เมื่อ "เคย" ในมหาสมุทรลดจำนวนลง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ออกมาเรียกร้องขอ เขตคุ้มครองทางทะเล ก่อนสัตว์ขั้วโลกจะอดตาย
หากพูดถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่แถวมหาสมุทรแอนตาร์กติก หลายคนคงนึกถึงปลาวาฬ เพนกวิน หรือแมวน้ำ แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งมีชีวิตที่สำคัญต่อระบบนิเวศมากที่สุดและกำลังถูกมองข้ามจนมีจำนวนเหลือน้อยเต็มที กลับเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กอย่้าง คริลล์ หรือ เคยแอนตาร์กติกา (Antarctic krill) เคยแอนตาร์กติกา เป็นสัตว์จำพวกกุ้งที่มีลำตัวเกือบโปร่งแสง มีขนาดเพียงไม่เกิน 2 นิ้ว แต่เมื่อพวกมันอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ก็นับได้ว่าเป็นชีวมวลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก บางฝูงมีขนาดใหญ่จนสามารถมองเห็นได้จากอวกาศ และสามารถขยายให้ใหญ่ออกไปได้อีกเพื่อดึงดูดสัตว์นักล่าตามธรรมชาติ พวกมันมีความสำคัญในฐานะ อาหารจานหลัก'ของสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ในแอนตาร์กติกา เปรียบเสมือนเชื้อเพลงที่ขับเคลื่อนห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศ ซึ่งหากมันมีจำนวนลดลงก็หมายถึงภาวะขาดแคลนอาหารที่จะส่งผลให้สัตว์ชนิดอื่นๆ ต้องตายเพราะความอดอยากเพื่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี ปัจจุบันอนาคตของเคยแอนตาร์กติกาเหล่านี้กำลังตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการประมงเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มมากขึ้น อุณหภูมิของอากาศและน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมันเกิดการละลาย จนบรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างออกมาเรียกร้องให้มีการสร้าง เขตคุ้มครองทางทะเล เพื่อฟื้นฟูจำนวนประชากรเคยแอนตาร์กติกา นักวิจัยระบุว่า การกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล มีขึ้นเพื่อให้พวกเขาสามารถติดตามดูได้ว่าการประมงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร รวมถึงติดตามหาสาเหตุที่จำนวนของประชากรปลาวาฬหรือเพนกวินที่ลดน้อยลงอย่างผิดปกติ คาบสมุทรแอนตาร์กติกาเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการทำประมงมากที่สุด ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุด และเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักวิทยาศาสตร์จึงเน้นย้ำความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทรแอนตาร์กติกอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายการอนุรักษ์ทางทะเลระดับโลก