ฟังเพลงเศร้า อาจทำให้เรามีความสุข ‘ความสุขที่ถูกซ่อนไว้ในความเจ็บปวด’ เพลงเศร้าที่เชื่อมโยงกับความสุข ร้านเหล้า คือ สถานที่ที่ทำให้เพลงเศร้าสนุกขึ้น
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว นักวิจัยให้คน 44 คน ที่เป็นนักดนตรี และไม่ใช่นักดนตรี ฟังเพลงเศร้า 2 เพลง และเพลงที่เกี่ยวกับความสุข 1 เพลง หลังจากนั้น พวกเขาให้คะแนนการรับรู้เกี่ยวกับดนตรีและอารมณ์ของตนเอง
ผู้เข้าร่วมการทดลอง บอกว่า เพลงเศร้ากระตุ้นให้เห็นความแตกต่างทางอารมณ์ของเพลงจากอารมณ์ของตนเองมากกว่า เพราะเพลงเศร้า มีความโศกเศร้ามากกว่าอารมณ์ที่พวกเขารู้สึกจริง ๆ ทำให้พวกเขาไม่เศร้ามากนักในสถานการณ์ของตัวเอง (พูดง่าย ๆ คือ คนฟังรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองนั้นยังดีกว่าในเพลง)
ความเศร้าที่มาจากเพลง หรือศิลปะ อาจเป็นความเพลินเพลิน ความน่าพอใจ เพราะ มันไม่เป็นอันตรายต่อเราจริง ๆ ไม่เหมือนในชีวิตจริงที่อารมณ์ต่าง ๆ ทำให้เรารู้สึกสั่นคลอนได้
‘ความสุขที่ถูกซ่อนไว้ในความเจ็บปวด’
ความเจ็บสามารถสร้างความสุขแบบแปลก ๆ ให้เราได้จริง จากฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) หรือฮอร์โมนแห่งความสุขที่ปล่อยออกมาเวลาเราทำกิจกรรมที่สนุกหรือเพลิดเพลินไปกับมัน อย่างเช่น ออกกำลังกาย กินของอร่อย นวดสปา หรือการมีเซ็กซ์
หลายครั้งเราก็ ‘เพลิดเพลิน’ ไปกับกิจกรรมที่มีความทรมานแฝงอยู่ มาก-น้อย ช้า-เร็วต่างกันไป อย่างเช่น การกินเผ็ด เล่นเครื่องเล่นหวาดเสียว ดูหนังผี ไปจนถึงการดูหนังหรือฟังเพลงเศร้า โดยเฉพาะช่วงที่เรากำลังอกหัก
สิ่งนี้เรียกว่า ‘Tragedy Paradox’ หรือ ความย้อนแย้ง ที่ใช้ในสถานการณ์ เมื่อคนเราพยายามจะทำอะไรสักอย่างเพื่อลดหรือบรรเทาความเศร้าในชีวิต แต่ก็เจอความสุขในความสวยงามของความเศร้านั้นไปด้วย
ในระหว่างที่เรากำลังฟังเพลงเศร้า ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนโพรแลกทิน (Prolactin) ที่สร้างขึ้นเมื่อน้ำตาเราไหล จะช่วยให้เรารู้สึกบันเทิงไปกับเพลงที่ฟังดูเจ็บปวด เมื่อกำลังมีประสบการณ์กับอารมณ์คลื่นความถี่ต่ำ อย่างเช่น ความเศร้า โหยหาถึงคนที่คิดถึง ความเครียด จะช่วยให้รู้สึกผูกพันและเชื่อมต่อกับสิ่งที่เรารู้สึกว่ามีความหมาย ฮอร์โมนตัวนี้ คือ ตัวเดียวกับฮอร์โมนที่จะปล่อยออกมาตอนที่เราจะได้เป็นพ่อคนแม่คน และได้ยินเสียงลูกร้องไห้
สิ่งที่ทำให้ฮอร์โมนตัวนี้เป็นฮอร์โมนที่ปลอดภัยต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราทั้งที่ปล่อยออกมาตอนฟังเพลงเศร้า เป็นเพราะระบบรับรู้ของเราจับได้ว่า ‘เรากำลังฟังเพลงเศร้า เพื่อให้นึกถึงช่วงเวลาที่เศร้าตอนนั้น แต่เราไม่ได้กำลังอยู่ในเหตุการณ์ที่ทรมานหดหู่ตอนนี้’
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการแยกกันระหว่างเรื่องจริงตรงหน้ากับอารมณ์ที่เกิดขึ้น (Dissociation) ความเจ็บปวดทางจิตใจที่หนักหนาจนใจรับไม่ไหวก็ไม่เกิดขึ้น ทว่ากลายเป็นความผ่อนคลายหรือสบายใจเข้ามาแทนที่
เพลงเศร้าที่เชื่อมโยงกับความสุข
จากบทความ The Pleasures of Sad Music ในปี 2015 กล่าวว่า การฟังเพลงเศร้าจะเป็นประโยชน์ต่อคนคนนั้นได้จริงก็ต่อเมื่อ
1.เจ้าตัวฟังแล้วไม่ได้รู้สึกว่ากำลังโดนจู่โจม หรือคุกคามจากเพลง
2.ฟังเพลงนั้นแล้วสัมผัสได้ถึงความสวยงามในความเศร้า (Aesthetic) อย่างเช่น ท่วงทำนองที่บาดใจแต่ไพเราะ หรือเนื้อร้องที่ลึกซึ้งเหลือเกิน
3.เพลงนั้นสร้างประโยชน์ทางจิตวิทยา อย่างเช่น เปลี่ยนอารมณ์ให้ดีขึ้น ช่วยสร้างความรู้สึกร่วมต่อผู้อื่น (Empathic Feelings) หรือช่วยให้จดจำ และตกผลึกกับเหตุการณ์ในอดีตบางอย่าง
ร้านเหล้า คือ สถานที่ที่ทำให้เพลงเศร้าสนุกขึ้น
การนึกถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองผ่านเพลงเศร้า ทำให้เรารับรู้ได้ว่า มันต้องมีคนเคยเจออะไรมาเหมือน ๆ เรา การได้แชร์อารมณ์และเป็นส่วนหนึ่งของท่วงทำนองบาดใจที่ได้ตะโกนร้องออกมาดัง ๆ พร้อมกันในร้านเหล้า ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและโล่งใจได้อย่างน่าประหลาด
วิธีที่ทำให้สุขภาพจิตเราดีขึ้น คือ การรับรู้ว่า ‘เราไม่ได้อยู่กับสิ่งแย่ ๆ นี้คนเดียว’ เป็นกระบวนการเดียวกับประโยชน์ของการมี Support Group หรือกลุ่มสนับสนุนชุบชูใจของคนที่เคยผ่านเรื่องราวหนักหนาต่าง ๆ อย่างเช่น ติดยา ติดเกม หย่าร้าง คนที่รักเสียชีวิต ได้มาเจอกันเป็นประจำและอยู่ให้กำลังใจกัน
















