สติและสัมปชัญญะ
ธรรม๒ข้อนี้เป็นธรรมหมวดแรกที่ใครๆก็รู้จัก และก็เป็นธรรมหมวดแรกๆที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป ที่จริงแล้วสติและสัมปชัญญะ เป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิตของคนเรา ก่อนจะอธิบายไปลึกกว่านี้เรามาทำความรู้จัก ธรรมเหล่านี้ก่อนดีกว่า
สติ หมายถึง
สติ เป็นธรรมมีอุปการะมาก คือทำให้ตื่นตัวอยู่เสมอ สตินั้นหากนำมาใช้กับทางโลกทั่วไปก็ย่อมมีประโยชน์มหาศาลอยู่แล้ว การคิดอ่านย่อมเป็นระบบ จิตย่อมมีสมาธิในการทำกิจการงานใด ๆ อารมณ์มักจะเป็นปกติ กล่าวโดยรวมคือย่อมเกื้อกูลชีวิตประจำวันทางโลกได้อย่างดีซึ่งเป็นประโยชน์ ที่เห็นได้ชัดเจน ถ้ารู้เนือง ๆ มาก ๆ เข้าจนเป็นมหาสติ ก็จะได้ประโยชน์จากทางธรรมด้วยการที่เรามีสติอยู่เนือง ๆ ก็เพื่อให้สติเกื้อกูลต่อการ “เห็นความจริง” ความจริงนี้เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือกายกับใจจุดหมายของการรู้ก็เพื่อ ให้เห็นความจริง อันได้แก่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่ากายและใจของเรานั้นเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวเรา
สติ เป็นคุณธรรมที่เกิดเองไม่ได้ ต้อง ทำให้เกิดขึ้นด้วยการฝึกฝนรวบรวมจิตใจให้นิ่งแน่วด้วยวิธีต่างๆ เช่นการเจริญวิปัสสนาคือการฝึกตามมหาสติปัฏฐานสูตร ทำสมาธิ สวดมนต์ ภาวนาคือให้มีความรู้สึกตัวผ่านอายตนะทั้ง 6
สติ มีใช้ในอีกหลายความหมาย เช่น กำหนดรู้ ตระหนักรู้ ระลึกรู้ สัมผัสรู้ รู้สึกตัว และอื่นๆ ที่ใช้ในความหมายการทำความกำหนดรู้สึกตัวในปัจจุบันต่อผัสสะใดๆที่เกิดขึ้นมาเพื่อให้กำหนดรู้เฉพาะหน้า ให้เท่าทันต่อสัมผัสตามความเป็นจริงต่อสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา ให้จิตเป็นอิสระต่อสิ่งที่มากระทบในฐานะเป็นเพื่อผู้เฝ้ารู้เฉย ด้วยการเพิ่มการรับรู้ทางประสาทสัมผัส โดยลดการคิดนึกปรุงแต่งความรู้สึกอื่นๆ
สติใช้เพื่อที่จะรู้เท่าทันในสังขาร 3
- รู้เท่าทันในการเคลื่อนไหว(กายสังขาร) ในอันที่จะการสร้างกรรมใดๆ นั่นคือศีล
- รู้เท่าทันในอารมณ์ที่ปรุงแต่งจิต(จิตสังขาร) จนจิตเป็นอิสระจากอารมณ์ นี่คือสมาธิ
- รู้เท่าทันความคิดทั้งหลาย(วจีสังขาร) ว่าความคิดเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่(โยนิโสมนสิการ) นี้คือปัญญา
สัมปชัญญะ หมายถึง
สัมปชัญญะ หมายถึงความรู้ตัวทั่วพร้อม เป็นธรรมที่มีอุปการะ คู่กับสติ เป็นธรรมที่เอื้อกับสติ ที่อยู่ 4 ลักษณะ
- สาตกสัมปชัญญะ คือสัมปชัญญะที่กำหนด พิจารณาก่อนที่จะทำ จะพูด สิ่งใดๆ ที่เหมาะสมกับเวลา สถานที่ ว่าพึงทำ พึงพูด เช่นไร (อนาคต)
- โคจรสัมปชัญญะ คือสัมปชัญญะที่กำหนดรู้ในปัจจุบัน ในการกระทำใดๆ ว่าทำสิ่งใดอยู่ ร่างกายเคลื่อนไหวเช่นไร (ปัจจุบัน) ในมหาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนา นั้น หมายถึงโคจรสัมปชัญญะนี้
- สัมปายสัมปชัญญะ คือสัมปชัญญะที่อาการจิตที่ไม่มีทุกขเวทนามาก จนขันธ์ทำงานได้ปกติดี เช่นคนมีทุกข์มากย่อมขาดสติได้ ผู้ที่ทุกข์น้อยก็อาจคุมสติได้ดีกว่า
- สัมโมหสัมปชัญญะ คือสัมปชัญญะที่กำหนด รู้สิ่งที่ผ่านมา เคยทำ คำสอนในอดีตที่พึงใช้ รู้ว่าเราเป็นใครมีหน้าที่อะไร สิ่งที่เคยพูดให้สัญญาเอาไว้เช่นรู้ตัวว่าเราเป็นพระพึงรักษาวินัย รู้ตัวว่าละครที่ดูเป็นเพียงการแสดง เราเป็นเพียงคนดูหนังอยู่ คนเราต้องแก่เป็นธรรมดา เท่านั้น (อดีต)
สติสัมปชัญญะธรรมทั้ง๒นี้เป็นธรรมมีอุปการมากเพราะเป็นธรรมที่เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นธรรมเครื่องเตือนให้สรรพสัตว์ทั้งหลายหลีกพ้นหนทางที่ชั่วและบำเพ็ญกุศลคุณงามความดี เป็นธรรมที่คอยตักเตือนตนเองไม่ให้ประมาทเลิ่นเล่อในการใช้ชีวิต