ความสำเร็จที่เรียนรู้ได้
มีใครเคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางคนถึงสามารถรับมือกับวิกฤตได้ทุกสถานการณ์ด้วยความนิ่งสงบ ในขณะที่บางคนกลับลนจนตัดสินใจอะไรไม่ได้เลย?
คำตอบคือคนประเภทแรกจะมีสิ่งที่เราเรียกว่า ‘Resilience’
[ แล้ว Resilience คืออะไร? ]
Resilience หรือความยืดหยุ่นทางจิตใจ คือทักษะที่ทำให้เรายืนหยัดท่ามกลางอุปสรรคในชีวิตและช่วยให้เราลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งหลังจากผ่านความล้มเหลวหรือเหตุการณ์เลวร้ายมา
อุปสรรคเหล่านั้นจะเป็นอะไรก็ได้ที่ส่งผลต่อชีวิตเรา ไม่ว่าจะตกงาน ปัญหาเรื่องเงิน ความเจ็บป่วย การหย่าร้าง หรือแม้กระทั่งภัยธรรมชาติ ในขณะที่คนบางกลุ่มเลือกที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยการหลีกเลี่ยงหรือเลือกจมอยู่กับอารมณ์ทางลบจนเกิดพฤติกรรมที่ทำร้ายตัวเอง คนที่มี Resilience จะกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาและพยายามหาทางแก้ไขมัน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนกลุ่มนี้จะมีอารมณ์เศร้า เครียด หรือวิตกกังวลน้อยกว่าคนอื่น เพียงแต่คนกลุ่มนี้จะมีวิธีจัดการปัญหาที่เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตัวเองจนดูเหมือนรับแรงกดดันได้ดีกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง
คนที่มี Resilience มักจะมีลักษณะดังนี้
- มองเห็นคุณค่าในความสามารถของตัวเอง
- รู้จักการวางแผนโดยยึดตามความเป็นจริง
- สื่อสารเก่ง
- มองว่าตัวเองเป็นนักสู้
- มีความฉลาดทางอารมณ์และจัดการอารมณ์ได้ดี
[ ทำอย่างไรถึงจะมี Resilience ]
คนบางคนก็เกิดมาพร้อมกับบุคลิกภาพที่ส่งผลให้รับมือกับอุปสรรคได้ดีกว่าคนอื่น แต่ก็ใช่ว่าคนที่ไม่มีจะไม่สามารถเรียนรู้และพัฒนาจนมี Resilience
แทนที่จะโฟกัสแต่ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้หรือมองว่าอุปสรรคนั้นใหญ่โตในระดับที่เราไม่มีทางก้าวพ้นไปได้ ลองเปลี่ยนมาโฟกัสกับก้าวเล็กๆ ที่พอจะบรรเทาปัญหาลงได้แล้วค่อยๆ แก้ไปทีละส่วนดีกว่า
การมีคนรอบข้างที่เราเชื่อใจและสามารถบอกเล่าความรู้สึกให้ฟังได้เป็นสิ่งสำคัญในการสร้าง Resilience การได้ระบายความยากลำบากที่กำลังเผชิญอยู่อาจไม่ได้ทำให้ปัญหานั้นหายไป แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้เรารู้สึกอุ่นใจที่ยังมีคนคอยอยู่ข้างๆ เราในช่วงเวลาที่เราต้องการกำลังใจมากที่สุด นอกจากนั้น การได้ปรึกษาพูดคุยกับคนอื่นๆ ยังทำให้ได้แนวคิดหรือไอเดียใหม่ๆ ในการจัดการปัญหาอีกด้วย
#ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราควบคุมได้
เวลาเจอเข้ากับวิกฤตที่หนักหน่วงก็เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกว่าทุกอย่างอยู่เหนือการควบคุม แต่แทนที่จะมัวคิดอยากย้อนเวลากลับไปแก้ไขสิ่งที่ทำลงไป ลองเปลี่ยนเป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราพอจะควบคุมได้ดีกว่า เพราะไม่ว่าสถานการณ์จะดูเลวร้ายขนาดไหน ในท้ายที่สุดก็ย่อมมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสมอ
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก Resilience หรือความยืดหยุ่นทางจิตใจได้กลายเป็นทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีใครอยากเจอความลำบาก ไม่มีใครอยากล้มจนได้แผล แต่ปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะงั้น ทางเลือกที่ดีที่สุดจึงเป็นการเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อให้เวลาที่ล้ม เราจะได้กลับมาลุกขึ้นแล้วเดินหน้าต่อให้เร็วที่สุด