กินนร ๓ เผ่าพันธุ์จากพระไตรปิฎก
ตามข้อมูลจากพระไตรปิฎก มีบันทึกหลักฐานเรื่องการจำแนกชาวกินนรที่ชัดเจนมากที่สุดอยู่ในเรื่อง กุณาลชาดก เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น โดยเรียงลำดับจากระดับสูงที่สุดไปหาระดับต่ำที่สุด คือ เทพกินนร จันทกินนร ทุมกินนร
โดยกินนรกลุ่มที่มีปรากฎในพระไตรปิฎก คือ จันทกินนร ส่วนอีก ๒ กลุ่มที่เหลือไม่มีปรากฏชัดเจน
จันทกินนรนั้น เป็นกินนรที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มตามถ้ำบนภูเขาสีเงิน ชื่อ จันทบรรพต และออกหากินแถบฝั่งแม่น้ำจันทภาคา (จันทรภาคา) ที่อยู่ใกล้กัน โดยจันทกินนรมีร่างกายที่ค่อนข้างบอบบาง มีกำลังน้อย จิตใจก็อ่อนไหว ชอบร้องรำทำเพลงและสร้างเครื่องดนตรีแบบง่ายๆ จากวัสดุธรรมชาติ
นอกจากนี้ จันทกินนรยังเป็นพวกรักเดียวใจเดียว หากคู่ครองถูกจับได้ อีกฝ่ายจะไม่ยอมหนีไปไหนจนกว่าจะได้เห็นคู่ครองถูกฆ่าตายกับตาตนเองก่อน
ส่วนลักษณะทางกายภาพของจันทกินนรนั้น แม้ไม่มีการอธิบายอย่างชัดเจนว่าเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งนกรึไม่ แต่ถ้าอิงจากพฤติกรรมของจันทกินนรที่ยกมานี้ รวมกับการกล่าวถึงจากบางพระสูตร ก็อนุมานได้ว่า จันทกินนรมีลักษณะเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์เดรัจฉานแน่นอน เช่น ตักการิยชาดก พรานนายหนึ่งใช้อุบายจับกินนรผัวเมียคู่หนึ่งมาถวายพระราชาซึ่งไม่เคยเห็นกินนรมาก่อน เมื่อรับสั่งให้คู่กินนรขับร้องและเต้นรำอยู่หลายครั้งแต่ทั้งคู่แสร้งว่าไม่เข้าใจและไม่ยอมทำตามรับสั่ง พระราชาจึงพิโรธตรัสว่า กินนรคู่นี้เป็นเพียงสัตว์ที่ถูกนำมาหลอกขายเท่านั้น และจะให้พ่อครัวนำไปย่างเป็นเครื่องเสวยสำหรับเย็นนี้ตัวหนึ่งและพรุ่งนี้เช้าอีกตัวหนึ่ง เมื่อเห็นจวนตัวว่ากำลังจะตาย ทั้งนางกินรีและนายกินนราจึงยอมเปิดปากพูดเพื่อเอาตัวรอด
ส่วนใน ปุคคลวรรคที่ ๑ อรรถกถาสูตรที่ ๙ ก็กล่าวถึงการใช้อุบายให้กินนรคู่หนึ่งยอมพูดเช่นกัน
จากบันทึกบางส่วนที่ยกมานี้ พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นการกล่าวถึง จันทกินนร โดยอิงจากพฤติกรรมการครองคู่ และความขี้กลัว และยังอธิบายอีกว่า จันทกินนรมีลักษณะไม่เหมือนมนุษย์ ยิ่งประกอบกับความที่พวกนี้ไม่ยอมพูดให้มนุษย์ได้ยิน จึงทำให้บางคนเกิดความเข้าใจผิดจนเชื่อว่าจันทกินนรเป็นเพียงสัตว์เดรัจฉานเท่านั้น และเกือบได้กลายเป็นเครื่องเสวยไปแล้ว เมื่อนำมาประกอบกับภาพของกินนรที่มีร่างกายเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งนก จึงสรุปได้ว่าเป็นภาพของจันทกินนร
เทพกินนร เป็นพวกกินนรชั้นสูง ไม่พบข้อมูลจากพระไตรปิฎก แต่ตามวรรณคดีและนิทานพื้นบ้านหลายเรื่องชอบกล่าวถึง กินนรกลุ่มนี้มีร่างกายเหมือนมนุษย์โดยสมบูรณ์ และต้องสวมสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ปีกยนตร์ เพื่อให้บินบนท้องฟ้าได้ เทพกินนรที่รู้จักกันมากที่สุด คือ นางกินรีชื่อ มโนราห์
จันทกินนร และ เทพกินนร ในยุคหลังมานี้มักถูกจำสลับประเภทกัน ซึ่งนั่นคือความเข้าใจผิดอย่างแน่นอน เพราะยังมีบันทึกหลักฐานอีกหลายส่วนที่อธิบายลักษณะของจันทกินนรและเทพกินนรไว้ เช่น เรื่องสิงหไกรภพ ระบุว่าชาวกินนรที่มีร่างเหมือนมนุษย์ ต้องสวมปีกยนตร์เพื่อให้บินได้ คือ เทพกินนรที่เป็นกินรีคู่แม่ลูกชื่อว่า นางเทพกินรา และนางแก้วกินรี
ส่วนในเรื่อง สังวาลย์เพ็ชร์ (สังวาลเพชร) เล่ม ๓ หน้า ๑๑๘ ก็กล่าวถึง กินนราหนุ่มครึ่งมนุษย์ครึ่งนกชื่อ วิไชยสกุณา อาศัยอยู่ในถ้ำบนภูเขาตามลำพังที่บินลงมาลักพาตัวเจ้าหญิงไปขังไว้ในถ้ำของตน กระทั่งถูกสังหารในการต่อสู่กับฝ่ายพระเอก ซึ่งกินนราหนุ่มนายนี้ก็น่าจะเป็นจันทกินนรไม่ผิดแน่ แต่มีพฤติกรรมที่ดูผิดธรรมชาติมาก จึงขอยกไว้อธิบายในตอนหลังอีกที
ทุมกินนร เป็นกลุ่มกินนรที่ไม่พบการเอ่ยถึงแบบตรงๆ คือ จากการตรวจค้นดูแล้วก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจเคยมีการกล่าวถึงแบบอ้อมๆ โดยใช้ลักษณะของพฤติกรรมให้พอเป็นจุดสังเกตได้บ้างว่า กินนรที่กล่าวถึงนั้นอาจเป็น ทุมกินนร ก็ได้ เพราะยังไม่เคยพบว่ามีการเอ่ยชื่อ ทุมกินนร ออกมาแบบตรงๆ เลยสักครั้งนอกจากกุณาลชาดก ทุมกินนรจึงเป็นพวกที่ลึกลับมากที่สุดและมีข้อมูลให้อ้างอิงถึงน้อยที่สุดด้วย ดังนั้นการกล่าวถึงทุมกินนร ณ ที่นี้ จึงเป็นการอนุมานขึ้นเองโดยส่วนใหญ่
จากชื่อ ทุมกินนร หมายถึง กินนรต้นไม้ ดังนั้นพวกนี้จึงน่าจะอาศัยทำรังอยู่ตามต้นไม้ ลักษณะทางกายภาพจึงน่าจะเหมือนพวกจันทกินนร คือเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งนก แต่น่าจะมีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ เช่น
๑. ผิวพรรณ เนื่องจากจันทกินนรเป็นพวกอยู่ในถ้ำ พวกนี้จึงน่าจะมีผิวขาวเพราะถูกแสงน้อย ส่วนพวกทุมกินนรอาศัยทำรังตามต้นไม้ซึ่งถูกแสงมากว่า จึงน่าจะมีผิวสีเข้ม รวมถึงลักษณะของเส้นขนและสีขนนกที่พวกทุมกินนรน่าจะมีความหยาบและหลากหลายสีสันมากกว่าพวกจันทกินนรด้วย คือ ทุมกินนรมีผิวพรรณหยาบกว่าจันทกินนร
๒. พละกำลัง อย่างที่ได้อธิบายไว้ พวกจันทกินนรเป็นพวกร่างกายบอบบาง กำลังน้อย แต่พวกทุมกินนรน่าจะตรงข้าม เพราะพวกนี้ไม่ได้อาศัยอยู่ในสถานที่ปลอดภัยอย่างถ้ำแบบพวกจันทกินนร แต่ทำรังบนต้นไม้ซึ่งอาจมีภัยอยู่รอบด้าน พวกทุมกินนรจึงน่าจะแข็งแรงและมีพละกำลังกว่าจันทกินนรเพราะต้องคอยระวังตัวและเอาตัวรอดจากภัยทั้งในที่ลับและที่แจ้ง คือ ทุมกินนรแข็งแกร่งกว่าจันทกินนร
๓. ลักษณะนิสัย สิ่งนี้พวกทุมกินนรก็น่าจะแตกต่างจากจันทกินนรอย่างสิ้นเชิง รึอาจตรงข้ามกันเลยก็ได้ ขณะที่พวกจันทกินนรดูจะเป็นมิตรและค่อนข้างขี้กลัว พวกทุมกินนรอาจมีนิสัยออกไปทางแข็งกร้าว หยาบกระด้าง และไม่ค่อยเป็นมิตร ดีไม่ดีพวกนี้อาจถึงขั้นสามารถประดิษฐ์อาวุธจากวัสดุธรรมชาติขึ้นมาใช้ด้วยเลยก็ได้ ไม่ใช่แค่ทำเครื่องดนตรีไว้เล่นอย่างเดียว คือ ทุมกินนรดุร้ายกว่าจันทกินนร
ที่ ทุมกินนร ไม่เคยถูกกล่าวถึงแบบตรงๆ เลย อาจเป็นเพราะสาเหตุเหล่านี้ก็ได้ คือ ทั้งจับตัวยากและมีนิสัยดุร้าย จึงไม่มีใครอยากเข้าใกล้
ส่วนต้นกำเนิดบรรพบุรุษของพวกทุมกินนรนั้น อนุมานได้ว่า แต่เดิมพวกนี้อาจเป็นจันทกินนรที่มีนิสัยผิดธรรมชาติ ผ่าเหล่าแปลกแยก ไม่เหมือนจันทกินนรปกติ จึงอยู่ร่วมกับจันทกินนรทั่วไปไม่ได้เพราะมีจริตต่างกัน ต้องแยกตัวออกจากกลุ่ม เหมือนอย่าง วิไชยสกุณา ในเรื่อง สังวาลย์เพ็ชร์ (สังวาลเพชร) ที่แม้จะยังอาศัยอยู่ในถ้ำเหมือนจันทกินนรปกติ แต่ก็มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ผิดไปจากจันทกินนรทั่วไปมาก คือ กลายเป็นตัวร้ายโดยสมบูรณ์เลย
ซึ่งในเวลาต่อมา พวกจันทกินนรแปลกแยกเหล่านี้ก็พัฒนาตนให้หยาบลงจนกลายเป็น ทุมกินนร ในที่สุด
พวกทุมกินนรอาจมีทั้งที่อาศัยอยู่ตามลำพังและอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แม้ไม่อาจคาดเดาพฤติกรรมได้ แต่หากอยู่รวมกันพวกนี้ก็น่าจะยิ่งอันตรายมาก
อนึ่ง ทั้งจันทกินนรและทุมกินนรยังมีชื่อที่ใช้เรียกรวมๆ กันว่า อรัญวาสีกินนร หมายถึง กินนรป่า รึ กินนรผู้อยู่ป่า อีกด้วย
ส่วนบรรพบุรุษของพวกเทพกินนรนั้น ที่พอจะอ้างอิงได้ก็คือ มโหสถชาดก ซึ่งกล่าวถึงกลุ่มชนที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษรุ่นแรกสุดของเทพกินนร คือ เรื่องวัจฉดาบสที่แต่งงานกับนางรัตนากินรี ซึ่งเป็นพวกจันทกินนร และอยู่ร่วมกันจนเกิดบุตรธิดา
ส่วนในปิศาจปกรณัม ก็มีนิทานบางเรื่องกล่าวถึงพระราชาที่อภิเษกกับนางกินรี ที่ไม่ระบุว่าเป็นจันทกินรีรึทุมกินรี แต่ยืนยันได้ว่าพวกนางเป็นอรัญวาสีกินรีแน่นอน เพราะพวกนางคลอดลูกออกมาเป็นฟองไข่แล้วจึงฟักออกมาเป็นทารกที่มีรูปกายเป็นมนุษย์อีกทีเมื่อครบกำหนดเดือน
จากกลุ่มข้อมูลที่ยกมานี้จึงอนุมานได้ว่า กลุ่มทายาทที่เกิดจากบุรุษมนุษย์และนางอรัญวาสีกินรีเหล่านี้เอง ที่เป็นพวกเทพกินนรรุ่นแรกสุด
หลักการพิจารณาเบื้องต้นว่า กินนร ที่พบเป็นเผ่าพันธุ์ใด
๑. ถ้าอาศัยอยู่ตามถ้ำ ไม่ว่าจะแบบเดี่ยวรึแบบกลุ่ม นั่นคือ จันทกินนร
๒. ถ้าอาศัยอยู่ตามถ้ำ แต่พฤติกรรมดุร้ายไม่เป็นมิตร ค่อนไปทางมีพิษภัย ให้คิดไว้ก่อนว่านั่นคือพวกจันทกินนรผ่าเหล่า เข้าข่ายเป็น ทุมกินนร
๓. ถ้าอาศัยอยู่ตามเมือง ต้องสวมปีกยนตร์จึงจะบินได้ นั่นคือ เทพกินนร
๔. ถ้าทำรังอยู่ตามต้นไม้ นั่นคือ ทุมกินนร ข้อนี้ส่วนตัวยังไม่เคยเจอเรื่องไหนบรรยายว่าพบกินนรอาศัยตามต้นไม้เลย แต่ก็คิดเผื่อเอาไว้ก่อนละกัน