วิตกกังวลในทุก ๆ เรื่อง อย่างต่อเนื่อง แบบไม่มีเหตุผล มักคิดถึงแง่ร้ายก่อนเสมอ จนมากเกินความจำเป็น ทำให้ส่งผลให้กระทบต่อชีวิตประจำวัน
วิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล Free-Floating Anxiety คือ อาการวิตกกังวลโดยไม่ได้ทราบสาเหตุ ไม่ผูกพันกับเหตุการณ์ หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง อาการนี้มักเกี่ยวข้องกับคนที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder หรือ GAD) คือ การวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง กังวลมากเกินความจำเป็นส่งผลให้กระทบชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งแม้ไม่มีอะไรให้กังวล แต่มักคาดเดา จินตนาการถึงสิ่งที่แย่ที่สุดไว้ก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องงาน เงิน ครอบครัว สุขภาพ ความสัมพันธ์
อาการ – สัญญาณเตือน ภาวะวิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล
1.มีความรู้สึกวิตกกังวล ไม่สบายใจ กลัว กระวนกระวายใจ ตื่นตระหนก สงสัย คับข้องใจ เกิดความเครียด กับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ความรู้สึกเหล่านี้จะมา ๆ หาย ๆ ไม่มีที่มาชัดเจน ไม่มีสาเหตุ
2.กระสับกระส่าย หวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย
3.อ่อนเพลียเหนื่อยล้าง่าย
4.ใจลอย หงุดหงิดง่าย
5.ปวดตึงกล้ามเนื้อ ปวดหัว ปวดท้อง ปวดตามร่างกาย
6.ไม่สามารถควบคุมความกังวลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ มีความคิดเชิงลบ มักมีข้อสรุปที่แย่ที่สุดเสมอ
7.รู้สึกไม่ผ่อนคลาย ไม่มีสมาธิ
8.หน้ามืดบ่อย เวียนหัวง่าย
9.ตกใจง่าย มีอาการสั่น หรือ กระตุก
10.นอนหลับยาก หรือ นอนไม่หลับ
11.เบื่ออาหาร กลืนอาหารได้ลำบาก
12.เหงื่อออกง่าย หายใจติดขัด
สาเหตุ ภาวะวิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล
1.พันธุกรรม หรือ พื้นฐานดั้งเดิม หากพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล ลูกจะมีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลเช่นกัน
หรือ มีพื้นฐานที่ไม่กล้าแสดงอารมณ์ออกมา
2.สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู จากการเลียนแบบพฤติกรรมพ่อแม่ คนใกล้ชิด
3.การประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล ประสบการณ์เชิงลบที่กระทบกระเทือนจิตใจ มีบทบาทให้เกิดความรู้สึกเครียด หวาดกลัว รู้สึกวิตกกังวลจนนำไปสู่ความวิตกกังวลมากกว่าปกติได้
4.สารเคมีในสมองไม่สมดุล ระบบสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองชื่อ ว่า Serotonin และ สมองส่วนที่เรียกว่า Amygdala เมื่อเกิดความไม่สมดุลจะมีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลได้มากกว่าปกติ
วิธีรับมือ ภาวะวิตกกังวลแบบไม่มีเหตุผล
1.ทำตัวเองให้ผ่อนคลายด้วยการ ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ฝึกการกำหนดลมหายใจ นวดเพื่อผ่อนคลาย เป็นต้น
2.หางานอดิเรกที่ชอบทำเพื่อเลี่ยงความวิตกกังวลสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันลง
3.ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ลดการสูบบุหรี่ แม้จะช่วยคลายความกังวลได้บ้าง แต่ไม่นานนักความกังวลจะวนกลับมาเช่นเดิม และเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ในระยะยาว จะทำให้เสพติดแอลกอฮอล์กับนิโคติน เพิ่มความกังวลปัญหาด้านสุขภาพ
4.ลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนมีส่วนกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว เมื่อร่างกายได้รับมากไปในขณะที่กำลังเกิดความวิตกกังวล อาจกระตุ้นให้เกิดความกังวลมากยิ่งขึ้น
5.จัดการความคิด ไม่ควรกล่าวโทษตัวเอง หรือ คิดในแง่ลบก่อนที่เหตุการณ์จะเกิด ลองปล่อยวางให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นมาก่อน แล้วฝึกมองโลกตามความเป็นจริง ฝึกการปล่อยวางเรื่องต่าง ๆ ทั้งดี และ ร้าย รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจ