โรคคิดไปเองว่าป่วย Hypochondriasis ไปหาหมอกี่ครั้งก็ไม่เชื่อคำวินิจฉัย จะไปตรวจหาโรคนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
โรคคิดไปเองว่าป่วย Hypochondriasis ผู้ป่วยจะมีความเชื่อว่าตนเองป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่ง รู้สึกกังวล ตื่นตัวต่อความผิดปกติด้านสุขภาพมากเกินไป แม้จะไปหาหมอได้รับคำวินิจฉัยกี่ครั้งว่าไม่ได้เป็นอะไร ก็จะไม่ยอมเชื่อง่าย ๆ ทำให้ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจโรคหลายครั้ง เพราะคนกลุ่มนี้จะเชื่อว่าตัวเองป่วยจริง
อาการของโรคคิดไปเองว่าป่วย Hypochondriasis
- กังวลมากกว่าปกติเกี่ยวกับอาการที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือ เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย
- กังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับอาการ ความเสี่ยง ของการเกิดโรคทางพันธุกรรมที่พบในครอบครัว เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจมีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เมื่อมีอาการแน่นหน้าอก ซึ่งเกิดจากความเครียดทั่วไป ก็จะกังวลว่าตนอาจเป็นโรคหัวใจเช่นกัน
- ตื่นตัวเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของตนเองมากเกินไป
- พูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง และ ความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองเสมอ
- หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับอาการ หรือ โรค ที่คิดว่าอาจเกิดขึ้นกับตนเองซ้ำแล้วซ้ำอีก
- ไม่วางใจในข้อมูล ผลตรวจ ที่ได้จากการพบแพทย์
- ความกังวลที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ความสัมผัสต่อครอบครัวและคนรอบข้าง สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ แต่ที่พบมากจะอยู่ในกลุ่มอายุ 20-30 ปี
- ตรวจสุขภาพร่างกายบ่อยเกินความจำเป็น
- เมื่อไปตรวจโรคหลายครั้งเข้าอาจจะหลีกเลี่ยงการพบแพทย์เนื่องจากกลัวผลการตรวจว่า ตนเองไม่ได้ป่วย
- มีความกังวลเกิดขึ้นติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน คนที่มีความกังวลมักจะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับโรคนั้น ๆ เช่น กังวลถึงการติดเชื้อ HIV ซึ่งเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ คนที่มีพฤติกรรมนี้จะมีความกังวลต่อโรคนี้เป็นพิเศษ หรือ ถ้าเป็นผู้สูงอายุที่เห็นคนใกล้ตัวเสียชีวิตเพราะโรคหัวใจ อาจพบเห็นข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้สูงอายุด้วยโรคหัวใจบ่อย ๆ ก็จะมีความกังวลต่อโรคนี้มากกว่าโรคอื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงสถานที่หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย
อาการดังกล่าวล้วนเกิดขึ้นจาก “ความวิตกกังวล” ของคนนั้นเอง
เมื่อเกิดอาการทางกายบางอย่างหรือหลายอย่าง ทำให้เกิดความวิตกกังวลไปต่าง ๆ นานา ว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือต่อชีวิต ยกตัวอย่างเช่น อาการปวดท้อง อาจเป็นอาการท้องอืด ท้องเฟ้อธรรมดา แต่ ในคนที่เป็นโรคคิดไปเองว่าป่วยจะมีความรู้สึกไวกว่าคนปกติ รู้สึกว่าปวดท้องหนักมาก ทำให้กังวลว่าจะเป็นโรคร้าย แต่พอไปพบแพทย์แล้วทำการวินิจฉัยว่า “ไม่ได้ป่วยก็จะไม่ยอมเชื่อ”
เพราะคนกลุ่มนี้ยังคงจะมีความรู้สึกว่าตัวเองป่วยจริง ๆ และ ไม่ได้แกล้งทำ ซึ่งเกิดจากจิตใต้สำนึกของบุคคลนั้น ขณะที่บางรายมีอาการทางกายบางอย่าง แต่ บางรายก็อาจไม่ได้มีอาการเลย เช่น การนั่งใกล้ผู้ติดเชื้อ HIV แล้วกังวลว่าตนเองจะได้รับเชื้อมาทางระบบทางเดินหายใจ เมื่อพบแพทย์ทำการวินิจฉัยโรคว่าไม่พบ ก็จะหายกังวลไปได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งแล้วกลับมากังวลอีก และจะมาพบแพทย์ใหม่เพื่อทำการวินิจฉัยโรคต่อไปเรื่อย ๆ
วิธีการสังเกตตนเองว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ ?
ให้สังเกตที่จำนวนครั้งในการพบแพทย์ คนทั่วไปหากสงสัยว่าป่วยเป็นโรคอะไร อาจมีการพบแพทย์ซ้ำเป็นครั้งที่สอง เมื่อตรวจไม่พบโรคอีกก็จะเลิกไปพบแพทย์ แต่ ถ้ามีการพบแพทย์ซ้ำมากกว่าสองครั้งขึ้นไป ก็เป็นไปได้ว่าอาจเป็นโรคคิดไปเองว่าป่วย
การดูแลตนเอง หากกังวลว่าเป็น โรคคิดไปเองว่าป่วย
- ให้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในการพูดคุยถึงอาการและการรักษาอย่างตรงไปตรงมา
- หลีกเลี่ยงการปรึกษากับแพทย์หลายท่านและการเข้าห้องฉุกเฉิน
- ทำกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อลดความวิตกกังวล และ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติดเพื่อการผ่อนคลาย
- หลีกเลี่ยงการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเนื่องจากอาจทำให้เกิดความสับสนและความวิตกกังวล
- จดบันทึกความถี่ในการหาข้อมูลด้านสุขภาพ การตรวจเช็คร่างกายหรือการสอบถามผู้เชี่ยวชาญ และ ลดความถี่ในการทำสิ่งต่าง ๆ
- หลีกเลี่ยงการหมกมุ่นกับความวิตกกังวลด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ กับเพื่อนที่ทำงาน ในสังคม และ ครอบครัว เช่น เดินเล่น พูดคุยกับเพื่อน ออกกำลังเพื่อการผ่อนคลาย
การป้องกัน โรคคิดไปเองว่าป่วย Hypochondriasis
โรคคิดไปเองว่าป่วยเป็นโรคที่เกิดอย่างเรื้อรัง การเรียนรู้ในการสังเกตเมื่อเกิดความเครียดและหาวิธีบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร่างกายอาจช่วยลดความเสี่ยงจากโรคลงได้ หากมีความกังวลถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อยับยั้งอาการไม่ให้ทรุดหนักจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน