ก่อนจะมาเป็นเกย์ เพราะพันธุกรรมในร่างกายของมารดาขณะตั้งครรภ์ หรือไม่?
มีผลการศึกษาใหม่ทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้น ที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศชายนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสภาพทางชีวเคมีในร่างกายของมารดาขณะตั้งครรภ์
ซึ่งผลการค้นพบเหล่านี้ช่วยโต้แย้งความเห็นบางส่วนในสังคมที่มองกันว่า การเป็นเกย์คือพฤติกรรมเลียนแบบตามแฟชั่นหรือเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการใช้ชีวิตเท่านั้น
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทชอร์ (North Shore University )ในรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐฯ เผยว่าพบหน่วยพันธุกรรมหรือยีน 2 ตัวในกลุ่มชายรักชาย ที่มีความผันแปรไปจากลักษณะปกติที่พบในยีนตัวเดียวกันของกลุ่มชายรักเพศตรงข้าม โดยเชื่อว่าอิทธิพลของยีนทั้งสอง ซึ่งมีลำดับเบสในดีเอ็นเอผิดแปลกไปเพียงตัวเดียวนี้ ทำให้ผู้ชายหลายคนมีแนวโน้มที่จะเป็นเกย์มากกว่าคนอื่น
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Scientific Reports ระบุว่าทีมวิจัยได้เปรียบเทียบแผนที่พันธุกรรมของชายที่เป็นเกย์ 1077 คน กับชายที่มีพฤติกรรมรักเพศตรงข้าม 1231 คน จนพบยีนที่มีความแตกต่างออกไป 2 ตัว ได้แก่ยีน SLITRK6 ซึ่งทำงานในสมองส่วนที่มีไฮโปทาลามัสอยู่ด้วย และยีน TSHR ซึ่งมีบทบาทควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยถือเป็นครั้งแรกของวงการวิทยาศาสตร์ที่สามารถระบุตัวยีนซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมทางเพศโดยตรงได้
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ยีนทั้งคู่น่าจะมีผลต่อการรักเพศเดียวกันจริง เพราะมีผลวิจัยก่อนหน้านี้ที่พบว่า ขนาดของส่วนไฮโปทาลามัสในสมองของชายเกย์และชายทั่วไปนั้นมีขนาดไม่เท่ากัน ทั้งเกย์นั้นมักจะมีอาการต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป คล้ายอาการของโรคเกรฟส์ (Graves' disease ) จนทำให้มีรูปร่างผอมบางกว่าปกติ
อีกผลการวิจัยหนึ่งจากมหาวิทยาลัยบร็อก (Brock University) ในแคนาดา พบว่าชายที่มาจากครอบครัวซึ่งมีพี่ชายร่วมท้องมารดาเดียวกันหลายคน จะมีแนวโน้มรักเพศเดียวกันได้มากกว่า โดยเรื่องนี้ไม่ได้เป็นผลจากสภาพแวดล้อมหรือการเลี้ยงดู แต่เกิดจากผลกระทบทางชีวเคมีในครรภ์มารดา
อ้างอิงจาก: ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทชอร์ (North Shore University )