มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคร้ายที่มากับเมนูอร่อย
อาหารบางชนิดที่ชื่นชอบ กินบ่อย ๆ อาจเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดโรคร้ายอย่าง มะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าอันดับโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่นิยมอาหารแปรรูป อาหารปิ้งย่าง และ อาหารที่มีไขมันสูง
มะเร็งลำไส้ใหญ่ (colon cancer) เป็นโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบย่อยอาหาร เซลล์ที่ผิดปกติเหล่านี้สามารถกลายเป็นเนื้อร้าย แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย หากไม่ได้รับการวินิจฉัย รักษา ในระยะเริ่มแรก
สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่
1.พันธุกรรม หรือ ยีนผิดปกติ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง
2.สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
3.กินอาหารที่มีไขมันสูง
4.กินอาหารที่มีกากใยน้อย กินอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อแดงในปริมาณมาก
5.กินอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม
6.เคยเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคอ้วน
7.นั่งนาน ไม่ค่อยลุกเดิน
อาหารที่ควรลด เลี่ยง ให้ห่างไกลมะเร็งลำไส้ใหญ่
- อาหารปิ้งย่าง ของทอด
- อาหารรสเค็ม
- อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ มีเชื้อรา
- อาหารโปรตีนสูง
- อาหารที่มีไขมันสูง
5 เมนู ถูกปาก ที่เป็นตัวการใหญ่กระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
1.เนื้อย่างวากิว หมูคุโรบุตะย่าง
ยิ่งติดมันยิ่งอร่อย อาหารยอดนิยม เมนูนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากจะมีไขมันอิ่มตัวสูง เนื้อวัวและเนื้อหมูยังเป็นสัตว์เนื้อแดงที่มีสารประกอบ ฮีโมโกลบิน ที่เรียกว่าฮีม (heme) หากกินมากจะไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เติบโต รวมถึงการปิ้งย่างยังเป็นวิธีปรุงสุกโดยมีไขมันหยดลงบนถ่านจนเกิดควัน ทำให้เกิดสารโพลีไซคลิก อโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons- PAH) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง หากกินบ่อยๆ จะสะสมอยู่ในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายเกิดการอักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในที่สุด
หากจะกิน ควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมทิ้ง อย่างไรก็ตามไม่ควรกินในปริมาณมากและบ่อยจนเกินไป
2.ส้มตำปูปลาร้า
ด้วยรสจัดจ้านจากเครื่องปรุงทั้งหลาย สุ่มเสี่ยงสารก่อมะเร็งทั้งสิ้น พริกแห้ง กระเทียม ที่ขึ้นราง่าย ปูเค็ม ปลาร้า หากไม่ปรุงให้สุกอาจมีพยาธิใบไม้ หรือ ไข่ของพยาธิ สาเหตุให้เกิดมะเร็งตับ ที่สำคัญยังพบด้วยว่าในปลาร้าอาจจะมีการใส่ดินประสิวที่มีสารไนโตรซามิน เพื่อใช้ในการถนอมอาหาร เป็นสารก่อมะเร็งที่มีความรุนแรง
หากจะกิน จึงไม่ควรที่กินปลาร้าดิบ ๆ เพราะจะเป็นการเพิ่มอัตราความเสี่ยงที่จะได้รับสารดังกล่าว
3.อาหารทะเลดิบกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ด
อาหารทะเลสดมักปนเปื้อนสารฟอร์มาลินจากการเก็บรักษา หากร่างกายได้รับสารฟอร์มาลินจนเกิดการสะสม จะส่งผลเสียกับระบบการทำงานของตับ ไต และ หัวใจ นอกจากนี้ การกินอาหารทะเลดิบ ๆ ยังเสี่ยงต่อการได้รับสารโลหะหนัก เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้ ซึ่งสารโลหะหนักพบมากใน ปลาทูน่า ปลาแมคคอเรล
หากจะกิน ควรเลือกอาหารทะเลที่มีโลหะหนักสะสมน้อย เช่น ปลาแซลม่อน หรือ กุ้ง และ ผ่านการปรุงสุกด้วยการต้ม การนึ่ง หลีกเลี่ยงการปิ้งย่างจนไหม้เกรียม
4.ยำต่าง ๆ เช่น ยำแหนม ยำไส้กรอก ยำมาม่า
องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบหลักฐานยืนยันว่า เนื้อสัตว์แปรรูป โดยการรมควัน อาหารหมักดอง รวมถึงการถนอมอาหารแบบต่าง ๆ มีโอกาสปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากอาหารแปรรูปทั้งหลายเต็มไปด้วยสารกันบูด แต่งกลิ่น ใส่สี ให้ดูสดใหม่ น่ากิน นั้นมีโซเดียมไนเตรทและโซเดียมไนไตรท์ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
หากจะกิน อาจเลือกเป็นยำผลไม้ไม่เค็ม ไม่ใส่กระเทียม ไม่ใส่ถั่วลิสงคั่ว แม้ไม่แซบนัว แต่จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงโรคร้ายลงได้บ้าง
5.กล้วยทอด ปาท่องโก๋ ไก่ทอด
ของทอดกรอบ ๆ มัน ๆ อาจกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็งได้ จากการใช้น้ำมันทอดในอุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเมื่อใช้น้ำมันทอดซ้ำหลายครั้ง ทำเกิดสารโพลีไซคลิก อโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons- PAH) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง หากกินบ่อยก็จะสะสมอยู่ในร่างกายสะสมไขมันกลายเป็นความอ้วน และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
หากจะกิน ควรกินแต่น้อย ถ้าอดใจไม่ได้ให้เลือกซื้อร้านที่เปลี่ยนน้ำมันทอดทุกวัน
การกินอาหาร คือ ความสุขอย่างหนึ่งในชีวิต แต่ การดูแลสุขภาพก็สำคัญไม่แพ้กัน ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ และ หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เพื่อป้องกันโรคร้ายอย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่ สุขภาพดีเริ่มต้นได้จากจานอาหารที่กิน เริ่มต้นดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้เพื่อชีวิตที่ยืนยาว สุขภาพแข็งแรง