ภาพถ่ายของโลกทั้งใบจากระยะที่ไกลที่สุดในประวัติศาสตร์
โลกของเรา คือดาวเคราะห์ที่มีขนาดกว้างใหญ่
โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความคุ้นเคยและความเข้าใจของมนุษย์
แต่ในทางดาราศาสตร์แล้ว โลกกลับเป็นเพียงดาวดวงเล็กๆดวงหนึ่ง
ที่มีขนาดไม่ได้แตกต่างหรือโดดเด่นมากนัก ที่ผ่านมา
มนุษย์ได้ใช้ความพยายามไปมากมายเพื่อสำรวจและทำความเข้าใจ
เกี่ยวกับดาวดวงนี้ ซึ่งรวมไปถึงโครงการอวกาศที่ทำให้เราได้เห็น
ได้เรียนรู้ และเข้าใจลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับโลกของเรา
และนี่คือผลงานภาพถ่ายของ 'โลก' จากยานอวกาศลำหนึ่ง
ซึ่งกลายเป็นภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงโด่งดังและน่าทึ่งเป็นอย่างมาก
นี่คือภาพที่ชื่อว่า 'เพลบลูดอต'
(Pale Blue Dot หรือ "จุดสีน้ำเงินซีด")
เป็นภาพถ่ายของโลก ถ่ายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533
โดยกล้องที่ติดตั้งบนยานสำรวจอวกาศวอยเอเจอร์ 1 ในขณะที่ยาน
อยู่ห่างจากโลกกว่า 6 พันล้านกิโลเมตร (40.5 หน่วยดาราศาสตร์)
ภาพถ่ายนี้เป็นส่วนหนึ่งของภาพชุดแฟมิลีพอร์เทริท (Family Portrait) ซึ่งเป็นภาพถ่ายระบบสุริยะ
ในภาพจะเห็นโลกเป็นจุดเล็กๆ ในอวกาศที่กว้างใหญ่ไพศาล
กึ่งกลางแถบแสงอาทิตย์ที่ถูกกระเจิงเนื่องจากเลนส์กล้อง โลกมีขนาดปรากฏต่ำกว่าหนึ่งพิกเซล
ยานวอยเอเจอร์ 1 ซึ่งได้ทำภารกิจหลักเสร็จสิ้นและกำลังเดินทางออกจากระบบสุริยะ
นักดาราศาสตร์และนักเขียน คาร์ล เซแกน ได้เสนอให้องค์การนาซา
ป้อนคำสั่งให้กล้องของยานวอยเอเจอร์ 1 หันกลับมายังจุดศูนย์กลางของระบบสุริยะ
และถ่ายภาพโลกผ่านอวกาศอันกว้างใหญ่เป็นภาพสุดท้าย
ระยะห่างระหว่างยานวอยเอเจอร์ 1 กับโลกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533
คำนวณโดยเครื่องมือ HORIZONS จาก Jet Propulsion Laboratory ของนาซา
คือ 40.472229 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 6,054,587,000 กิโลเมตร
ภาพโลกในขนาดเล็กจิ๋วนี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง
ที่ช่วยยืนยันว่าจักรวาลของเรานั้นกว้างใหญ่มากแค่ไหน