งานวิจัยพบว่า ไมโครพลาสติกซึ่งส่วนใหญ่มาจากยางรถยนต์ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุให้จำนวนปลาแซลมอนตามธรรมชาติลดลง
โดยเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 2020 มีงานวิจัยที่บอกว่า สารเคมี 6PPD ที่เติมลงในยางเพื่อป้องกันไม่ให้ยางแตก เมื่อเสื่อมสภาพลงแล้วจะกลายสภาพเป็นสารพิษชื่อ 6PPD quinone ซึ่งเมื่อสารพิษชนิดนี้ไหลลงสู่แหล่งน้ำเมื่อไหร่ นั่นคือความหายนะ ซึ่งดูเหมือนว่าเหยื่อรายแรกๆ ของไมโครพลาสติกจากยางรถยนต์ ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล แต่เป็นปลาแซลมอนตามธรรมชาตินั่นเอง ก่อนหน้านี้ชนพื้นเมืองอเมริกัน พายัลลัป ออกแถลงการณ์ให้สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม หรือ EPA แบนการใช้สาร 6PPD ซึ่งเป็นตัวการทำลายสายพันธุ์ปลาแซลมอน นอกจากนี้ ยางรถยนต์ยังก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช รองประธานคณะกรรมาธิการ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ เปิดเผยว่า แหล่งมลพิษสำคัญที่คนไทยยังไม่ตระหนักคือ ฝุ่นจากยางและเบรกรถยนต์ ข้อมูลจาก CNN รายงานว่า ฝุ่นจากยางรถยนต์เป็นไมโครพลาสติกที่แพร่กระจายมากที่สุดในอากาศและน้ำ โดยคิดเป็น 90% ของฝุ่นละอองทั้งหมดจากยานพาหนะ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเพิ่มปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่อันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ อย่างไรก็ดี ไมโครพลาสติกในยางรถยนต์ถือเป็นโจทย์ยากพอสมควร เพราะยังไม่มีวิธีที่สามารถกำจัดออกไปได้ 100% ดังนั้น กฎระเบียบที่เข้มขึ้นอาจช่วยกระเตื้องผู้ผลิตได้ ในปี 2025 สหภาพยุโรป เตรียมบังคับใช้กฎยูโร 7 เพื่อกำหนดขีดจำกัดสำหรับการปล่อยอนุภาคจากเบรก และการปล่อยไมโครพลาสติกจากยาง และมาตรฐานดังกล่าวจะบังคับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยในแต่ละปีนั้นมียางรถยนต์ผลิตออกมาประมาณ 2,000 ล้านเส้น กระนั้น เมื่อยางเริ่มสึกหรอ เสื่อมประสิทธิภาพลง แต่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยน ปล่อยให้เสียดสีท้องถนนไปเรื่อย ๆ จะทำให้ยางแตกตัวออกมาเป็นไมโครพลาสติก และกระจายไปปนเปื้อนกับระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตทั่วไปนั่นเอง