ยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ ของนาซา สร้างประวัติศาสตร์โดยการเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด
ยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker Solar Probe - PSP) ขององค์การนาซา หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ยานสัมผัสดวงอาทิตย์ กำลังพุ่งเข้าไปในชั้นบรรยากาศภายนอกของดวงอาทิตย์ และเผชิญกับอุณหภูมิที่เลวร้ายและรังสีที่แผ่กระจาย ยานนี้โคจรรอบดวงอาทิตย์ไปแล้ว 21 ครั้ง นับตั้งแต่ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปี 2018 โดยมุ่งหน้าสู่ใจกลางของระบบสุริยะ และเข้าใกล้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในวันคริสต์มาสอีฟ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา ยานลำนี้ได้ทำลายสถิติด้วยการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด โดยอยู่ห่างจากพื้นผิวของดวงอาทิตย์ราว 6.2 ล้านกิโลเมตรเท่านั้น ถือว่าใกล้มากหากเปรียบเทียบว่าโลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 93 ล้านไมล์ นักวิทยาศาสตร์ของนาซาบอกว่า ยานไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้เป็นเวลาหลายวันในระหว่างการบินผ่านอันร้อนระอุนี้ และจะต้องทนต่ออุณหภูมิที่สูงถึง 1,400 องศาเซลเซียส รวมถึงรังสีที่อาจจะแผ่ออกมา ทำให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์บนยานเสียหาย ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ทำได้เพียงรอสัญญาณ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 ธ.ค. เพื่อดูว่าตัวยานจะรอดอยู่หรือไม่ ดร. นิโคลา ฟ็อกซ์ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของนาซา กล่าวว่า มนุษย์ศึกษาดวงอาทิตย์มาหลายศตวรรษแล้ว แต่เราไม่สามารถสัมผัสบรรยากาศของสถานที่ใดสถานที่หนึ่งได้จนกว่าจะได้ไปเยือนสถานที่นั้นจริงๆ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสัมผัสบรรยากาศของดวงอาทิตย์ได้อย่างแท้จริง ยกเว้นแต่ว่าเราจะบินผ่านมัน ซึ่งภารกิจของยานนี้ หากรอดจากความร้อนแรงของดวงอาทิตย์ไปได้ จะช่วยให้เราเข้าใจการทำงานของดวงอาทิตย์ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อยานอวกาศเคลื่อนผ่านชั้นบรรยากาศชั้นนอก หรือ โคโรนา (Corona) ของดวงอาทิตย์ ซึ่งจะสามารถไขปริศนาที่สืบต่อกันมายาวนาน ว่าทำไมโคโรนาถึงได้ร้อนมากเหลือเกิน อีกทั้งภารกิจนี้ ยังควรช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจลมสุริยะ ซึ่งเป็นกระแสของอนุภาคมีประจุที่พุ่งออกมาจากโคโรนาอย่างต่อเนื่องได้ดียิ่งขึ้น