6 นิสัยที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อสุขภาพจิตที่ดี และ 6 วิธีดูแลสุขภาพจิตใจ สร้างอารมณ์ให้ดี
ปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ ชีวิตนี้การที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้ต้องมี การปรับตัว ปรับอารมณ์ บุคคลผู้ที่สามารถปรับตัวได้ในสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยตนเองมีความสุข สามารถปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงตนเองได้ตามสถานการณ์ ด้วยเหตุด้วยผลอันเหมาะสม มีความยืดหยุ่น มักเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี หากผู้ใดไม่สามารถปรับตัว ปรับอารมณ์ ให้เข้ากับบุคคลในสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ ย่อมเกิดขึ้นความไม่สบายใจ ไม่สบายกาย จนอาจเผลอแสดงออารมณ์ความรู้สึกที่ไม่สมควรออกมา สร้างความลำบากให้ผู้อยู่ในแวดล้อมเดียวกัน เมื่อผู้อื่นเห็นว่าพฤติกรรมของผู้นั้นไม่เหมาะสมจึงมักไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม
สาเหตุของปัญหาจิตใจและอารมณ์
1.ด้านร่างกาย โรคทางกาย โรคสมอง ความพิการ พันธุกรรม
2.ด้านจิตใจ ลักษณะบุคลิกภาพ การพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจ
3.ด้านสิ่งแวดล้อม สภาพสังคม วัฒนธรรม ครอบครัว เศรษฐกิจ
อาการของปัญหาจิตใจและอารมณ์
1.อาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีปัญหาในการนอน แขนขาชา ใจเต้นเร็ว เหนื่อยอ่อนเพลียไม่มีแรง
2.อาการทางจิตใจ เช่น เครียด กังวล ซึมเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง สับสนฟุ้งซ่าน เซ็ง กลัว ระแวง อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย มีความคิดอยากฆ่า
ตัวตาย
3.อาการทางพฤติกรรม เช่น ซึม เฉยเมย กระสับกระส่ายไม่อยู่นิ่ง ก้าวร้าว พูดหรือยิ้มคนเดียว ไม่สนใจตนเองและสิ่งแวดล้อม เดินเรื่อยเปื่อยไม่มีจุดหมาย ติดแอลกอฮอล์ติดยาเสพติด
6 นิสัยที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อสุขภาพจิตที่ดี
1.ขี้ระแวง คนที่มีนิสัยขี้ระแวงเป็นคนที่ไม่ค่อยไว้วางใจใคร เช่น ใครทำอะไรคิดอะไรก็นึกไปว่ามีความประสงค์ร้ายกับตน คิดว่าใคร ๆ ก็ไม่รัก ไม่นับถือ ระแวงว่าถูกทรยศหักหลัง ถ้าคุณเป็นเจ้านาย ก็จะระแวงว่างานที่มอบหมายให้ลูกน้องอาจทำไม่สำเร็จ ถ้าคุณมีแฟนก็ระแวงว่าแฟนมีจะไปมีคนอื่น
2.ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง นิสัยไม่มั่นคงในตนเองมักสร้างความทุกข์อย่างยิ่ง เพราะไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตได้ ตั้งแต่เรื่องเล็กจนถึงเรื่องใหญ่ นิสัยขาดความเชื่อมั่นในตนเองใช่ว่าเจ้าของนิสัยจะชอบ แต่ไม่อาจลบล้างความรู้นึกด้อยในใจตนเองได้ ทั้งที่ความรู้สึกนี้อาจไม่ใช่ความจริง
3.มักกล่าวโทษผู้อื่นอย่างไม่รู้จบสิ้น คนที่คอยแต่โทษผู้อื่นเห็นความผิดของคนอื่นนั้นยิ่งใหญ่เท่าภูเขา เป็นความผิดที่ร้ายแรงที่ไม่มีวันให้อภัย มองเห็นแต่ความไม่ดี ความไม่ถูกต้อง ความไม่เหมาะสมของคนอื่น โดยไม่มองด้วยใจที่เป็นกลางเป็นธรรม มองด้วยเหตุผล ถ้ามีนิสัยเช่นนี้ ย่อมทำให้ทนทุกข์และไร้ความสุขอย่างแน่นอน
4.ชอบหลีกหนีปัญหา ด้วยการหาทางออกให้กับตนเองอย่างผิด ๆ เช่น การดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด การเล่นการพนัน คิดว่าการใช้สุรายาเสพติดเป็นการแก้ปัญหา แต่จริง ๆ แล้วกลับเป็นการเพิ่มปัญหาให้มากขึ้น ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข มิหนำซ้ำกลับทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนเข้าไปอีก
5.มองโลกในแง่ร้าย คนที่คิดหรือมองคนอื่นในแง่ลบ มักมีชีวิตในแต่ละวันด้วยความหดหู่ เศร้าหมอง มองผู้คนรอบตัวว่าเป็นศัตรูของตนเอง เป็นผู้ที่คอยทำลายตนเอง เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองต่างก็เป็นเรื่องที่เลวร้ายทั้งนั้น
6.หมกมุ่นอยู่กับความอาฆาตแค้น ชิงชัง ริษยา จิตใจเช่นนี้หาความสงบได้ยาก เพราะคอยแต่อาฆาตแค้น ไม่ยอมอภัย คอยคิดทำร้าย มีทางใดที่จะชนะหรือทำให้คนที่ตนเห็นเป็นศัตรูเดือดร้อนเจ็บปวดก็จะทำ ถ้ามีนิสัยอย่างนี้ก็จะมีแต่ความทุกข์ไม่หยุดหย่อน
6 วิธีดูแลสุขภาพจิตใจ สร้างอารมณ์ดี
1.สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว ใช้เวลาในการกระชับความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน พูดคุยมีปฏิสัมพันธ์ ทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว
2.ดูแลสุขภาพร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง เดิน โยคะ เต้น ขี่จักรยาน ทำสวน จะช่วยเสริมอารมณ์ ปรับสุขภาพให้ดีขึ้น กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดื่มน้ำและนอนหลับอย่างเพียงพอ
3.เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ทักษะความสามารถ ความรู้ใหม่ ๆ จะช่วยให้รู้สึกว่าตนประสบความสำเร็จในการทำสิ่งนั้น ๆ เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง อาจเริ่มจากการทำงานอดิเรก ศาสตร์ที่สนใจ เช่น ทำอาหาร เล่นดนตรี เย็บปักถักร้อย
4.หลีกเลี่ยงสารที่เป็นอันตราย อย่าใช้สารที่เป็นอัตราย เช่น ยาเสพติด แอลกอฮอล์ บุหรี่ เพื่อรับมือกับความรู้สึก แม้สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นในระยะสั้น แต่ก็สามารถทำให้รู้สึกแย่ลงในระยะยาว สารเหล่านี้ยังเป็นอันตรายที่ทำให้ทั้งตัวเราและคนรอบข้าง เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายหรือบาดเจ็บได้
5.กำหนดเป้าหมายและลำดับความสำคัญ ตั้งเป้าหมายในชีวิต การใช้ชีวิตอย่างไร้แผนการ ไร้จุดมุ่งหมายอาจทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวลต่อชีวิตในอนาคต จึงควรตั้งเป้าหมายในระยะยาว เพื่อช่วยให้ตระหนักว่าสิ่งที่กำลังทำในปัจจุบันนั้นมีความหมาย เสริมกำลังใจที่จะทำต่อไปเพื่อบรรลุในสิ่งที่มุ่งหวัง อาจเขียนเป้าหมายต่าง ๆ ลงบนกระดาษ เช่น การพัฒนาด้านการศึกษา อาชีพ บุคลิกภาพ และจัดสรรเวลาเพื่อฝึกฝน ทำตามเป้าหมาย ในแต่ละวันอย่างพอดี ไม่ให้กดดันตัวเองมากเกินไป
6.เน้นคิดในเชิงบวกและฝึกขอบคุณตัวเอง พยายามคิดในแง่บวก ยิ้มและบอกขอบคุณตัวเองทุกวัน ปฏิบัติกับตัวเองอย่างเคารพและเมตตา เห็นคุณค่าในตัวเอง หลีกเลี่ยงการวิจารณ์ ด้อยค่าตัวเอง










