ประวัติศาสตร์และบุคคลสำคัญเมืองปัตตานี
พระยาเดชานุชิตสยามมิศร์ภักดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานีคนแรก
เดิมชื่อ หนา บุนนาค เมื่อครั้งดำรงศักดิ์เป็น พระยาศักดิ์เสนี ได้รับโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ ๕ ให้ดำรงตำแหน่งเป็น สมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ปกครองเมืองปัตตานี เมืองยะลา เมืองระแงะ และเมืองสาย ขึ้นตรงต่อผู้สำเร็จราชการภาคใต้
พระยาเดชานุชิตสยามมิศร์ภักดี (หนา บุนนาค) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตายีนานถึง ๑๗ ปี ได้สร้างความเจริญให้แก่ปัตตานีมากมาย จนมีอนุสรณ์ให้ระลึกถึงท่านจากชื่อสถานที่หลายแห่ง อาทิ สะพานเดชานุชิต สนามกีฬาศักดิ์เสนี (โรงเรียนเบญจมราชูทิศ) โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล (โดยเอาชื่อเดชา + ปัตตานี + อนุกูล)
เดิมปัตตานีมีโรงเรียนประจำมณฑลปัตตานี เป็นโรงเรียนชายหญิงเรียนรวมกัน (สมัยนั้นนักเรียนหญิงยังเรียนกันไม่มาก) พระยาเดชานุชิตฯ ได้เป็นผู้นำในการบูรณะต่อเติมอาคารเรียน และพัฒนาโรงเรียนประจำมณฑลปัตตานีให้พร้อมในทุกๆ ด้าน โดยพ่อค้า คหบดี ข้าราชการ และประชาชนชาวปัตตานีให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งพระยาเดชานุชิตฯ ได้จูงใจว่า เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราช รัชกาลที่ ๕ ทุกอย่างจึงได้เสร็จสมบูรณ์ ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยมีนายโต๊ะ เป็นครูใหญ่คนแรก
และพระยาเดชานุชิตฯ ได้มีหนังสือถึงเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการในขณะนั้น เพื่อขอพระราชทานนามโรงเรียน รัชกาลที่ ๖ จึงได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า "เบญจมราชูทิศ" และได้ทำพิธีเปิดโรงเรียนเบญจมราชูทิศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๗
ในขณะเดียวกันภรรยาของพระยาเดชานุชิตฯ ที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า "คุณหญิงแหม่ม" เพราะเป็นชาวเยอรมัน มีความเห็นว่าควรจะแยกนักเรียนหญิงมาเรียนต่างหาก จึงได้ยกบ้านพักที่ใช้สำหรับให้ข้าราชการต่างเมืองต่างมณฑลมาพัก ซึ่งอยู่ใกล้ๆ จวน (ที่พัก) ของสมุหเทศาภิบาลมณฑลฯ ให้เป็นสถานที่เรียนสำหรับสตรีเรียกว่า โรงเรียนสตรีมณฑลปัตตานี เปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยคุณหญิงเดชานุชิตฯ หรือคุณหญิงแหม่ม ได้ให้ "คุณใหญ่" ซึ่งเป็นบุตรีที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ กรุงเทพฯ มาเป็นครู
ในสมัยนั้นขุนพิบูลพิทยาพรรค (ทอง คุปตาสา) เป็นธรรมการมณฑลปัตตานี พระยาเดชานุชิตฯ และคุณหญิงแหม่ม ได้ชักชวนพ่อค้า คหบดี ข้าราชการ และประชาชนชาวปัตตานีร่วมกันบริจาคเงิน สิ่งของ สมทบสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม และพยายามจูงใจให้สตรีปัตตานีมาเรียนหนังสือมากขึ้น โรงเรียนสตรีมณฑลปัตตานีได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖
จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ โรงเรียนสตรีมณฑลปัตตานีก็มีอาคารเรียน อุปกรณ์การเรียนที่ค่อนข้างพร้อมบริบูรณ์ พระยาเดชานุชิตฯ และภรรยาได้ทำหนังสือขอให้กระทรวงศึกษาธิการ สมัยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นเสนาบดีกระทรวงฯ ช่วยตั้งชื่อโรงเรียนสตรีปัตตานีให้ โดยทางกระทรวงฯ ได้ตั้งชื่อว่า "โรงเรียนสตรีปัตตานีเดชะปัตตนยานุกูล" เพื่อเป็นเกียรติและเป็นอนุสรณ์แก่พระยาเดชานุชิตฯ และภรรยาที่เป็นผู้ริเร่มก่อตั้งโรงเรียนและอุปการะโรงเรียนตลอดมา
ต่อมาได้ตัดคำว่า "สตรี" ออก และเปลี่ยนให้เป็นโรงเรียนสหศึกษา เรียกชื่อใหม่ว่า โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล มีนักเรียนทั้งหญิงและชาย เช่นเดียวกับโรงเรียนเบญจมราชูทิศที่มิได้แยกเป็นโรงเรียนชายและโรงเรียนหญิง
By: หนังสือเรื่อง บุคคลสำคัญของปัตตานี โดย รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ (๒๕๔๕)
สะพานเดชานุชิต ปัตตานี