โรคผิวหนังในหน้าหนาว โรคผิวหนังที่พบบ่อยในช่วงฤดูหนาว
1.โรคสุกใส หรืออีสุกอีใส
อาการ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ ต่อมาจะเริ่มมีตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นตามผิวหนัง กลุ่มคนที่มีความเสี่ยง โดยมากจะเกิดกับเด็กเล็กๆ วัยรุ่น จนถึงในวัยหนุ่มสาว แต่ก็มีเกิดกับผู้ใหญ่ได้บ้าง ซึ่งหากเกิดกับผู้ใหญ่ อาการของโรคมักจะรุนแรง และมีโรคแทรกซ้อน มากกว่าในเด็ก หรือในวัยหนุ่มสาว สามารถติดต่อได้ทางอากาศ น้ำมูก น้ำลาย สัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสโดยตรง หรือการใช้ของร่วมกับผู้ป่วย
2.โรคงูสวัด
อาการ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ ปวดแปล๊บหรือปวดแสบ หรือปวดแสบร้อนในบริเวณที่เป็น จากนั้นจะเริ่มมีตุ่มน้ำใสๆ เป็นกระจุกปนปื้นแดง พบได้บ่อยบริเวณลำตัว แต่ก็สามารถเป็นได้ในบริเวณอื่น ๆ และเมื่อหายแล้ว เชื้อจะยังอยู่ในร่างกายตลอดไป หลบอยู่ตามปมประสาท รอเวลาร่างกายอ่อนแอ ไวรัสที่แฝงอยู่จะกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของโรคงูสวัด
3.โรคเริม
อาการ มีไข้ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หากเคยเป็นมาแล้วสามารถเป็นได้อีก หากเกิดภาวะเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ หากเคยเป็นมาบ่อย ๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงเจ็บๆ คันๆ เท่านั้น และมักมีประวัติเครียด พักผ่อนไม่พอ ร่างกายอ่อนแอก่อนที่ตุ่มน้ำจะขึ้น เริมจะมีลักษณะเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำขนาดเล็ก ๆ พบได้บ่อยที่บริเวณเนื้ออ่อน ๆ อย่างเช่น ริมฝีปาก อวัยวะเพศ และก้น ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นซ้ำ ๆ บริเวณเดิม ๆ
4.โรคหัด
อาการ มีไข้สูง ไอมาก ตาแดง คล้ายเป็นหวัด ต่อมาจะมีผื่นแดงขนาดเล็ก ๆ ขึ้นตามแขน มักเกิดขึ้นในเด็กเล็ก ช่วงอายุประมาณ 1 ปี ถึงช่วงวัยประถมศึกษา โรคหัดมักติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ
5.โรคหัดเยอรมัน
อาการ มีไข้ต่ำ ๆ ร่วมกับอาการปวดเมื่อยตามตัว และจะมีผื่น แดงเป็นปื้นขึ้นที่หน้า และขึ้นเต็มตัวภายใน 1 วัน สามารถติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ หากเกิดขึ้นกับสตรีมีครรภ์อาจทำให้ทารกพิการได้
6.โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
อาการ เป็นผื่นแดง แห้ง ลอกและมีอาการคันผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณข้อพับแขน ขา ใบหน้า พบได้แทบทุกฤดูกาล แต่ในช่วงฤดูหนาวผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีโอกาสเกิดมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันตามร่างกายอย่างรุนแรง หากเกาจะทำให้เกิดแผลถลอกและติดเชื้อได้
7.ผื่นผิวหนังอักเสบ (Seborrtheic dermatitis)
อาการ เป็นผื่นแดง มีสะเก็ด เป็นมัน ๆ โดยมากจะเกิดบริเวณร่องข้างจมูก หว่างคิ้ว หน้าหู และหนังศีรษะ โดยเฉพาะหน้าหนาวยิ่งทำให้ผิวแห้ง จึงทำให้ผื่นชนิดนี้มีโอกาสเกิดได้มากขึ้น ผิวจะมีลักษณะแห้ง ลอก คัน แดง แนะนำให้ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว หรือทาครีมคอร์ติโซนเฉพาะบริเวณที่ผิวมีอาการอักเสบ คัน รอยแดง
8.เชื้อรา กลาก (ring worm หรือ tinea)
อาการ เกิดที่ผิวหนังชั้นนอกสุด อย่างเช่น คอ ลำตัว แขนขา ศีรษะ เล็บ ส่งผลให้ผิวหนังมีเกิดการระคายเคือง แห้ง และคัน ติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรง และติดต่อง่าย วิธีที่ดีที่สุดในการรักษา คือ ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ ที่ปราศจากน้ำหอมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง หรือทาด้วยขี้ผึ้งที่ใช้รักษาโรคกลากโดยเฉพาะ
9.โรคสะเก็ดเงิน
อาการ ผิวจะมีลักษณะแห้ง ลอก เป็นขุย บางรายอาจเกิดการอักเสบ แดง คัน หากเริ่มมีตุ่มสีแดง ๆ เล็ก ๆ ขึ้นบริเวณผิวหนังและค่อย ๆ ลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย อย่างเช่น ศีรษะ หัวเข่า มือ และเท้า ต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
10.โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย
อาการ ส่วนใหญ่มักจะส่งผลกับใบหน้า ใบหน้าจะเกิดรอยแดง (ในบางรายอาจตุ่มหนอง ขนาดเล็ก ๆ ขึ้นด้วย) นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อดวงตา อย่างเช่น ตาแห้ง ตาแดง เปลือกตาแดง เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นเมื่อผิวสัมผัสกับสภาพอากาศที่รุนแรง
11.โรคเรเนาด์
อาการ เกิดขึ้นจากการตีบตันของหลอดเลือดแดง ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ส่งผลให้นิ้วมือ และนิ้วเท้าเกิดอาการชา และมีอาการปวดเมื่อยนิ้วมือและนิ้วเท้าเริ่มอุ่นขึ้นหลังจากสัมผัสกับอากาศที่หนาวเย็น สามารถป้องกันได้ด้วยการสวมถุงมือและถุงเท้าเพื่อไม่ให้นิ้วมือและนิ้วเท้าสัมผัสกับความหนาวเย็น ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมากกว่านี้ อาจต้องใช้ยาขยายหลอดเลือดเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
12.ลมพิษเย็น
อาการ เป็นปฏิกิริยาการแพ้ต่อความเย็น อย่างเช่น มือบวมเมื่อสัมผัสกับของเย็น หรืออากาศเย็น ริมฝีปากบวมเมื่อรับประทานทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มเย็น ๆ