นักวิจัยจีนปล่อยยุงลายที่เป็นหมันออกสู่ธรรมชาติ เพื่อลดจำนวนประชากรยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของไข้เลือดออก
ข่าวสุดเจ๋งนี้ เป็นการเปิดเผยของสำนักข่าวซินหัว รายงานว่า นครกว่างโจว มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน ใช้มาตรการใหม่ในการป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยการปล่อยยุงตัวผู้ที่เป็นหมันจำนวนหลายล้านตัว ยุงที่ใช้ในวิธีการควบคุมทางชีวภาพนี้เป็นยุงลายสวน (Aedes albopictus) เพศผู้ ที่ติดเชื้อวูลบัคเคีย (Wolbachia) เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ยุงเป็นหมัน ซึ่งถูกปล่อยระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายนทุกๆ ปีในหมู่บ้านเสียสือ สถานที่ทดลองแห่งแรก ทั้งนี้กว่างโจว ตั้งอยู่ในเขตกึ่งร้อนชื้นและมีอากาศร้อนชื้นเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยปีนี้กว่างโจวเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงในวันที่ 18 พ.ย. ซึ่งถือเป็นการปิดฉากฤดูร้อนที่ยาวนานถึง 240 วัน เฉียนเหว่ย นักวิจัยจากทีมวิจัยของจีนซึ่งริเริ่มการใช้ยุงดังกล่าวมาควบคุมประชากรยุง อธิบายว่าโรคไข้เลือดออกติดต่อได้จากการถูกยุงลายบ้าน (Aedes mosquito) กัดเป็นหลัก ซึ่งวิธีการฆ่าเชื้อแบบดั้งเดิมจะมุ่งเป้าไปที่ยุงตัวเต็มวัย ตัวอ่อน และดักแด้ ขณะที่ไข่ของยุงอาจสามารถคงอยู่ในสภาพเดิมในแหล่งเพาะพันธุ์ได้เป็นเวลานาน และทำให้กำจัดได้ยาก ยุงลายสวนตัวผู้ที่มีเชื้อวูลบัคเคียและถูกทำให้เป็นหมันโดยทีมงานของเฉียนนั้นถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากและผ่านการคัดกรองในโรงงานดัดแปลงพันธุกรรมยุงในเมืองกว่างโจว และเมื่อปล่อยยุงดังกล่าวแล้ว พวกมันจะไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียในป่า ส่งผลให้ไข่ของพวกมันไม่ฟักเป็นตัวโดย เฉียน ระบุว่า เนื่องจากยุงตัวผู้ไม่กัดหรือดูดเลือด จึงสามารถปล่อยไปได้เป็นระยะเวลานาน ซึ่งวิธีดังกล่าวจะทำให้จำนวนยุงลายบ้านลดลงและป้องกันการแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออกได้นั่นเอง