จริงหรือไม่!! "ลายมือ" จะบอกนิสัยใจคอของคนเขียนได้
จริงหรือไม่!! "ลายมือ" จะบอกนิสัยใจคอของคนเขียนได้
จากหนังสือ ศาสตร์พิศวง สู่มิติแห่งความเป็นไปไม่ได้ ผลงานของ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ได้กล่าวว่า
ในการติดต่อสื่อสารกันทุกวันนี้ การเขียนจดหมายถึงกันด้วยมือแทบจะไม่มีใครทำแล้ว เพราะสมัยนี้ใคร ๆ ก็ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ในบางโอกาสเราก็เห็นว่าหน่วยงานบางแห่งนิยมให้คนที่มาสมัครงานเขียนใบสมัครหรือเรียงความด้วยลายมือ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะท่านผู้จัดการหรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานนั้นจะศรัทธาวิธีการอนุรักษ์เอกลักษณ์ของชาติด้านนี้ แต่เป็นเพราะท่านเหล่านั้นเชื่อว่า ลายมือสามารถบอกอุปนิสัยใจคอจิตใต้สำนึก รวมทั้งความชื่อสัตย์ ความเที่ยงธรรม ความอดทน ความมานะ บากบั่น และความอะไรต่อมิอะไรของคนเขียนได้ดี
ทุกวันนี้นักสถิติได้สำรวจพบว่าบริษัทต่างๆ ในอังกฤษและอเมริกาประมาณ 5-10% ใช้และเชื่อในเรื่องนี้ ส่วนในฝรั่งเศสนั้นมีสมาคมนักวิเคราะห์ลายมือที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์บุคลากรมาก
เมื่อปี พ.ศ. 2536 British Psychological Society ในอังกฤษออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับลายมือว่า ลายมือมิได้เกี่ยวข้องหรือบ่งบอกบุคลิกภาพของผู้เขียน และถ้าบริษัทใดปฏิเสธผู้สมัครด้วยเหตุผลเพียงว่าลายมือเขาแสดงให้เห็นว่าเขาไม่เหมาะกับงาน ผู้สมัครสามารถพึ่งพาศาลเพื่อขอความเป็นธรรมได้
ถึงกระนั้นลัทธิเลื่อมใสในการวิเคราะห์ลายมือก็ยังคงมีต่อไป นักจิตวิทยาได้ให้เหตุผลไว้ว่า เมื่อการวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นการสเกตช์บุคลิกภาพของคนอย่างหยาบ ๆ ที่มิได้กระทำอย่างละเอียดทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ เช่น เวลาบอกว่าลายมือนี้แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนมีนิสัยสู้งาน มีความมุมานะและมีประสบการณ์ชีวิตมาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นคนขี้เกรงใจคนอื่น คนที่ถูกวิเคราะห์ลายมือ เมื่อได้อ่านคำวิเคราะห์ที่ดีเกี่ยวกับตนเองก็มักเชื่อตามและส่วนใหญ่เขาก็มักวิเคราะห์ออกมาในแง่ดี เมื่อการวิเคราะห์มีผลทำให้ทุกคนอยากรู้ อยากเห็น และอยากเชื่อเช่นนี้ อาชีพวิเคราะห์ลายมือจึงเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ไม่แพ้หมอดู แต่สำหรับคนที่อ่านคำวิเคราะห์หากต้องการจะรู้จักเจ้าของลายมือมากขึ้น เขาก็จะต้องนั่งนึกว่าสู้งานนั้นงานอะไรหรือ ที่ว่ามีความมานะนั้น มานะระดับไหน และการขี้เกรงใจคนอื่นนั้น หมายถึงใกล้ชิดหรือผู้มีอิทธิพล หรือทุกคน ฯลฯ
เมื่อปี พ.ศ. 2497 ผู้คนที่อาศัยอยู่ในมหานครนิวยอร์กพากันประหวั่นพรั่นพรึงว่าจะถูกลอบวางระเบิดโดยฆาตกรโรคจิตผู้หนึ่ง ซึ่งได้เขียนจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งและเล่าเหตุผลที่ตนต้องกระทำเช่นนั้น เมื่อบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นตีพิมพ์จดหมายที่ฆาตกรเขียนในหน้าหนึ่งบรรดาผู้ที่ศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของการวิเคราะห์ลายมือ ได้วิเคราะห์บุคลิกภาพของผู้เขียนต่างๆ นานา จนทำให้เจ้าของจดพมายรู้สึกเดือดร้อนใจ เพราะผิดพลาดมาก จึงได้เขียนจดหมายไปหาบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นั้นอีกการทิ้งจดหมายฉบับที่ 2 นี้ทำให้ FBI ตามตัวฆาตกรผู้นั้นได้ในที่สุด
แต่ก็มีงานวิจัยไม่น้อยกว่า 200 ชิ้นที่สรุปแล้วสรุปอีกว่าลายมือมิได้บอกแนวโน้มการออกลายของคนเขียน เพราะนักวิเคราะห์ลายมือใช้สามัญสำนึกในการวิเคราะห์ เขาไม่ได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และไม่ได้ประเมินผลที่สรุป อีกทั้งไม่ได้เปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ด้วยวิธีนี้กับการทดสอบทางจิตวิทยารูปแบบอื่น
เมื่อเร็วๆ นี้ อาร์. คิง (R. King) และ ดี. โคเลอร์ (D. Koehler) แห่งมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลูที่เมืองวอเตอร์ลูในแคนาดา ได้สอบถามความเห็นเกี่ยวกับบุคลิกของคนเขียนหลังจากที่ได้เห็นลายมือ และก็พบว่า สิ่งที่คนทั่วไปมักเห็นว่าคนที่เขียนหนังสือเรียบร้อยเป็นคนที่ทำงานเป็นระเบียบ คนที่เขียนหวัดและเส้นเอนไปข้างหน้า แสดงว่าเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี ส่วนคนที่เขียนไม่เป็นระเบียบมักเป็นคนเศร้าซึมนั้น ไม่ถูกต้อง นั่นคือลายมือมิได้บอกลายคนเลย ดังนั้นสำผู้จัดการบริษัทใดคิดว่าลีลาการเขียนบอกลีลาชีวิตของผู้สมัครงานแล้วละก็ เขาก็มีโอการถูกหลอกได้ เพราะคนที่สมัครงานสามารถเปลี่ยนสไตล์ลายมือให้ผู้จัดการบริษัทเข้าใจผิดได้
เมื่อตันปีนี้ สถิติที่ได้จากการสำรวจโดย National Council of Special Education ในอังกฤษ แสดงให้เห็นว่า เด็กชั้นประถมศึกษาของอังกฤษประมาณ 12% เขียนหนังสือด้วยลายมือที่ไม่สวยเลย ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าห่วงมากเพราะมีงานวิจัยที่แสดงให้เราประจักษ์แล้วว่า ลายมือในการตอบข้อสอบเกี่ยวข้องโดยตรงกับคะแนนที่นักเรียนคนนั้นได้ กล่าวคือ เวลาตรวจข้อสอบอารมณ์ของอาจารย์อาจถูกกำหนดด้วยลายมือของนักเรียน หรือในกรณีสมัครงาน ถ้าผู้สมัครมีลายมือสวย โอกาสการได้งานก็จะสูงตามไปด้วยการที่จะทำให้ลายมือสวยนั้น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลายมือเสนอแนะว่า ผู้เขียนควรอยู่ในอารมณ์เขียนที่สงบ ไม่มีเสียงรบกวน มีสุขภาพดี และมีที่นั่งเขียนดี ซึ่งจะส่งผลให้มือ แขน และสมองที่ใช้ในการเขียนทำงานคล้องจองลงตัว เพราะถ้าประสาทหู ประสาทตา หรือประสาทสมองถูกรบกวนลายมือของคนเขียนก็จะปรวนแปรหรือเละทันที อนึ่งการมีจังหวะนิ้วและจังหวะมือที่ดี ก็สามารถควบคุมลักษณะลายมือได้บ้าง การรู้จักลากปากกาและการจับปากกาให้ทำมุมที่เหมาะกับกระดาษโดยไม่หลวมหรือมั่นเกินไป ก็มีบทบาทไม่น้อยเช่นกันในการทำลายมือของคนให้สวยหรือทราม ถึงแม้ลายมือจะมิอาจบอกบุคลิกภาพของคนเขียนได้ แต่ก็สามารถบอกสุขภาพของคนเขียนได้ดีระดับหนึ่ง
M. Rjppjes แห่งมหาวิทยาลัยฮัมบูร์กในเยอรมนี ได้ใช้กระบวนการ Magnetic Resonance Imaging (MRI) ดูสมองของคนขณะเขียนหนังสือและพบว่า สมองส่วนที่เรียกว่า postenior parietal cortex มีหน้าที่ควบคุมการเขียน การรู้ชัดว่าสมองส่วนนี้ควบคุมลายมือช่วยให้แพทย์รู้สถานภาพของสุขภาพสมองได้บ้าง เพราะเมื่อเวลาลายมือใครเปลี่ยน นั่นเป็นลางแสดงให้เห็นว่าสุขภาพของบุคคลผู้นั้นกำลังจะเปลี่ยนด้วยเช่นคนที่เป็นโรคพาร์คินสัน ความเร็วในการเขียนจะช้าลงและตัวอักษรในลายมือก็จะเล็กลงๆ ด้วย ส่วนคนที่กำลังจะเป็นโรคฮันติงตัน เป็นต้น
จากบทความข้างต้น ทุกท่านมีความเชื่อเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด อันนี้แล้วแต่วิจารณญานเลยค่ะ
อ้างอิงจาก: หนังสือ ศาสตร์พิศวง สู่มิติแห่งความเป็นไปไม่ได้ ผลงานของ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน