4 ปัญหาที่ผู้ว่า สงขลา ต้องเร่งแก้ไขด่วน
ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสพบและเสวนา กับพ่อเมืองสงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งโดยวิชาชีพ นักหนังสือพิมพ์ ก็ต้องถามไถ่ในเรื่อง แนวทางในการนำพา สงขลา ไปสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง อย่างไร เพราะวันนี้ สงขลา โดยเพาะหาดใหญ่นั้นถูกกระแสความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ จนทำให้ผู้คนหลายสาขาอาชีพ ยกเว้นข้าราชการ และ นักการเมือง ต่างรับรู้ได้ว่า ยากจนมากกว่าเดิม และมองไม่เห็นอนาคตของตนเอง ว่าจะสามารถ มั่นคง มั่งคั่ง ได้อย่างไร
แน่นอนในฐานะของ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ”พ่อเมือง” ตามนิยามศัพท์ที่ถูกเรียกขานมาแต่บุราญ จะนิ่งดูดายกับสถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้ ซึ่ง”พ่อเมือง” แต่ละท่านที่ผ่านมา ก็พยายามที่จะ ทำให้สงขลา และ หาดใหญ่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของการ ส่งเสริม พัฒนา อาชีพ แก้ปัญหาการค้า การท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาให้มากๆ เพื่อที่จะได้”เม็ดเงิน”มาหล่อเลี้ยงผู้คนในหลายสาขาอาชีพ ให้”กระเตื้ยง”ขึ้นให้ได้
มี 4 ประเด็น ในการพูดคุย ที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ถือว่าเป็นประเด็นหลักของจังหวัดสงขลา
1 คือเรื่องของน้ำเค็มจากทะเลสาบที่ ”รุกไล่”เข้าสู่พื้นที่เกษตรกรของ 4 อำเภอของ จังหวัดสงขลา นั้นคือ ระโนด ,สทิงพระ, กระแสสินธุ์ และ สิงหนคร ซึ่งหากปีไหนน้ำท่าบริบูรณ์ เกษตรกรทั้ง 4 อำเภอของ หายใจโล่งออก พืชผลที่เพาะปลูก ให้ดอก ออกผล สร้างกำไรให้กับครอบครัว แต่ถ้าปีไหนน้ำท่ามีปัญหา น้ำเค็มก็รุกล้ำเข้ามาจน ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย หนีสิน ดอกเบี้ย ทับถมทวีคูน ซึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ 4 อำเภอ ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยการทำประตูปิดกั้นน้ำเค็ม เพื่อมิให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่เพาะปลูก ประตูกั้นน้ำไม่ใช่เขื่อน ไม่มีได้มีการสร้างสิ่งแปลกปลอมสำหรับการกั้นน้ำ อย่างที่มีหลายคนเข้าใจผิด เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็ต้องรอการขุดคลองอาทิตย์จาก สิงหนคร ไปยัง ระโนด ซึ่งแม้จะมีการดำเนินการอยู่ แต่เป็นไปด้วยความล่าช้า ต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะปัญหาการเวนคืน และเป็นงบประมาณผูกพัน
ปัญหาที่ 2 คือเรื่องการค้าธุรกิจการท่องเที่ยว ของเมืองหาดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันในหลายภาคส่วน เอกชนจะต้องเป็นผู้นำเสนอทางออก ส่วนราชการจะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เป็นไปในยุคสมัย เพราะ หาดใหญ่ วันนี้ไม่ใช่หาดใหญ่ในอดีต ที่ดึงดูดผู้คนด้วย เรื่องของสินค้าหนีภาษี เรื่องของการท่องราตรี และเรื่องอื่นๆ ที่ วันนี้เป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว การที่จะให้ หาดใหญ่ กลับคืนมาเหมือนเก่าเป็นไปไม่ได้ มีแต่ต้องพัฒนาหาดใหญ่ให้ทันสมัยตามทันความเปลี่ยนแปลงของผู้คน หาดใหญ่ต้องมีจุดขายใหม่ ต้องมีคนรุ่นใหม่ในการริเริ่มทำในสิ่งใหม่ เพื่อสอดรับการสังคมที่เปลี่ยนไป และทัศนคติของผู้คนที่เปลี่ยนไป หาดใหญ่ ยังมี จุดขาย ยังมีสิ่งดีๆอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ อาหาร เรื่องของการสร้าง ที่ท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ และต้องช่วยกันทำให้คนมาเที่ยวหาดใหญ่ เมื่อมาแล้วต้องรู้ว่า หาดใหญ่มีอะไรดี อยู่ที่ไหน อย่างไร
ซึ่งไม่เฉพาะที่ หาดใหญ่ ที่ สงขลา ก็ต้องทำให้คนที่เข้ามายังเมืองสงขลา ต้องรู้ว่า มีอะไรดีที่สงขลา ซึ่งกำลังจะเริ่มทำก่อนในจุดที่มีความพร้อม ส่วนเรื่องของ หาดใหญ่ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ในการพูดคุยกับ ภาคเอกชน ที่มีหลากหลายองค์กร เพื่อให้มีทิศทางไปแนวเดียวกัน ซึ่งได้มอบให้รองฯอำพล เป็นผู้รับผิดชอบ
เรื่องที่ 3 คือเรืองเกษตรกรชาวสวน 12 อำเภอ ที่ทำสวยยางพารา สวนผลไม้ และอื่นๆ ที่จะต้องเริ่มตั้งแต่ให้เกษตรกรรับรู้ถึงข้อเท็จจริง เช่น ชาวสวนยางต้องรับรู้ว่า ราคายางจะไม่สูงกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การเป็นเกษตรกร ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการ ต้องมีความรู้ในเรื่องของการเกษตรแผนใหม่ ต้องรู้เรื่องการตลาด และต้องมีวิธีการแบ่งพื้นที่ในการทำการเกษตรที่ไปยึดติดกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้องเรียนรู้เรื่องของการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต และผลิตในสิ่งที่คุ้มทุน ตลาดต้องการ ซึ่งต้องมีการทำงานร่วมกันกับ หน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่
เรื่องที่ 4 ที่ได้ฟังจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา คือเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งใน จ.สงขลา ตั้งแต่ อำเภอระโนด จนถึง อ.เทพา ที่ต้องสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งทุกๆปี หากปล่อยไว้โดยไม่มีการแก้ปัญหา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว จะสร้างความเสียหาย ทั้งประชาชน และรัฐ ซึ่งในเรื่องนี้ เบื้องต้น ได้มีการศึกษาข้อมูลทางวิชาการ และให้มหาวิทยาลัยเข้ามาบทบาทในการทำแผน
ส่วนเรื่องอื่นๆ คือเรื่อง ความมั่นคงใน 4 อำเภอของสงขลา ที่ยังเกิดเหตุความรุนแรง และยังเป็นที่หลบซ่อน ที่บ่มเพาะ ของคนในขบวนการก่อการร้าย ซึ่งต้องดำเนินการร่วมกันกับฝ่ายความมั่นคง โดยจะให้ฝ่ายปกครองทำหน้าที่ให้เข้มข้นกว่าที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่าฝ่ายปกครองยังมีต้นทุนที่สร้างความเชื่อมั่นกับคนในพื้นที่ได้ดี
การค้าชายแดน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องเข้าไปดูแล และพูดคุยกับเอกชนผู้ประกอบการ นักลงทุนเพื่อหาแนวทางร่วมกัน โดยจังหวัดพร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน เพราะการค้าชายแดนมีต้นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งดูปัญหาอุปสรรคให้เห็นว่าจะต้องแก้ตรงไหน และต้องร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่าย
เรื่องทะเลสาบสงขลา เป็นอีกเรื่อง ที่มองเห็นถึงประเด็นปัญหามากมาย ตั้งแต่เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งแนวทางในการที่จะทำให้ ทะเลสาบสงขลา มีความสมบูรณ์มากกว่านี้ ซึ่งมีอยู่หลายแนวทางทั้งการขุดร่องน้ำ และอื่นๆ ซึ่งมีการศึกษาไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ
ทั้งหมดคือเรื่องการมองปัญหาของจังหวัดสงขลา จากผู้ว่าราชการจังหวัดคนล่าสุดของสงขลา ที่ย้ายข้ามฟากมาจากทะเล อันดามัน จังหวัดสตูล มายังเมือง 2 ทะเลสงขลา ซึ่งทั้งหมดที่ได้รับฟัง เห็นได้ว่าเป็นนักปกครองที่มีวิสัยทัศน์ มองปัญหาได้ชัดเจน จึงอยู่เพียงว่า จะนำ วิสัยทัศน์มาสู่การ ปฏิบัติ อย่างไร ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของเมืองสงขลา เพราะ สงขลา ถูกขนานนามว่าเป็น”เมืองปราบเซียน” ที่ นักปกครอง”มือดี” หลายท่าน มาด้วยความ”มาดมั่น” แต่กลับไปด้วยความ ผิดหวัง มาแล้วมากต่อมาก
แต่..อย่างไรเสียเชื่อว่าด้วยความเป็นคน”ติดดิน” รับฟังความเห็นต่างของทุกฝ่ายได้ จะเป็น”จุดแข็ง” ให้เกิดความร่วมมือจากภาคเอกชน และส่วนราชการอื่นๆ ที่ต่างมี”นาย” เป็นของตนเอง จะทำให้ การขับเคลื่อนนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาคนใหม่ เดินไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา