กลัวการขาดมือถือ เล่นมือถือทั้งวัน วันไหนไม่ได้เล่นเหมือนจะขาดใจ คุณอาจเป็น “โนโมโฟเบีย (Nomophobia)”
ตั้งแต่ลืมตาตื่นนอนขึ้นมาใครที่รีบคว้าโทรศัพท์มือถือมาใช้งานทันที หรือ นอนหลับไปทั้งที่โทรศัพท์มือถือยังคาอยู่ในมือ และ ตลอดทั้งวันมักจดจ่ออยู่กับการ รับ-ส่ง ข้อความต่าง ๆ โดยเฉพาะคนที่ชอบถ่ายรูป แชร์ อัพเดต ในโซเชียลมีเดียลทุกวัน แน่นอนว่าถือเป็นอาการเสพติดโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนอย่างไม่ต้องเดา หากวันไหนมีเหตุให้ต้องงดเล่นแล้วจะมีอาการกังวลใจเกินกว่าเหตุ จะเรียกอาการนี้ว่า “โนโมโฟเบีย”
คำว่า “โนโม” เป็นคำที่ใช้เรียกแทน โทรศัพท์มือถือ ส่วนคำว่า “โฟเบีย” แปลว่า กังวลอย่างมากต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกังวลมากเกินกว่าเหตุ จึงเรียกรวมกันเป็น “โนโมบายโฟนโฟเบีย” “No-Mobile-Phone-Phobia”
โนโมโฟเบีย (Nomophobia) คือ กลุ่มอาการกลัวการขาดโทรศัพท์ กังวลใจ และ วิตกกังวลกับการไม่มีโทรศัพท์ใช้ รู้สึกว่าโทรศัพท์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ในทางการแพทย์นับว่าเป็นอาการ ซึ่งยังไม่นับว่าเป็น “โรค”
พฤติกรรมที่เข้าข่ายติดโทรศัพท์มือถือ
- หมกมุ่นอยู่กับการเช็คข้อความในโทรศัพท์มือถือ ดูหน้าจอ ใช้โทรศัพท์มือถือตลอดเวลา แม้ในขณะที่ทำกิจกรรมอื่น เช่น กินข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถ นั่งรอรถโดยสาร เป็นต้น
- เมื่อได้ยินเสียงแจ้งเตือน จะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเช็คทันที แม้จะทำงานหรือทำกิจกรรมใดอยู่ก็ตาม
- รู้สึกอุ่นใจที่มีโทรศัพท์มือถืออยู่ข้างกายตลอด
- วางโทรศัพท์มือถือไม่เกิน 5 นาทีก็จะหยิบขึ้นมาเล่นอีก
- หากลืมโทรศัพท์มือถือ ชั่วโมงแรกที่รู้ตัวว่าลืมโทรศัพท์จะรู้สึกมีความกังวลใจมาก
- ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลย ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว หรือ คุยกับคนที่นั่งอยู่ตรงหน้า
- ห้ามใจไม่ให้เล่นโทรศัพท์ภายใน 1 ชั่วโมงไม่ได้
ลองเช็กดูว่าถ้าใครมีอาการเหล่านี้แสดงว่ามีความวิตกกังวลใจเกินกว่าเหตุ เพราะความเป็นจริงการไม่มีโทรศัพท์มือถือแค่ 1 วัน ไม่ได้สร้างปัญหามากมายขนาดนั้น ยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตลอดทั้งวัน
ผลกระทบของการติดโทรศัพท์มือถือ
1.บางคนอยู่ในที่แสงไม่พอ และ ใช้งานโทรศัพท์มือถือที่ต้องใช้แสงจ้า จะส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา เช่น ปวดตา ตาล้า ตาแห้ง ตามัว หากทำจนติดนิสัยในระยะยาว จะเสี่ยงทำให้จอประสาทตาเสื่อม หรือ สายตาสั้น
2.ปัญหาเรื่องสมาธิเพราะ ตัวภาพและจอจะรบกวนทำให้ระบบสมาธิลดลง สำหรับเด็ก ๆ จึงแนะนำว่าไม่ควรเล่นมากเกินไป เนื่องจากอยู่ในวัยที่กำลังพัฒนาสมาธิ ส่งผลให้มีปัญหาในเรื่องสมาธิสั้น ส่งผลให้เด็กหลายคนอารมณ์ร้อนและขี้หงุดหงิดมากขึ้น
3.การเล่นเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายค้างอยู่ในท่าที่เล่น ไม่ได้ขยับร่างกาย จะเกิดอาการเกร็งโดยไม่รู้ตัว ทำให้นิ้วล็อก ปวดเมื่อยคอ บ่าไหล่ ถ้าเล่นนาน ๆ จะปวดศีรษะตามมา และ เสี่ยงต่อการที่เส้นประสาทถูกกดทับ หรือ หมอนรองกระดูกเสื่อมได้ จนเป็นเหตุให้เกิดอาการชาที่แขน มือไม่มีแรง
4.ในเรื่องของอารมณ์ จะทำให้เป็นคนใจร้อนขึ้น ฉุนเฉียว โดยไม่รู้ตัว จากการที่ต้องตอบสนองกับโทรศัพท์มือถือทันที หากมีข้อความ หรือ การแจ้งเตือนใด ๆ ปรากฏบนหน้าจอ
อาการโนโมโฟเบียไม่ได้เป็นโรครุนแรงที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา แค่ปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันของตัวเองหากิจกรรมอื่น ๆ ทำ
1.เปลี่ยนการพักผ่อนด้วยการเล่นเกม ฟังเพลง ดูหนังในโทรศัพท์มือถือ ให้ออกไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ ดูหนังที่โรงภาพยนตร์ เดินเล่นแถวระแวกบ้าน ทำงานฝีมือ อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ เป็นต้น
2.นั่งพูดคุยกับเพื่อน คนในครอบครัว คนรัก แบบเห็นหน้ากัน สร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกัน จับสัมผัสร่างกายของอีกฝ่าย ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน
การใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตไปแล้ว แต่หากมีการใช้งานที่มากเกินไป จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้ ดังนั้น ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจึงควรปรับพฤติกรรมในการเล่นโทรศัพท์ของตนเองให้มีเวลาที่เหมาะสม