จินโทนิก จากยารักษาโรคภัยในอดีต สู่ยารักษาโรคใจ ค็อกเทลฮิตติดอันดับโลก
จิน หรือ เจนีเวอร์ (Genever) เดิมทีเป็นยาสมุนไพรที่หมอฟรานซิสคัส ซิลเวียส (Franciscus Sylvius) คิดค้นขึ้นเพื่อรักษาโรคไต โรคกระเพาะอาหาร เกาต์ และนิ่วในถุงน้ำดี โดยมีส่วนผสมหลัก ได้แก่ แอลกอฮอล์และจูนิเปอร์เบอร์รีส์ (Juniper Berries) ก่อนถูกแจกจ่ายให้ทหารฮอลแลนด์ดื่มยามออกรบ
เหล้าจินโด่งดังเป็นพลุแตกและกลายมาเป็นเหล้าสุดคลาสสิกเมื่อทหารอังกฤษขนจินกลับประเทศ ด้วยราคาที่ไม่แพง รสชาติดี และหาซื้อง่ายเมื่อเทียบกับเหล้าชนิดอื่น ๆ ทำให้คนอังกฤษเห่อจินถึงขั้นเกิด ‘วิกฤตเมาจินทั่วกรุง’ ร้อนถึงนักปกครองสมัยนั้นที่ต้องออกมาควบคุมการผลิตและการขายให้เข้าที่เข้าทาง
หลังจากนั้นอังกฤษจึงตั้งโรงกลั่นจินของตัวเองจนเป็นที่มาของคำว่า London Dry Gin นับแต่นั้นมาสถานะของจินก็เปลี่ยนจากยาดีรักษาโรค กลายมาเป็นเหล้ากลั่นที่ได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูง
โทนิค เป็นน้ำเปล่าอัดแก๊ส แต่โทนิคจะผสม ควินิน (Quinine) ลงไป ควินินทำให้โทนิคมีรสขม เป็นสารที่สกัดจากเปลือกไม้ของต้นซิงโคนา (Cinchona) ที่นำมาบดละเอียดก่อนผสมน้ำดื่มเพื่อรักษาอาการไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย ข้อเสียของควินิน คือ มีรสขม
ต้นทศวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษที่ทำงานในบริษัทอีสต์อินเดียซึ่งประจำอยู่ที่อินเดีย มีความจำเป็นต้องดื่มควินินเป็นประจำทุกวัน จึงเกิดไอเดียนำผงควินินมาผสมน้ำเปล่า น้ำตาล และมะนาว จากรสชาติขมขื่นคอจึงดื่มง่ายขึ้น
อีรามัส บอนด์ (Erasmus Bond) นักธุรกิจชาวอังกฤษ ผลิตโทนิกบรรจุขวดออกวางจำหน่ายปี 1858 ในรูปแบบเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แต่โทนิกกลับไปได้ดีกว่าในฐานะมิกเซอร์ โดยเฉพาะกับเหล้าจิน บวกกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถสังเคราะห์ควินินได้แล้ว การดื่มโทนิกเพื่อรักษาโรคจึงค่อย ๆ เหือดหายไปตามกาลเวลา
ปัจจุบันสรรพคุณของโทนิกคงไม่มีใครกล่าวถึงในฐานะยารักษาโรค เพราะต้องดื่มโทนิกที่ผสมควินินธรรมชาติ มากถึงสองลิตรต่อวัน หรือดื่ม G&T วันละสิบแก้ว และโทนิกหลายยี่ห้อไม่มีควินินผสมอยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าสิ่งไหนจะหมดก่อนกันระหว่างอาการป่วยไข้กับเงินในกระเป๋า