ใช้พลังงานมากเกินไป
ภาวะขากระตุกขณะหลับ ถ้าไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ และ ไม่รุนแรง อาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้นเพียงบางครั้ง แต่ถ้าเกิดอาการกระตุกอย่างรุนแรงและบ่อยมาก จนส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษา ซึ่งการรักษาจะมีตั้งแต่เสริมเรื่องการกิน ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไปจนถึงขั้นใช้ยาเพื่อรักษา