ดอกดาหลา
ดาหลาจัดเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน เหง้านี้จะเป็นบริเวณที่เกิดของหน่อดอก และหน่อต้น ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบซ้อนกันแน่นคล้ายข่า เรียกว่าลำต้นเทียม
โดยลำต้นเทียมที่อยู่เหนือดินจะมีสีเขียวเข้มสูงประมาณ 2-5 เมตร ใบออกเป็นใบเดี่ยวมีลักษณะคล้ายใบข่าเป็นรูปทรงยาวเรียว ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบเข้าหาก้านใบ
ใบกว้างราว 15-20 เซนติเมตร ยาวราว 30-40 เซนติเมตร ไม่มีก้านใบ ใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมันผิวใบเกลี้ยง
ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวเป็นช่องอกขึ้นจากเหง้าใต้ดินก้านดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร และยาว 50-150 เซนติเมตร
ส่วนกลีบดอกจะหนา ผิวเรียบเป็นมันวาวคล้ายพลาสติก กลีบดอกด้านนอกมีขนาดใหญ่ แล้วค่อยๆ ลดขนาดลงเข้าสู่ด้านใน ตรงศูนย์กลางดอกเป็นเกสร เกาะติดกันเป็นกลุ่ม ใบประดับรอบนอกแผ่น ใบประดับชั้นใน มีขนาดลดหลั่นกัน
เกสรเพศผู้ที่เป็นมันสีเลือดหมูเข้ม ขอบขาว หรือ เหลือง เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี 1 อัน อันเรณูสีแดง และเมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดความกว้างประมาณ 10-16 เซนติเมตร
ส่วนสีของดอกนั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์โดยในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ดอกสีชมพู สีแดง สีขาว และสีชมพูอ่อน ผลรูปกลม มีขนนุ่มข้างในมีเมล็ดสีดำหลายเมล็ด
ประเภทการใช้ประโยชน์
ดอก มีสรรพคุณทางยาในการช่วยขับลมและแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้ เนื่องจากมีรสเผ็ดร้อน อีกทั้งยังใช้แก้โรคลมพิษและโรคผิวหนังได้อีกด้วย
ดอกดาหลายังสามารถนำมาทำเป็นอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งต้มจิ้มน้ำพริก ทำแกงส้ม แกงจืด แกงเผ็ด แกงกะทิ และผสมในข้าวยำที่เป็นอาหารเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของชาวปักษ์ใต้
หรือบางแห่งก็นำดอกดาหลาไปแปรรูปเป็นน้ำสมุนไพร ไวน์สมุนไพร น้ำส้ม น้ำยาทำความสะอาด หรือแม้แต่นำไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี
LOMA 🐬🐬