พ.ร.บ. อุ้มบุญ ฉบับใหม่ กับความหวังของพ่อคู่เกย์
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 สนช.ได้มีมติอนุมัติร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์หรือที่รู้จักกันในชื่อ ร่างพ.ร.บ.อุ้มบุญ เพื่อกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาตามกฎหมายและควบคุมการใช้เทคโนโลยีในการอุ้มบุญให้เหมาะสม
ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้มีการกำหนดคุณสมบัติของภรรยาและสามีที่ประสงค์ให้มีการอุ้มบุญไว้ซึ่งเท่ากับว่าคู่รักเพศเดียวกันย่อมไม่สามารถดำเนินการให้มีการอุ้มบุญได้เพราะกฎหมายไทยยังไม่มีการรับรองการจดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกันอันจะทำให้คู่รักเพศเดียวกันกลายเป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย คู่สามีและภรรยาที่สามารถทำการอุ้มบุญได้จะต้องมีสัญชาติไทย ถ้าสามีหรือภรรยาไม่มีสัญชาติไทยต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี หรือถ้าทั้งภรรยาและสามีไม่มีสัญชาติไทย ผู้รับอุ้มบุญต้องไม่ใช่คนสัญชาติไทย ส่วนคุณสมบัติของผู้รับอุ้มบุญต้องเป็นญาติโดยสายโลหิตที่ไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภรรยาและเคยผ่านคลอดบุตรมาก่อน กรณีที่ผู้รับอุ้มบุญไม่ใช่ญาติ สามารถมีการอุ้มบุญได้โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด วิธีการอุ้มบุญนั้นสามารถกระทำได้2วิธี คือ การใช้อสุจิของสามีและไข่ของภรรยา และการใช้อสุจิของสามีหรือไข่ของภรรยากับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น ทั้งนี้ห้ามใช้ไข่ของผู้รับอุ้มบุญโดยเด็ดขาด
ร่างพ.ร.บ.อุ้มบุญได้วางหลักสำคัญเพื่อป้องกันห้ามไม่ให้มีการอุ้มบุญเพื่อการค้า โดยผู้ฝ่าผืนจะได้รับระวางโทษสูงสุดจำคุก10ปีหรือปรับสูงสุด200,000บาท ส่วนประเด็นที่ว่าใครจะถือเป็นบิดามารดาของเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญนั้น ร่างพ.ร.บ.อุ้มบุญได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนให้สามีและภรรยาเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.อุ้มบุญยังคุ้มครองไปถึงเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญก่อนร่างพ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ สามีภรรยาที่ดำเนินการให้มีการอุ้มบุญแทนหรือพนักงานอัยการสามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งรับรองเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญก่อนวันที่ร่างพ.ร.บ.นี้ใช้บังคับเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีและภรรยาที่ดำเนินการให้มีการอุ้มบุญได้