ยาคุมฉุกเฉิน รู้ก่อนใช้ ปลอดภัยกว่า
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (emergency contraceptive pills, morning-after pills) เป็นยาเม็ดฮอร์โมนขนาดสูง ที่รับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดโอกาสที่จะตั้งครรภ์ การคุมกำเนิดวิธีนี้จะให้ประสิทธิภาพภายใน 2 – 3 วัน โดยจะไปรบกวนการตกไข่ หรือ รบกวนการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิ แต่หากได้รับการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้ว จะไม่สามารถป้องกันได้
ข้อบ่งชี้ในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน
1.หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
2.สตรีถูกข่มขืน (Sexual assault)
3.มีการใช้การคุมกำเนิดที่ไม่ถูกต้อง มีโอกาสล้มเหลว เช่น ถุงยางแตก หลุด หรือ ใส่ไม่ถูกต้อง
4.ลืมทานยาคุมกำเนิด
- ชนิดฮอร์โมนรวมตั้งแต่ 3 เม็ด
- ชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินชนิดเดี่ยวลืมทานเกินเวลา 3 ชั่วโมง จากเวลาเดิมที่ทานประจำ หรือ เกิน 27 ชม.จากเม็ด
- ชนิด desogestrel-containing pill (0.75 mg) มากกว่า 12 ชั่วโมง จากเวลาทานปกติ หรือเกิน 36 ชม.จากเม็ดที่ทานก่อน
5.เลยกำหนดฉีดยาคุม
- มากกว่า 2 อาทิตย์ ชนิด norethisterone enanthate (NET-EN)
- มากกว่า 4 อาทิตย์ ชนิด depot-medroxyprogesterone acetate (DMPA)
- มากกว่า 7 วัน ชนิด combined injectable contraceptive (CIC)
6.diaphragm or cervical cap (ฝาครอบปากมดลูก) หลุด ขาด หรือ แตกก่อนเอาออก
7.ล้มเหลวในวิธีการหลั่งข้างนอก เช่น หลั่งในช่องคลอด หรือ อวัยวะเพศด้านนอก
8.คำนวณวันเว้นมีเพศสัมพันธ์พลาด
9.ห่วงคุมกำเนิดหลุด หรือ ยาฝังหลุด
ยาคุมฉุกเฉิน มีวิธีกินอย่างไร ?
วิธีการกินยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่ถูกต้องคือ ต้อง กินเม็ดแรก ให้เร็วที่สุดภายหลังมีเพศสัมพันธ์แบบที่ไม่ได้ป้องกัน ซึ่งควรกินภายใน 72 ชั่วโมง และ กินเม็ดที่ 2 หลังจากเม็ดที่ 1 ภายใน 12 ชั่วโมง ไม่แนะนำให้กินเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่องต่อเดือน ทั้งนี้สามารถกินยาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ดพร้อมกันในครั้งเดียวได้ โดยที่ประสิทธิภาพ และ ความปลอดภัย ไม่แตกต่างจากการแบ่งกินเป็น 2 ครั้ง แต่อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ง่ายขึ้น
สำหรับในประเทศไทยจะมียาคุมกำเนิดฉุกเฉินจำหน่ายลักษณะเป็นกล่อง โดย 1 กล่องจะมี 1 แผง แต่ละแผงมียาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด โดยในแต่ละเม็ดประกอบไปด้วยยาที่เป็นฮอร์โมนขนาดสูง ลีโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) เม็ดละ 750 กรัม
ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน
1.ประจำเดือนมาไม่ปกติ
2.คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกพะอืดพะอม
3.ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีอาการปวดท้องคล้ายกับตอนมีประจำเดือน
4.เสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูก
ผู้ที่ห้ามใช้ยาคุมกำเนิด
1.ผู้ป่วยมะเร็งของอวัยวะภายในของผู้หญิง และ มะเร็งเต้านม
2.โรคตับเฉียบพลัน หรือ ตับแข็ง มะเร็งตับ
3.เคยหรือเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
4.ความดันโลหิตสูง
5.โรคลิ่มเลือดอุดตัน
6.โรคลมชัก ที่รับประทานยากันชัก
7.โรคเบาหวาน ที่มีภาวะไตทำงานผิดปกติ หรือ มีภาวะหลอดเลือดผิดปกติ
8.อายุมากกว่า 35 ปี สูบบุหรี่จัด อ้วน มีไขมันในเลือดสูง
9.เป็นไมเกรนชนิดที่มีอาการเตือน (Migraine with aura)
ยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพดีในการป้องกันการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะถ้ากินเม็ดแรกทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแทนการคุมกำเนิดปกติ แม้ยาจะปลอดภัยก็ตามเพราะ ขนาดของฮอร์โมนที่สูง ผลข้างเคียงของยา ตลอดจนความผิดปกติของรอบเดือนที่เกิดขึ้น อาการปวดเกร็งช่องท้องน้อย รวมทั้งไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ดังนั้นควรเลือกใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น และ หลังการใช้หากประจำเดือนมาไม่ปกติ ขาดประจำเดือน เลือดออกไม่หยุด ปวดท้องไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์