เกร็ดข้อมูล กินนร-กินรี
จาก กุณาลชาดก + อรรถกถาปหาราทสูตรที่ ๙ + จันทกินนรชาดก + อรรถกถาจันทนปูชนกเถราปทาน + ภัลลาติยชาดก + สุวรรณสามชาดก + ปุคคลวรรคที่ ๑ + อรรถกถา ตักการิยชาดก + อรรถกถา อัฏฐสัททชาดก + อรรถกถา อสิตาภุชาดก + อรรถกถา มโหสถชาดก + นิทานเรื่องท้าวสุตราชได้นางกินรีเปนชายา
กินนร-กินรี ตามบันทึกในพระไตรปิฎกกล่าวกันว่ามีรูปกายคล้ายมนุษย์ แต่ก็ยังพบว่าบ่อยครั้งถูกเรียกว่า เดรัจฉาน โดยทั่วไป มักออกแบบให้กินนร-กินรีมีกายครึ่งท่อนบนถึงระดับสะดือเหมือนมนุษย์ ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะมีข้อมูลระบุว่า กินรีสามารถทำหน้าที่เป็นแม่นมให้ทารก และสามารถอุ้มทารกไปอาบน้ำได้
ข้อมูลจาก กุณาลชาดก แบ่งประเภทกินนร(กึปุริสา)ออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ได้แก่ เทพกินนร จันทกินนรทุมกินนร
เทพกินนรนั้นยังไม่พบข้อมูล ส่วนทุมกินนรถูกระบุว่าเป็นกินนรที่อาศัยบนต้นไม้
จันทกินนร มีปรากฏมากที่สุดตามพระไตรปิฎกหลายหมวดด้วยกัน ซึ่งคำว่า จันทกินนร เป็นคำเรียกตามถิ่นที่อยู่ของพวกกินนรดังกล่าว เพราะกินนรกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในแดนหิมวันต์บนภูเขาสีเงินชื่อว่า จันทบรรพต และมีแหล่งหากินอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ซึ่งตั้งอยู่ที่ติดภูเขาจันทบรรพตนั่นเอง
จันทบรรพตเป็นภูเขาสีเงินขนาดย่อมที่มีรอยต่อมาจากขุนเขาไกลาสซึ่งเป็นขุนเขาสีเงินขนาดใหญ่ ที่ขุนเขาไกลาสมีสีเงินยามถูกแสงอาทิตย์ส่อง ก็เป็นเพราะขุนเขานี้อุดมไปด้วยแร่เงินอยู่ในเนื้อดินและทรายทั่วทั้งเขา เมื่อแร่เงินทั้งขุนเขากระทบแสงอาทิตย์จึงเกิดการสะท้อนเป็นประกายสีขาวเงินระยิบระยับสว่างตาแก่ผู้พบเห็น
แม่น้ำจันทภาคาเป็นแม่น้ำสายใหญ่และยาวมาก เมื่อกระทบแสงอาทิตย์ก็จะเปล่งแสงสว่างอย่างงามเป็นสีขาวเงินดุจรัศมีของดวงจันทร์ เพราะบริเวณริมฝั่งทั้งสองด้านของลำน้ำก็ประกอบด้วยพื้นทรายเนื้อละเอียดสีขาวเงินสะอาดดุจปูลาดด้วยไข่มุก ซึ่งชายหาดทรายขาวเงินสว่างดุจแสงจันทร์ของแม่น้ำจันทภาคานี้ก็เกิดจากบรรดาผงแร่เงินจากจันทบรรพตที่ไหลลงไปกองกันจนเกิดเป็นชายหาดนั่นเอง
ฝูงกินนรที่อยู่ ณ จันทบรรพต เวลาฤดูฝนจะไม่ลงมา พากันอยู่ที่ภูเขา ถึงฤดูแล้งจึงพากันลงมา
พื้นที่ซึ่งพวกกินนร-กินรี ใช้พักอาศัยและเที่ยวเล่น(ทั้งแบบเดี่ยวและไปเป็นคู่) ได้แก่
ภูเขา ซอกเขา และถ้ำบนภูเขา(ซึ่งเป็นที่พักอาศัยอยู่กิน)
พื้นที่บนภูเขาซี่งเกลื่อนกลาดไปด้วยใบไม้(ปูลาดด้วยใบไม้) มีกลิ่นหอมน่ารื่นรมย์ และมีสัตว์ร้ายสัญจรไปมา
พื้นที่บนภูเขาซี่งเกลื่อนกลาดไปด้วยดอกไม้(ปูลาดด้วยดอกไม้) มีกลิ่นหอมน่ารื่นรมย์ และมีสัตว์ร้ายสัญจรไปมา
แม่น้ำที่เกลื่อนกล่นไปด้วยดอกไม้ มีกลิ่นหอม และสายธารใสไหลอย่างเอื่อยๆ
ยอดภูเขาในแดนหิมวันต์ทั้งหลายที่มีสีเขียวชอุ่ม ประกอบสำเร็จด้วยแก้วมณี(เช่น แร่นิล)
ยอดภูเขาในแดนหิมวันต์ทั้งหลายที่มีสีเหลืองอร่าม ประกอบสำเร็จด้วยแร่ทองคำ
ยอดภูเขาในแดนหิมวันต์ทั้งหลายที่มีสีแดง ประกอบสำเร็จด้วยมโนศิลา
ยอดภูเขาในแดนหิมวันต์ทั้งหลายที่สูงตระหง่าน(ตุงคบรรพต)
ยอดภูเขาในแดนหิมวันต์ทั้งหลายที่มีสีขาวโพลน ประกอบสำเร็จด้วยแร่เงิน
ยอดภูเขาในแดนหิมวันต์ทั้งหลายที่งามวิจิตร ประกอบสำเร็จด้วยรัตนชาติทั้ง๗
ขุนเขาคันธมาทน์ อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยแห่งหมู่เทพเจ้า และปกคลุมไปด้วยโอสถนานาชนิด
นอกจากนี้ ยังมีแม่น้ำสายอื่นๆที่พวกกินนร-กินรีชอบเที่ยวไป ได้แก่
มัลลคีรีนที(มาลาคิรีนที-แม่น้ำแห่งภูเขาดอกไม้)
ปัณฑรกนที(แมน้ำบริสุทธิ์)
ตรีกูฏนที(แม่น้ำ๓ยอดเขา)
เหมวดีนที(แม่น้ำที่เป็นแหล่งของขัณฑสกร[โบกขรมธุ-น้ำผึ้งใบบัว/น้ำหวานบนใบบัว]ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อดอกไม้บาน กล่าวคือ ลมพัดหอบละอองเกสรจนฟุ้งเป็นเกลียวไปตกบนใบกอบัว และในใบกอบัวนั้นก็มีหยาดน้ำตกใส่เป็นหยดๆ หยดน้ำบนใบบัวกลิ้งไปมาจึงคลุกเคล้ากับเกสรดอกไม้ และถูกความร้อนของแสงอาทิตย์ทำให้สุกจนมีสภาพเป็นเหมือนน้ำตาลเคี่ยวและก้อนน้ำตาลกรวด)
ซึ่งแม่น้ำเหล่านี้ล้วนมีน้ำใสเย็นสนิท
เหล่ากินนร-กินรี กินดอกไม้และเกสร(รวมถึงน้ำหวานจากดอกไม้)เป็นอาหาร มีเปลือกไม้ ใบไม้ สาหร่าย ฯลฯ เป็นเครื่องนุ่งห่ม และใช้หินบดไม้หอมชนิดต่างๆ เช่น ไม้จันทน์และไม้กฤษณา เป็นอาทิ เพื่อนำน้ำที่ได้จากการบดไม้เหล่านั้นมาประพรมร่างกายให้มีกลิ่นหอม
กินนร-กินรี มีร่างกายที่ค่อนข้างบอบบาง พละกำลังน้อย นิสัยค่อนข้างขลาด จึงเป็นพวกรักสงบ(ค่อนไปทางสุขนิยมซะมาก) ชอบเที่ยวเล่นเก็บดอกไม้นานาชนิด เหนี่ยวเถาชิงช้า โปรยปรายกลีบดอกไม้ลงในคุ้งน้ำ(ตื้นๆ) ลงเล่นน้ำแล้วนำสาหร่ายดอกไม้มานุ่งห่ม ตกแต่งที่นอนเหนือหาดทรายสีเงินด้วยกลีบดอกไม้ เที่ยวร้องรำทำเพลง และยังชอบประดิษฐ์เครื่องดนตรีไว้ประกอบการแสดง เช่น ขลุ่ย เป็นต้น(การร้องรำทำเพลงและประดิษฐ์เครื่องดนตรีเป็นทักษะความสามารถพิเศษที่พวกกินนร-กินรีเชี่ยวชาญมาก) และเนื่องจากกินนร-กินรีมีอายุยืนถึงพันปี และไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมากล้ำกราย พวกกินนร-กินรีจึงเพลิดเพลินกับชีวิตได้อย่างเต็มที่โดยไม่ค่ยสะทกสะท้านต่อเรื่องที่เกิดขึ้นรอบตัว(ซึ่งมักทำให้เกิดเหตุร้ายตามมาโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน)
ด้านการสื่อสาร กินนร-กินรีนั้นรู้ภาษามนุษย์ แต่ไม่นิยมใช้ภาษามนุษย์ในการสื่อสาร ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพวกกินนรด้วยกันจึงเป็นเน้นที่ภาษากายเป็นหลัก(น่าจะแนวเดียวกับในเรื่องพิภพวานร) ซึ่งเหตุที่พวกกินนร-กินรีไม่นิยมใช้ภาษามนุษย์นั้น มีอยู่เป็นเพราะเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการ คือ
๑.ไม่ประสงค์จะพูดเท็จ
๒.ไม่ประสงค์จะพูดตู่ผู้อื่นด้วยคำไม่จริง
ความปากหนักของพวกกินนรนั้น กล่าวกันว่า มีราษฎรนำกินนรตัวหนึ่งมาแสดงแก่พระเจ้าธรรมาโศก พระองค์มีรับสั่งว่า พวกท่านจงให้มันพูด กินนรไม่ปรารถนาจะพูด
บุรุษคนหนึ่งคิดว่า เราจักให้กินนรนี้พูด จึงพากินนรลงไปยังปราสาทชั้นล่าง ตอกหลัก ๒ หลัก แล้วยกหม้อข้าวขึ้นตั้งบนหลักทั้งสองนั้น ทว่าหม้อข้าวไม่สามารถตั้งให้มั่นคงได้จึงตกลงข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง กินนรเห็นดังนั้น ก็กล่าวคำเพียงสั้นๆว่า ตอกหลักเพิ่มอีกหลักหนึ่ง จะไม่เหมาะหรือ?
เวลาต่อมา เขานำกินนรมาแสดงอีก ๒ ตัว พระราชามีรับสั่งว่า พวกเจ้าจงให้มันพูด กินนรทั้งสองนั้นก็ไม่ปรารถนาจะพูด
บุรุษคนหนึ่งคิดว่า เราจักให้กินนรทั้งสองนี้พูด จึงได้พากินนรเหล่านั้นไปตลาด ที่ตลาดนั้นกินนรตัวหนึ่งได้เห็นมะม่วงสุกและปลา กินนรอีกตัวหนึ่งได้เห็นผลมะขวิดและผลไม้มีรสเปรี้ยว
กินนรตัวหนึ่งพูดว่า เพื่อนยาก พวกมนุษย์เคี้ยวกินของเหล่านี้(มีมะม่วงสุกและปลาเป็นต้น) พวกเขาจะไม่เป็นโรคกลากได้อย่างไรเล่า?
กินนรอีกตัวหนึ่งพูดว่า มนุษย์เหล่านี้อาศัยปลาและผลไม้นั้น จะไม่เป็นโรคเรื้อนได้อย่างไรเล่า?
กินนรทั้งหลายแม้ไม่พูดภาษามนุษย์ แต่เมื่อเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ อย่างดังกล่าวมานี้ จึงพูดแล ฯ
ด้วยเหตุนี้ กินนร-กินรี จึงไม่ชอบพูดภาษามนุษย์และไม่ยอมพูดให้มนุษย์ได้ยินโดยง่าย เพราะไม่ชอบโกหก
และมีอยู่หลายครั้งที่ความดื้อเพราะปากหนักของพวกกินนรก็พาให้เฉียดตายมาแล้ว เช่น
ครั้งหนึ่ง บุตรพรานชาวกรุงสาวัตถีไปยังแดนหิมวันต์ และใช้อุบายอย่างหนึ่งจับกินนรคู่สามีภรรยามาได้ถวายแด่พระราชา(ใช้อุบายใดจับมายังมิแจ้ง แต่คาดว่า หากจับได้ซักตัวหนึ่ง คู่ครองที่เหลืออีกตัวหนึ่งก็จะยอมให้จับโดยง่าย เพราะกินนรคู่สามีภรรยารักกันมากและจะไม่ทิ้งคู่ชีวิตของตนเด็ดขาดถ้าความตายไม่มาพราก)
พระราชาทอดพระเนตรเห็นกินนรอันมิเคยทอดพระเนตรก็ทรงพอพระหทัย ตรัสถามว่า พ่อพราน พวกนี้มีคุณอะไร
นายพรานกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พวกเหล่านี้ร้องเพลงไพเราะ ฟ้อนรำยวนใจ พวกมนุษย์ไม่รู้ที่จะร้องรำได้อย่างนี้เลย พระเจ้าข้า
พระราชาประทานทรัพย์เป็นอันมากแก่นายพราน แล้วตรัสกะกินนรทั้งคู่ว่า ร้องรำไปซิ
ทว่า กินนรทั้งคู่เกรงว่าหากกล่าวมากไปก็จะเป็นมุสาวาทได้ ดังนั้นแม้จะถูกพระราชาตรัสซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ไม่ยอมร้องรำ พระราชาทรงกริ้ว จึงสั่งให้นำกินนรตัวหนึ่งไปย่างไว้เป็นมื้อเย็น และอีกตัวหนึ่งเอาไว้ย่างเป็นมื้อเช้า
กินรีได้ยินจึงคิดว่า พระราชากริ้วแล้ว คงจักให้ฆ่าเสียโดยไม่ต้องสงสัย บัดนี้เป็นเวลาที่ต้องพูดกันละ จึงกล่าวว่า คำทุพภาษิตทั้งแสนคำ ก็ไม่ถึงแม้ส่วนเสี่ยวของคำสุภาษิต กินนรรังเกียจคำทุพภาษิตจึงเศร้าหมอง เพราะเหตุนั้น กินนรจึงนิ่งเฉยเสีย ไม่ใช่นิ่งเฉยเพราะความโง่เขลา
พระราชาได้ฟังดังนั้นก็ทรงโปรดกินรี จึงตรัสว่า กินรีตัวนี้กล่าวแก้เราได้แล้ว เจ้าทั้งหลายจงปล่อยกินรีตัวนั้นไป อนึ่ง จงนำไปส่งให้ถึงถิ่นเดิมที่หิมวันต์ ส่วนกินนรตัวนี้ เจ้าทั้งหลาย จงส่งไปให้โรงครัวใหญ่ จงย่างมันสำหรับอาหารเช้า แต่เช้าทีเดียว
กินนรได้ฟังพระดำรัสของพระราชาจึงคิดว่า ท้าวเธอนี้คงให้ฆ่าเราผู้ไม่พูดเป็นแน่ บัดนี้ เราควรจะพูด แล้วจึงกล่าวว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ฝูงปศุสัตว์พากันพึ่งฝน ประชาชนนี้เล่าพากันพึ่งปศุสัตว์ พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระบาท ภรรยาก็พึ่งข้าพระองค์ บรรดาข้าพระบาททั้งคู่ ธรรมชาติของคู่ชีวิตกินนรนั้น ตัวหนึ่งรู้ว่าอีกตัวหนึ่งตายก่อน ตัวที่รอดตายจึงจะยอมกลับสู่แดนหิมวันต์ ดังนั้น โปรดปลิดชีพข้าพระองค์เสียก่อน แล้วค่อยส่งนางกลับไปภายหลัง (คือ ต้องรอจนเห็นกับตาว่าคู่ของตัวเองตายจริงๆก่อนจึงจะตัดใจยอมไปตามลำพัง) ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระบาททั้งสอง ใช่จะนิ่งเสียเพราะปรารถนาจะขัดพระดำรัสของพระองค์ก็หามิได้ แต่เพราะเห็นโทษของการพูดมาก จึงมิได้กราบทูลสนองพระบัญชา
พระราชาทรงโสมนัสว่ากินนรนี้เป็นบัณฑิตกล่าวถูกต้องทีเดียว จึงตรัสว่า กินนรพร้อมด้วยกินรีผู้ภรรยา เป็นผู้นิ่งไม่พูด เป็นผู้กลัวภัย ได้กล่าวแก้แล้วในบัดนี้ กินนรนั้นชื่อว่าพ้นแล้วในบัดนี้ เป็นผู้มีความสุขหาโรคมิได้ เพราะว่า การกล่าววาจาที่ดีนำมาซึ่งประโยชน์แก่นรชนทั้งหลาย จากนั้นจึงรับสั่งให้กินนรทั้งคู่พักอยู่ในกรงทอง แล้วรับสั่งให้หาพรานคนนั้นเป็นคนนำไปปล่อยด้วยพระดำรัสว่า เจ้าจงไปปล่อยกินนรคู่นี้ ณ ที่ที่จับได้เถิด ฯ
ด้านชีวิตคู่ กินนร-กินรี มีพฤติกรรมแบบ“ผัวเดียวเมียเดียว” และจะไม่ยอมทิ้งคู่ครองตัวเองเด็ดขาด ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในเวลาท่องเที่ยวเล่นก็จะไปกับคู่ครองตนเองเท่านั้น(แต่จะอยู่รวมกันเป็นฝูงในถ้ำที่อยู่) และจะร้องรำเล่นดนตรีคู่กันทุกครั้งโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง
ความรักของกินนร-กินรีนั้นเหนียวแน่นมาก เมื่อได้คู่กันแล้วก็จะไม่ทอดทิ้งกันโดยง่าย ซึ่งมีอยู่หลายเหตุการณ์ที่แสดงออกถึงความรักของ กินนร-กินรี ได้อย่างชัดเจน เช่น
๑. ครั้งหนึ่ง ในยามเย็นย่ำค่ำในฤดูฝน มหาเมฆได้ตั้งขึ้น กินนรผู้สามีจึงเดินข้ามแม่น้ำด้วยสำคัญว่าภรรยาเดินตามมาด้วย แต่นางกินรีนั้นมัวแต่เก็บดอกไม้และไม้หอมมาด้วยคิดว่า เมื่อถึงเวลานอนด้วยกันทั้งคู่จะได้ประดับกายด้วยอกไม้หอม คล้องมาลัยดอกไม้หอม ประพรมกายด้วยกลิ่นไม้หอม
ขณะที่นางกินรีมัวแต่สาละวนเก็บดอกไม้ กระแสน้ำไหลเชี่ยวก็พัดเอาดอกไม้ที่นางเก็บไว้ไปจนหมด และเพียงครู่เดียวน้ำก็ขึ้นจนเต็มฝั่ง นางจึงข้ามแม่น้ำตามสามีไปไม่ได้
เวลานั้นเป็นยามมืด กินนรยืนรอภรรยาอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ทุกครั้งที่เห็นหน้ากัน(อาจด้วยแสงจากฟ้าแลบ)ทั้งคู่จะหัวเราะอย่างยินดี และเมื่อมืดลงไม่เห็นหน้ากันทั้งคู่ก็จะร้องไห้
กระทั่งรุ่งเช้า แสงอาทิตย์ส่อง ทั้งคู่จึงข้ามลำน้ำที่แห้งลงเข้าสวมกอดกันและกัน
นับแต่ครั้งนั้นมา กินนรคู่นั้น พลัดพรากจากกันชั่วราตรีเดียวยังเที่ยวร่ำไห้ถึงกันตลอดเวลา ๗๐๐ ปี(ทุกครั้งที่ระลึกได้ถึงความพลัดพราก) ฯ
๒. พระราชาเข้าแดนหิมวันต์เพื่อล่าสัตว์ ได้ยินเสียงกินนรคู่หนึ่งสามีเปาขลุ่ยและขับร้อง ภรรยาร่ายรำและขับร้องอยู่ใกล้กัน ก็เกิดหลงใหลอยากตัวนางกินรีจึงใช้ธนูพิษยิงกินนรผู้เป็นสามีเสีย
กินนรผู้สามีถูกศรปักร่างทรุดลงเลือดไหลนอง ถึงทุกข์เพราะบาดแผล แต่ก็ยังเป็นห่วงภรรยาที่จะเศร้ษโศกเพราะความตายของตนมาพลัดพราก
ฝ่ายภรรยานั้น ด้วยมัวแต่เพลิดเพลินเก็บดอกไม้อยู่ จึงมิทันรู้ว่าสามีถูกยิง แต่เมื่อเห็นสามีนอนดิ้นอยู่เพราะบาดแผลจึงเข้ามาดู เมื่อเห็นเลือดไหลนองจากแผลนางก็คร่ำครวญด้วยเสียงดัง
ฝ่ายพระราชาคิดว่ากินนรตายแล้วจึงออกจากที่ซ่อน นางกินรีสำคัญว่าราชาคือคนยิงจึงบินหนีขึ้นไปบนยอดเขาแล้วกล่าวบริพาษพระราชาต่างๆนานา
พระราชาพยายามอ้อนวอนให้นางกินรีเป็นอัครมเหสีของตน แต่นางกินรียืนกราปฏิเสธ แม้ถึงต้องตายนางก็ไม่ต้องการอยู่กับผู้ที่สังหารสามีตน เมื่อพระราชาเห็นวาเป็นไปไม่ได้จึงหมดเยื่อใยแล้วจากไป
เมื่อราชาจากไป นางกินรีจึงบินลงมาประคองร่างสามีขึ้นสู่ยอดเขาแล้วให้นอนในที่อันควรโดยให้ศีรษะหนุนตักนางไว้แล้วคร่ำครวญว่าจะทำอย่างไรถึง๑๒บทแล้ววางมือบนอกของสามี จึงรู้ว่าร่างยังอุ่นอยู่ นางจึงได้เพ่งโทษเทวดาทั้งหลายให้คืนชีวิตสามีมา
ความร้อนถึงพิภพท้าวสักกะ ท้าวสักกะจึงแปลงเป็นพราหมณ์ถือกุณฑีมารดน้ำอมฤตลงที่ร่างของกินนรผู้สามี พิษก็หายสิ้น บาดแผลก็กลับเต็มบริบูรณ์ แม้แต่รอยถูกยิงก็ไม่ปรากฏ เมื่อกินนรลุกขึ้น นางกินรีมีความดีใจก้มลงกราบเท้าพราหมณ์แปลง
ท้าวสักกะได้ประทานโอวาทแก่กินนรทั้งคู่นั้นว่า ตั้งแต่บัดนี้ เธอทั้งสองอย่าลงจากจันทบรรพตไปสู่ถิ่นมนุษย์เลย จงพากันอยู่ที่นี้เท่านั้นนะ ครั้นแล้วก็เสด็จไปพิภพของพระองค์ตามเดิม ฯ
ขณะเดียวกัน หากมีเหตุให้เหล่ากินนรต้องพลัดคู่ ก็จะส่งเสียงร้องคร่ำครวญจนชวนตระหนก แม้ในยามกลางดึกเที่ยงคืนก็สามารถแหกปากร้องได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตามเหตุการณ์ที่ยกมาโดยย่อ ดังนี้
พระเจ้าพรหมทัตองค์หนึ่งแห่งนครพาราณสี ได้เลี้ยงกินนรตัวหนึ่งไว้ในเรือนหลวง ครั้นยามเที่ยงคืนดึกสงัดท่ามกลางความมืดมิด พระองค์ก็ได้ยินเสียงกินนรนั้นก็ร้องขึ้นมาเป็นลำดับที่๗ ซึ่งต่อมาได้รับการเฉลยถึงเหตุที่กินนรร้องขึ้นกลางดึกว่า เป็นเพราะกินนรนั้นคิดถึงความดีที่นางกินรีเคยทำไว้แก่ตน เร่าร้อนเพราะกิเลส จึงได้ร้องขึ้น และเล่าประวัติของกินนรนั้นให้ฟังว่า วันหนึ่ง กินนรนั้นขึ้นไปสู่ยอดเขาตุงคบรรพตกับนางกินรี พากันเลือกเก็บดอกไม้ที่มีสีงาม กลิ่นหอมและมีรสอร่อยนานาชนิด ประดับกายตน โดยไม่ได้กำหนดพระอาทิตย์ที่กำลังจะอัสดงคต
เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว ความมืดได้ปรากฏขึ้นเบื้องบนภูเขาอันแข็งคม เมื่อกินนรและกินรีกำลังลงจากยอดเขา นางกินรีได้กล่าวกะกินนรด้วยถ้อยคำอันไพเราะอ่อนหวานว่า ที่รักมืดเหลือเกิน ท่านจงระวังก้าวลงอย่าให้พลาด อย่าจรดเท้าลงบนแผ่นหิน แล้วจับมือก้าวลงจากภูเขา ด้วยเหตุที่กินนรคิดถึงคำของนางกินรีในครั้งนั้นจึงได้ร้องขึ้น พระเจ้าพรหมทัตทราบความดังนั้น จึงให้ปล่อยกินนรกลับไป ฯ
ด้านรูปโฉมนั้น เหล่ากินนร-กินรี ก็นับว่าเป็นเลิศ กินรีนั้นแม้มีสามีแล้ว ก็ยังคงเป็นที่ปรารถนาของบุรุษผู้พบเจอได้ทุกครั้ง(ในทางกลับกัน กินนรก็น่าจะมีรูปโฉมงดงามไม่แพ้กัน แต่ยังไม่ปรากฏพบว่า มีการจับกินนรเพราะหลงใหลในรูปโฉมมาก่อน) แต่บุรุษมนุษย์ทั้งหลายก็ต้องมีอันผิดหวังไปตามๆกัน เพราะไม่อาจได้นางกินรีมาเคียงคู่ แม้ว่านางกินรีนั้นจะเป็นโสดอยู่ก็ตาม ดังเหตุการณ์ที่ยกมาโดยย่อดังนี้
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตองค์หนึ่งเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บวชเป็นฤาษี ยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้วอาศัยอยู่ ณ หิมวันตประเทศ
ในกาลครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสีเห็นความพรั่งพร้อมในบริวารของพรหมทัตกุมารผู้เป็นโอรสของพระองค์ เกิดความระแวงพระทัย จึงเนรเทศโอรสออกจากแว่นแคว้น
พรหมทัตกุมารทรงพาพระเทวีของพระองค์พระนามว่า อสิตาภู เข้าไปสู่แดนหิมวันต์ เสวยปลา เนื้อและผลไม้ พำนักอยู่ ณ บรรณศาลา
พรหมทัตกุมารนั้นเห็นกินรีนางหนึ่ง มีจิตปฏิพัทธ์ คิดว่าจะเอานางกินรีนี้เป็นชายา จึงติดตามรอยเท้านางกินรีนั้นไป มิได้คำนึงถึงพระนางอสิตาภู
พระนางอสิตาภูเห็นพรหมทัตกุมารตามนางกินรีไป ทรงดำริว่า พรหมทัตกุมารนี้ตามนางกินรีไป มิได้คำนึงถึงเรา เราจะต้องการอะไรจากพรหมทัตกุมารนี้ มีพระทัยคลายรัก เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ นมัสการแล้ว ให้พระองค์บอกการบริกรรมกสิณแก่ตน เพ่งกสิณ ยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิด นมัสการพระโพธิสัตว์ กลับมายืนอยู่ที่ประตูบรรณศาลาของตน
แม้พรหมทัตก็ติดตามนางกินรีไป เที่ยวหาก็มิได้พบแม้ทางที่นางกินรีนั้นไป หมดหวังจึงกลับมุ่งหน้ามาสู่บรรณศาลา
พระนางอสิตาภูเห็นพรหมทัตกุมารเสด็จกลับมา ลอยขึ้นไปสู่เวหา ยืนบนพื้นอากาศ มีสีดังแก้วมณี ตรัสว่า ข้าแต่โอรสเจ้า ข้าพเจ้าได้ความสุขนี้ เพราะอาศัยท่าน แล้วกล่าวว่า พระองค์นั่นแหละได้กระทำเหตุนี้ ในบัดนี้ หม่อมฉันปราศจากความรักในพระองค์แล้ว ความรักนั้นประสานกันอีกไม่ได้ ดุจงาช้างอันตัดขาดแล้วด้วยเลื่อยฉะนั้น
ครั้นนางกล่าวจบ ได้เหาะไปในที่อื่น ทั้งๆที่พรหมทัตกุมารนั้นแลดูอยู่ ครั้นนางไปแล้ว พรหมทัตกุมารก็คร่ำครวญกล่าวว่า บุคคลผู้ปรารถนาเกินส่วนย่อมปราศจากประโยชน์ เพราะโลภเกินประมาณ และเพราะความเมาอันเกิดจากความโลภเกินประมาณ เหมือนเราเสื่อมจากนางอสิตาภู ฉะนั้น
พรหมทัตกุมารทรงคร่ำครวญด้วยคาถานี้แล้ว ประทับพระองค์เดียวอยู่ในป่า เมื่อพระบิดาสวรรคตแล้ว จึงเสด็จไปครองราชสมบัติ ฯ
แต่ก็มีบ้างที่บุรุษมนุษย์สามารถครองคู่กับนางกินรีได้ แต่จำเป็นต้องมีเหตุและปัจจัยอื่นๆเข้ามาเสริมด้วย ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้
ในอดีตกาล มีพราหมณ์คนหนึ่งเห็นโทษในกามทั้งหลาย จึงละยศใหญ่ออกบวชเป็นฤๅษี สร้างบรรณศาลาอยู่ ณ หิมวันตประเทศ มีกินนรจำนวนมากอยู่ ณ ถ้ำแห่งหนึ่งใกล้บรรณศาลาของฤๅษีนั้น
แมงมุมใหญ่ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ ณ ประตูถ้ำนั้น มันได้กัดศีรษะของกินนรเหล่านั้นเพื่อดื่มกินโลหิต ธรรดากินนรทั้งหลายหากำลังมิได้ เป็นชาติขลาด แมงมุมตัวนั้นก็ใหญ่โตมาก กินนรทั้งหลายไม่อาจจะทำอะไรมันได้ จึงเข้าไปหาดาบสนั้น ทำปฏิสันถารแล้ว ดาบสถามถึงเหตุที่มา
เหล่ากินนรจึงพากันบอกว่า มีแมงมุมตัวหนึ่งประหารชีวิตของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าไม่เห็นผู้อื่นจะเป็นที่พึ่งได้ ขอท่านจงฆ่ามันเสีย ทำความสวัสดีแก่พวกข้าพเจ้า ดาบสได้ฟังคำดังนั้น ก็รุกรานว่า จงไปเสีย บรรพชิตทั้งหลาย เช่นเราไม่ทำปาณาติบาต
บรรดากินนรเหล่านั้น มีกินรีชื่อรัตนาวดี ยังไม่มีคู่ กินนรเหล่านั้นจึงตกแต่งกินรีรัตนวดีนั้น แล้วพาไปหาดาบส กล่าวว่า กินรีนี้จะเป็นผู้บำเรอเท้าท่าน ท่านจงฆ่าปัจจามิตรของพวกเราเสีย
ดาบสเห็นกินรีรัตนวดีก็มีจิตปฏิพัทธ์ จึงสำเร็จร่วมอภิรมย์กับกินรีนั้น แล้วไปยืนที่ประตูถ้ำ ตีแมงมุมออกมาหากิน ด้วยค้อนให้สิ้นชีวิต
ดาบสนั้นครองคู่อยู่กับกินรีจนมีบุตรธิดาแล้วทำกาลกิริยา ณ ที่นั้นแล ฯ
จากเหตุการณ์นี้ แสดงให้เห็นว่า มนุษย์กับเหล่ากินนรสามารถครองคู่และมีทายาทไว้สืบสกุลได้ด้วย ซึ่งข้อมูลใน ปิศาจปกรณัม ระบุไว้ว่า กินรีนั้นคลอดออกมาเป็นฟองไข่ซึ่งมีขนาดใหญ่ประมาณหอยสังข์(ประมาณไข่นกกระจอกเทศ?)และต้องใช้ระยะเวลาในการกกไข่ให้ฟักตัว ซึ่งบุตรธิดาเลือดผสมที่ฟักจากฟองไข่นั้นจะมีรูปกายเป็นมนุษย์ที่มีลักษณะงดงามมาก
ซึ่งเหล่าทายาทลูกผสมครึ่งมนุษย์ครึ่งนางกินรีนี้เอง ที่น่าจะหมายถึงกลุ่มชาวกินนรที่มีลักษณะทางกายภาพเป็นมนุษย์ทุกส่วนสัด ซึ่งต้องติดปีกติดหางจึงจะสามารถบินได้ [ที่เรียกกันว่า ไกรเทพปักษี?] ดังนั้นเราจึงขอเรียกอุปกรณ์สวมใส่ที่ทำให้ชาวกินนรเลือดผสมเหล่านี้บินได้นี้ว่า “ปีกยนตร์”
“ปีกยนตร์” เป็นวิทยาการที่ชาวกินนรเลือดผสมประดิษฐ์คิดค้นสร้างขึ้น เพื่อให้ชาวกินนรเลือดผสมสามารถใช้โบยบินได้เหมือนเหล่ากินนรตามธรรมชาติ เพราะถึงแม้ทายาทเลือดผสมเหล่านี้จะมีร่างเป็นมนุษย์เต็มตัวแตกต่างจากนางกินรีผู้เป็นมารดาอย่างชัดเจน ทว่าแม้ภายนอกจะดูเป็นมนุษย์ แต่ภายในอาจมีข้อแตกต่างบางประการ อาทิเช่น มีกระดูกที่กลวงและเบากว่ามนุษย์ทั่วไป ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อต่อการบิน แต่เนื่องจากลักษณะทางกายภาพภายนอกไม่อำนวย วิทยาการ “ปีกยนตร์” จึงได้ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา
โครงสร้างภายนอกของ “ปีกยนตร์” สร้างจากไม้มวลเบาเพื่อความสะดวกสบายเวลาสวมใส่ใช้งาน และสามารถช่วยพยุงร่างของผู้สวมใส่ให้ลอยอยู่เหนือน้ำจนรอดจากการจมน้ำตายได้ ภายในโครงไม้ประกอบด้วยสายยนต์ไกกลที่มีความละเอียดซับซ้อนสูง ภายนอกประดับด้วยลวดลายและขนนกตามแต่จะหาได้(รึแล้วแต่ความชอบส่วนตัว/ตามธรรมเนียม/ฯลฯ)
“ปีกยนตร์” นับเป็นวิทยาการตัดสนามแรงโน้มถ่วงเช่นเดียวกับของวิเศษในนิทานพื้นบ้าน-วรรณคดีอีกหลายเรื่อง เช่น เรือเหาะของนางมณีรัตนา(แก้วหน้าม้า) เกือกวิเศษพร้อมไม้เท้าของพระสังข์ทอง ฯลฯ