ปลาตีน มหัศจรรย์ปลาแห่งป่าชายเลน
สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้ผมจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับปลาชนิดหนึ่ง ที่มันใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนผิวน้ำเสียมากกว่า ด้วยท่าทางการเคลื่อนตัวโดยใช้คลีบขยับไปบนผิวโคลนลื่นๆ เหมือนมันกำลังเดิน คนสมัยก่อนก็เลยตั้งชื่อซะไพเราะว่า "ปลาตีน" น้องๆ รุ่นใหม่บางคนอาจยังไม่รู้จักกันดี ผมก็เลยอาสาพามาให้ได้รู้จักกันครับ
ปลาตีน (Mudskipper, Amphibious fish) มีทั้งหมด 9 สกุล ประมาณ 38 ชนิด กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตามชายทะเลโคลนและป่าชายเลนในเขตร้อนตั้งแต่เขตมหาสมุทรแอตแลนติก ชายฝั่งแอฟริกา จนถึงเอเชียแปซิฟิก โอ้โหผมเองยังไม่อยากเชื่อเลยครับว่าจะกระจายอยู่ถึงเขตมหาสมุทรแอตแลนติกไม่รุ้ว่าช่วงเวลาพื้นเป็นน้ำแข็งสงสัยมันจะไถลตัวกันสนุกกันเลยนะครับ ปลาตึนมีความยาวลำตัวแตกต่างออกไป ตั้งแต่เพียงไม่กี่เซนติเมตร (ซึ่งเป็นส่วนใหญ่) จนถึงยาวเกือบฟุตในบางสายพันธุ์
ปลาตีนแอตแลตติค (Atlantic Mudskipper)
สำหรับในประเทศไทย มีกระจายเป็นตอนๆ ริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดชลบุรี, จังหวัดตราด เรื่อยลงไปถึงจังหวัดปัตตานี ส่วนทางฝั่งทะเลอันดามันพบตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปสุด ชายแดนไทยที่จังหวัดสตูล โดยมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันออกไป เช่น จุมพรวด, ตุมพรวด, กำพุด, กระจัง หรือ ไอ้จัง เป็นต้น เพื่อนๆ ที่อยู่ทางใต้ก็คงมีโอกาสได้พบปลาตีนกันมากหน่อยนะครับ ส่วนบ้านใครเรียกแบบไหนก็เล่าให้ฟังด้วยนะครับ
เจ้าปลาตีนนี่เขามีขนาดหัวที่โตครับ มีตาหนึ่งคู่ตั้งอยู่ส่วนบนสุดของหัวโปนออกมาเห็นได้ชัด ดวงตาสามารถกรอกไปมาได้ จึงใช้มองเห็นได้ดีเมื่อพ้นน้ำ สามารถเคลื่อนที่บนบกได้ โดยใช้ครีบอกที่แข็งแรงไถลตัวไปตามพื้นเลนและสามารถกระโดดได้ด้วย และสามารถใช้ชีวิตอยู่บนบกได้เป็นเวลานานเนื่องจากมีอวัยวะพิเศษอยู่ข้างเหงือกที่สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้ ซึ่งบางภาพจะได้เห็นว่าแก้มมันป่องออกมาน่ารักเชียว ส่วนนั้นแหละครับที่มันเก็บอุ้มน้ำไว้เพื่อช่วยให้เหงือกทำงานได้ดีเมื่ออยู่บนบก ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ตำแหน่งของปากอยู่ปลายสุดของหัวขนานกับพื้น หากินในเวลาน้ำลดโดยกินอาหารจำพวกสัตว์น้ำขนาดเล็กในพื้นเลน ทำให้แลดูผิวเผินเหมือนสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่าปลา
ปลาตีนขณะกำลังกระโดดครับ
ปกติปลาตีนจะอาศัยอยู่รวมกันหลายตัวไม่มีออกนอกเขตของตัวเอง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ปลาตีนตัวผู้จะมีสีเข้มขึ้นและมีอาณาเขตของการสืบพันธุ์ โดยจะมีการสร้างหลุมขึ้นเพื่อเป็นที่ผสมพันธุ์ ซึ่งมันจะใช้ปากขุดโคลนมากอง บนปากหลุม เรียกว่า หลุมปลาตีน และมีพฤติกรรมหวงเขตแดนเมื่อมีปลาตีนตัวอื่นรุกล้ำ โดยจะแสดงการกางครีบหลังขู่ และเคลื่อนที่เข้าหาผู้รุกล้ำทันที หลุมนี้ผมอยากจะเรียกว่าหลุมแห่งรักนะครับ เพราะเมื่อเจ้าตัวผู้ได้คู่ที่หมายปอง ก็จะพาสาวน้อยหลงหลุมเพื่อเสพสุขกันตามประสาครับ
หลุมปลาตีน (หลุมแห่งความรัก)
แต่ความน่ารักของมันสำหรับพ่อค้าหัวใสก็เลยทำเรื่องน่าเศร้าได้ครับ เพราะปลาตีนมักถูกจับมาขายเป็นปลาสวยงามอยู่เสมอๆ โดยมักหลอกขายว่าเป็นปลาน้ำจืดหรือปลาจากต่างประเทศ โดยผู้ค้ามักตั้งชื่อให้แปลกออกไป เช่น คุณเท้า, เกราะเพชร หรือ โฟร์อายส์ เป็นต้น
ก็เป็นเรื่องราวของสัตว์น้อยตัวน่ารักอย่างปลาตีนที่นำมาฝากกัน ป่าชายเลนมีผลดีต่อระบบนิเวศน์เป็นอย่างมาก ถ้ามีปลาตีนก็แสดงว่าที่นี่ยังมีระบบนิเวศน์ที่ดีอยู่ ถ้าเพือนๆ มีโอกาสได้พบเห็นก็ช่วยกันดูแลปกป้องมันบ้างนะครับ ผมไม่อยากได้ยินในอนาคตว่า "ปลาตีนเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์" มีเรื่องราวดีๆ จะนำมาฝากกันใหม่ครับ...mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพจาก
http://wildathull.blogspot.com/2009_11_01_archive.html
http://vadonrege.blogspot.com/2010_09_01_archive.html
http://animalswecare.com/Pets/Fishes/mudskipper_fish.php
http://www.warrenphotographic.co.uk/03306-mudskipper
http://www.naturephoto-cz.com/mudskipper-photo-3210.html
http://www.ecologyasia.com/verts/fishes/blue-spotted-mudskipper.htm
http://www.mudskipper.it/Reprod.html
ขอบคุณแหล่งที่มา