'สมเด็จเจ้าพระยา'โรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของไทย
วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2432 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีการก่อตั้งโรงพยาบาลจิตเวชโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง'โรงพยาบาลคนเสียจริต'ขึ้นที่ปากคลองสาน รับผู้ป่วยครั้งแรกจำนวน 30 คน
โรงพยาบาลแห่งนี้ทำการรักษาผู้ป่วยโดยแพทย์ประจำ และแพทย์แผนไทย ต่อมาผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้นประกอบกับสถานที่คับแคบ นายแพทย์ไฮเอ็ด เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล กระทรวงนครบาล ผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลได้เสนอให้รัฐบาลซื้อที่ดิน เละบ้านของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือเจ้าคุณทหาร ที่ดินของนายเปียราชานุประพันธ์และที่ดินใกล้เคียงของราษฎรอื่นๆรวมเนื้อที่ 44 ไร่ครึ่งเพื่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ที่ริมคลองสานห่างจากสถานที่เดิมประมาณ 600 เมตร
ด้านสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลมีความร่มรื่นด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม้ดอก ไม้ใบสีสวย เรือนผู้ป่วยเป็นห้องมีลูกกรงสายบัว โปร่ง ไม่มีหน้าต่าง หลังคาสังกะสีทาสีแดง จึงเป็นที่มาของคำว่า'หลังคาแดง'ซึ่งเป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของโรงพยาบาลแห่งนี้
ภายหลังศาสตราจารย์หลวงวิเชียรแพทยาคม (นายแพทย์เถียร ตูวิเชียร) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรกซึ่งเป็นคนไทย ท่านได้บรรยายปาฐกถาเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และเลิกหวาดกลัวผู้ป่วยจิตเวช และได้เปลี่ยนชื่อ “โรงพยาบาลคนเสียจริต” มาเป็น “โรงพยาบาลโรคจิตต์ธนบุรี” ในปี พ.ศ.2475 เพื่อให้คนทั่วไปคลายความรังเกียจที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวช
ต่อมาศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ผู้อำนวยการในช่วงปี พ.ศ.2485-2503 ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ไทย ได้รื้อลูกกรงเหล็กแล้วเปลี่ยนเป็นมุ้งลวดแทน เปลี่ยนชื่อเรือนที่พักของผู้ป่วยเป็นชื่อดอกไม้เพื่อให้มีความหมายน่าชื่นใจ และเปลี่ยนชื่อจาก ”โรงพยาบาลโรคจิตต์ธนบุรี” มาเป็น “โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา” ในปี พ.ศ.2497 ตามชื่อของถนนสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งผ่านหน้าโรงพยาบาล เพื่อลดความกระดากใจของผู้มาใช้บริการโรงพยาบาล
ต่อมาเพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา” ในปี พ.ศ.2545
สถาบันสมเด็จเจ้าพระยาให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ ประสาทจิตเวชศาสตร์ เป็นสถาบันฝึกอบรมทางด้านจิตเวชศาสตร์ สุขภาพจิต และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในระดับก่อนและหลังปริญญา พัฒนางานวิชาการด้านจิตเวชศาสตร์ สุขภาพจิต ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ ประสาทจิตเวชศาสตร์