เมืองย่าโม ยกระดับการดูแล “สุขภาพจิต”ผู้ต้องขังกว่า 15,000 คน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เปลี่ยนความยาก เป็นง่าย
เมืองย่าโม ยกระดับการดูแล “สุขภาพจิต”ผู้ต้องขังกว่า 15,000 คน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เปลี่ยนความยาก เป็นง่าย
รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ลงนามความร่วมมือยกระดับการดูแลสุขภาพจิตผู้ต้องขังในจ.นครราชสีมาที่มี 15,000 กว่าคนให้ทั่วถึง ปลอดภัย ระหว่าง 6 เรือนจำ รพ.เครือข่าย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสปสช.เขต 9 ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เปลี่ยนจากความยากให้เป็นง่าย โดยใช้ระบบจิตแพทย์ทางไกลและโปรแกรมแอพพลิเคชั่นพิเศษ ผู้ต้องขังที่มีปัญหาทุกคนจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยจิตแพทย์ โดยไม่ต้องออกนอกเรือนจำ และดูแลต่อเนื่องจนอาการทุเลา ล่าสุดมีผู้ต้องขังป่วยทางจิต 258 คน
เช้าวันนี้ ( 28 ก.พ. 2563) ณ เรือนจำกลางนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการดำเนินการ “จัดระบบการแพทย์จิตเวชทางไกล หรือเทเล ซายไคตรี้ (Tele psychiatry)” เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพจิตผู้ต้องขัง ร่วมกันระหว่างหน่วยงานในจ.นครราชสีมา 5 ฝ่ายได้แก่ นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนคราชสีมา - ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)คู่เครือข่ายเรือนจำ 6 แห่ง ได้แก่รพ.มหาราชนครราชสีมา,รพ.เทพรัตน์นครราชสีมา,รพ.บัวใหญ่,รพ.ปากช่องนานา,รพ.สีคิ้ว และรพ.เดอะโกลเด้นท์เกท - ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ -ผู้บัญชาการ/ผู้อำนวยการเรือนจำ 6 แห่ง ประกอบด้วย เรือนจำกลางนครราชสีมา,เรือนจำกลางคลองไผ่, เรือนจำ อ.สีคิ้ว,เรือนจำอ.บัวใหญ่ ,ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมาและทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก อ.สีคิ้ว-ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 9 จ.นครราชสีมา
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า ผู้ต้องขัง เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเจ็บป่วยทางจิตหรือมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตมาก่อนต้องโทษ จะเสี่ยงต่อการกลับมาป่วยซ้ำได้สูง จากวิกฤติชีวิตของการต้องโทษ จะกระตุ้นให้เกิดความเครียด ทำให้อาการทางจิตกำเริบ การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการสนองนโยบายกรมสุขภาพจิตและจ.นครราชสีมา ให้เป็นไปตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพจิตผู้ต้องขังในเรือนจำที่อยู่ในจ.นครราชสีมาทั้งหมด 6 แห่ง รวม 15,707 คน ซึ่งในปี 2563 นี้มีผู้ต้องขังที่ป่วยทางจิตอยู่ระหว่างการรักษาฟื้นฟูรวม 258 คน คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของผู้ต้องขังทั้งหมด โดยป่วยเป็นโรคจิตเภท ซึ่งมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน มากที่สุดร้อยละ 45 รวมจำนวน 116 คน รองลงมาคือป่วยโรคซึมเศร้าร้อยละ 40 รวมจำนวน 103 คน และโรคจิตจากสารเสพติด เช่นสุรา ยาบ้า จำนวน 5 คน และอื่นๆเช่นพฤติกรรมก้าวร้าว จำนวน 34 คน
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า ความร่วมมือในการยกระดับการดูแลผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือเจ็บป่วยจากโรคทางจิตระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้ เน้นให้ผู้ต้องขังเข้าถึงบริการตรวจรักษาจากจิตแพทย์อย่างทั่วถึง ปลอดภัย และได้รับการดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพต่อเนื่องสม่ำเสมอจนถึงหลังพ้นโทษไปแล้ว โดยรพ.จิตเวชฯได้พัฒนาระบบบริการโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วย คือ ระบบการแพทย์จิตเวชทางไกลหรือเทเล ซายไคตรี้ (Tele psychiatry) เพื่อลดข้อจำกัดต่างๆ เปลี่ยนจากความยาก ให้ง่ายขึ้น เพิ่มความสะดวกปลอดภัยให้ทุกฝ่าย และพัฒนาโปรแกรมแอพพลิเคชั่น เพื่อใช้เชื่อมโยงการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะ(Prison Care Transition ) จะเป็นฐานข้อมูลการดูแลผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่สมบูรณ์แบบ โดยจะเชื่อมต่อโปรแกรมนี้ที่สถานพยาบาลของเรือนจำ 6 แห่ง กับห้องฉุกเฉินของรพ.แม่ข่ายที่ดูแลเรือนจำ และที่รพ.จิตเวชฯ
“ ในโปรแกรมแอพพลิเคชั่นนี้ จะมีระบบการตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตผู้ต้องขังรายใหม่ ระบบการรักษา และระบบเฝ้าระวังติดตามผลการใช้ยารักษาผู้ป่วย โดยในระบบการตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตจะเน้น 5 โรคหลักที่พบบ่อยได้แก่ โรคจิต โรคซึมเศร้า โรคติดสุราเรื้อรัง โรคจิตจากสารเสพติด และความเครียด หากพบว่ารายใดมีปัญหา จะใช้ระบบจิตแพทย์ทางไกล ซึ่งใช้ระบบวิดีโอคอล(Video call) โดยทีมจิตแพทย์ของรพ.เครือข่ายหรือรพ.จิตเวชฯ ทำการตรวจวินิจฉัยรักษาผู้ต้องขังในระบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องพาผู้ต้องขังออกนอกเรือนจำ และดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องจนอาการทุเลา ” นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้ได้ติดตั้งระบบจิตแพทย์ทางไกลและโปรแกรมแอพพลิเคชั่นที่เรือนจำ 2 แห่งแล้ว คือ 1.ที่เรือนจำกลางนครราชสีมากับรพ.จิตเวชฯ 2.ที่เรือนจำกลางคลองไผ่ และทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก อ.สีคิ้ว กับรพ.ปากช่องนานา อ.ปากช่อง อยู่ระหว่างขยายผลไปที่เรือนจำอ.สีคิ้ว อ.บัวใหญ่ และ ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา โดยจะขยายผลใช้ระบบเดียวกันนี้ในอีก 3 จังหวัดที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 ด้วย คือชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์
สำหรับข้อดีของโปรแกรมแอพพลิเคชั่นนี้ ใช้งานง่าย สามารถทำงานได้ขณะที่ไม่มีสัญญานอินเตอร์เน็ต ช่วยลดความเสี่ยงในการเดินทางของเจ้าหน้าที่เรือนจำ และลดระยะเวลาให้บริการในสถานพยาบาล