เกิดมาเพื่อเป็นเกย์
📌
ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใคร เราก็ควรเปิดโอกาสให้เขาได้มีที่ยืนอยู่ในสังคมเดียวกับเราโดยปราศจากอคติทางเพศ เพราะเมื่อเขาเกิดมาเพื่อเป็นเกย์แล้ว …💐
ทุกวันนี้ งานวิจัยหลายชิ้นจากทั่วโลกยืนยันแล้วว่า ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนรักเพศเดียวกัน คุณจะไม่มีทางเปลี่ยนอัตลักษณ์ได้เลย เพราะความเป็นคนรักเพศเดียวกันมันอยู่ในตัวคนนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่เขาจะมีโอกาสแสดงออกมาหรือเปล่า เพราะถึงที่สุดแล้วเราก็อยากเป็นตัวของเราเอง
“พ่อแม่ไม่ต้องเป็นห่วงว่า คนที่เป็นเกย์จะทำให้เด็กคนอื่นลอกเลียนแบบ เพราะขนาดพี่น้องแฝดเหมือนสายเลือดเดียวกัน คนหนึ่งเป็นเกย์ อีกคนไม่ได้เป็นเกย์ก็มี มันไม่เกี่ยวกับกรรมพันธุ์หรือการเลี้ยงดู แต่มันคือความเป็นตัวตนที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ไม่มีใครลอกเลียนแบบใครได้ หากคนนั้นไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นเกย์”
ข้างต้นเป็นบทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ เอ แจ็คสัน จาก Australian National University (ANU) ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับชายรักชายในสังคมไทยในมานานกว่า 30 ปี ความคิดเห็นดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว เพศสภาพบนร่างกายมนุษย์อาจมีเพียง “เพศหญิง” และ “เพศชาย” แต่ “รสนิยมทางเพศ” เป็นเรื่องของ “จิตใจ” มิใช่ “ร่างกาย” ดังนั้น ความรักจึงออกแบบไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะ “รักต่างเพศ” “รักร่วมเพศ” หรือ “รักหมดทุกเพศ” เพียงแต่พวกเขาจะกล้า “เปิดเผย” ตัวตนที่แท้จริง หรือ “ปกปิด” ซ่อนเร้นเอาไว้เพื่อดำรงชีวิตให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียมของสังคม ซึ่งกำหนดให้ “รักต่างเพศ” เท่านั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องดีงาม
ดร.ปีเตอร์ แจ็คสัน ผู้ติดตามงานวิจัยกลุ่มชายรักชายในไทยและประเทศแถบอุษาคเนย์มานานกว่า 30 ปี กล่าวถึงมุมมองของสังคมไทยต่อสถานภาพชายรักชายในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาว่า
“เมื่อสามสิบปีที่แล้ว การวิจัยเรื่องชายรักชายในเมืองไทยที่เป็นภาษาไทย ส่วนมากเป็นการวิจัยทางแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ซึ่งมีพื้นฐานความคิดต่อต้านกลุ่มรักร่วมเพศ โดยมองว่าเป็นพวกจิตวิปริตผิดเพศ ดังนั้น เป้าหมายของการวิจัยจึงเป็นไปเพื่อหาทางบำบัดรักษาหรือแนวทางกำจัดพฤติกรรมรักร่วมเพศให้หมดไปจากสังคม
“งานวิจัยยุคนี้จะเริ่มมีข้อสรุปตั้งแต่ก่อนลงมือวิจัยว่า เกย์หรือชายรักชายเป็นสิ่งไม่ดี เนื่องจากสื่อมวลชนไทย ช่วงประมาณ พ.ศ 2520 มีข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเผยแพร่เรื่องเกย์เป็นปัญหาสังคม หลังจากนั้นบุคลากรทางการแพทย์จึงออกมาแสดงความคิดเห็นต่อต้านกลุ่มเกย์กันมากขึ้น ส่งผลให้งานวิจัยในยุคแรกๆ มีเป้าหมายเพื่อบำบัดรักษากลุ่มรักร่วมเพศเป็นหลัก
“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการยอมรับเกย์มากที่สุดในภูมิภาคนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับลาว เขมร เวียดนาม พม่า ยังมีข้อมูลน้อยมาก เพราะมีปัญหาเรื่องทุนการวิจัย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากวงวิชาการ เพราะยังเป็นพวกอนุรักษนิยม เนื่องจากนับถือศาสนาอิสลาม หรือวัฒนธรรมจีนโบราณ รัฐบาลสิงคโปร์ถึงขนาดมีกฎหมายห้ามเป็นเกย์เลยด้วยซ้ำ ส่วนเวียดนามกำลังยอมรับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะมีปัญหาเรื่องโรคเอดส์ นักวิชาการเวียดนามเริ่มเก็บข้อมูลงานวิจัยทำให้สังคมเกย์เริ่มเปิดตัวมากขึ้น ส่วนสังคมพม่าเพิ่งเปิดประเทศจึงยังไม่มีการวิจัยในเรื่องนี้ แต่มีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนทรงเจ้าในพม่า ซึ่งต้องเป็นกระเทยเท่านั้นถึงจะได้รับตำแหน่งนี้ ทำให้กระเทยมีพื้นที่ของตนเองอยู่ในวัฒนธรรมโบราณของพม่ามาตั้งแต่อดีตเช่นกัน”
ดร.ปีเตอร์ แจ็คสัน กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำคัญของงานวิจัยต่อการยอมรับกลุ่มชายรักชายในแต่ละสังคมว่า
“ถ้ามีงานวิจัยมากขึ้นก็จะทำให้คนในสังคมของประเทศนั้นยอมรับชายรักชายได้มากขึ้นเพราะว่ากลุ่มเอ็นจีโอที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนจะต้องเอาข้อมูลมาจากผลการวิจัย หรือจากบทความของสื่อมวลชน มาช่วยเปิดเผยชีวิตที่แท้จริงของเกย์ การวิจัยจะมีประโยชน์ในการสร้างความคิดที่กว้างขึ้นในสังคมทั่วไป และสร้างโอกาสให้คนกลุ่มนี้มีที่ยืนในสังคมมากขึ้น”
ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเกิดมามีร่างกายเป็นชายแต่ใจเป็นหญิง
ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเกิดมาพร้อมโครโมโซมคู่ที่ Xq28 หรือไม่
ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใคร เราก็ควรเปิดโอกาสให้เขาได้มีที่ยืนอยู่ในสังคมเดียวกับเราโดยปราศจากอคติทางเพศ เพราะเมื่อเขาเกิดมาเพื่อเป็นเกย์แล้ว …
อ้างอิงจาก: ท่าน วันดี สันติวุฒิเมธี และ รูปภาพสวยๆจาก เฟสบุ๊คเพจ: เรื่องของเกย์