รูปแบบจำลอง งาช้างฉัททันต์
ตามข้อมูลจากพระไตรปิฎก งาของช้างฉัททันต์ ๒ ข้างทั้งซ้ายขวาเป็นงาสีทอง ซึ่งแต่ละข้างประกอบด้วยงา ๓ กิ่งที่งอกออกมาจากโคนเดียวกันจนดูคล้ายกับเป็นงากิ่งเดียว
สัดส่วนของงาช้างฉัททันต์นี้ ตามพระไตรปิฎกมีบันทึกไว้ว่า งาของพญาช้างฉัททันต์ แต่ละข้างวัดโดยรอบของโคนงาทั้ง ๓ กิ่งรวมกันได้ ๑๕ ศอก (๗.๕ เมตร) ยาวจากโคนถึงปลายงาได้ ๓๐ ศอก (๑๕ เมตร)
เนื่องจากความพิเศษที่มีถึง ๖ งา จึงเป็นที่มาของชื่อ ฉัททันต์ อันแปลว่า งา ๖ กิ่ง (ฟัน ๖ ซี่)
ลักษณะงาของช้างฉัททันต์นั้น อนุมานได้ว่ามีหลายแบบ แต่งาของช้างฉัททันต์ที่มีลักษณะสมบูรณ์พร้อมเป็นศุภลักษณ์มงคลมากที่สุด คือ งาที่มีจำนวนกิ่งทั้ง ๖ ยาวเสมอกันทั้งซ้ายขวา ไม่มีกิ่งใดกิ่งหนึ่งสั้นรึยาวจนเกินไป เพราะงาแต่ละข้างที่ประกอบขึ้นจากงา ๓ กิ่งรวมกันจะมีความแข็งแรงทนทานมาก แต่ถ้ามีกิ่งงายาวไม่เสมอกันจะทำให้เกิดช่องว่างในงาแต่ละข้างที่อาจมีเศษขยะรึสิ่งปฏิกูลเข้าไปอุดตันหมักหมมจนเป็นเหตุให้งาแตกหักเสียหายรึผุเน่าได้
ลักษณะงาช้างฉัททันต์อีกแบบที่ไม่สมบูรณ์ คือ งาที่มีปลายกิ่งแยกออกจากกันจนดูคล้ายกับมีงาข้างละ ๓ กิ่ง (๒ ภาพด้านล่าง) เหตุที่งาลักษณะนี้ไม่ดีก็เหมือนกับกิ่งงาที่ยาวไม่เท่ากัน คือ จุดที่ปลายกิ่งงาแยกออกจากกันจะเกิดเป็นโพรงให้สิ่งไม่พึงประสงค์สามารถเข้าไปหมักหมมอุดตันจนงาเกิดปัญหาได้
ดังนั้น งาช้างฉัททันต์ที่สมบูรณ์จะต้องมีความยาวของกิ่งงาเสมอกันและทุกกิ่งงาต้องแนบชิดติดกันเป็นงาเดียว มีลักษณะเป็นงาที่ปิดสนิทไม่เปิดเป็นช่องว่างด้านใดให้เห็น
โดยทั่วไป ทราบกันว่าช้างฉัททันต์ปรากฏตัวขึ้นในเรื่อง ฉัททันตชาดก ทว่าหลังการตรวจสอบพระไตรปิฎกและมิลินทปัญหา ทำให้พบว่ายังมีชาดกอีกหลายเรื่องและพระไตรปิฎกบางหมวดที่กล่าวถึงช้างฉัททันต์แบบอ้อมๆ โดยไม่เอ่ยชื่อออกมาตรงๆ แต่จากลักษณะที่บรรยายไว้ หากสังเกตให้ดีก็จะทราบว่านั่นคือช้างฉัททันต์
ซึ่ง ๑ ในชาดกที่กล่าวถึงช้างฉัททันต์แบบไม่เอ่ยชื่อ และยังมีการถอดความจากภาษาบาลีสันสกฤตมาเป็นภาษาไทยได้คลาดเคลื่อนไปบางจุดคือเรื่อง สีลวนาคชาดก ว่าด้วย คนอกตัญญูมองคนในแง่ร้าย ซึ่งกล่าวถึงพญาช้างฉัททันต์ที่แยกตัวออกจากโขลงมาอยู่ตามลำพังเป็นช้างสันโดษ (ช้างมาตังคะ) จนวันหนึ่งมีโอกาสได้ช่วยพาพรานหลงป่ากลับเมือง
แต่ด้วยความโลภที่เห็นงาทองคำของพญาช้าง พรานนั้นจึงกลับมาหว่านล้อมขอตัดงาพญาช้างไปขายถึง ๓ ครั้ง ซึ่งตามพระไตรปิฎกอักษรไทย บรรยายไว้ในลักษณะที่ทำให้เข้าใจไปว่า
ครั้งที่ ๑ ตัดท่อนปลายงา ๑ คู่
ครั้งที่ ๒ ตัดท่อนกลางงา ๑ คู่
ครั้งที่ ๓ ตัดท่อนโคนงา ๑ คู่
ซึ่งหลังจากวิเคราะห์แล้วเราว่าอรรถกถาน่าจะถูกถอดความคลาดเคลื่อนไปสักหน่อย เพราะตามจริงแล้ว ควรแปลว่า
ครั้งที่ ๑ ตัดกิ่งงา ๑ คู่
ครั้งที่ ๒ ตัดกิ่งงา ๑ คู่
ครั้งที่ ๓ ตัดกิ่งงา ๑ คู่
คือ เป็นการตัดงาไปขายครั้งละ ๑ คู่กิ่ง ไม่ใช่ ๑ คู่ท่อน
อนึ่ง ปัจจุบัน ลักษณะงาช้างฉัททันต์ที่ยังออกแบบได้ใกล้เคียงข้อมูลจากพระไตรปิฎกอยู่บ้าง คือ ช้างฉัททันต์ที่เป็นพาหนะของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ในงานศิลป์ของประเทศจีน