ท่องโลกดึกดำบรรพ์: ฉลามยักษ์ในทะเลใต้ที่เปลี่ยนแปลงไป
ทะเลในโลกของเราเป็นสถานที่รวมระบบนิเวศที่แสนน่าสนใจเอาไว้หลายที่ ในช่วงยุคไพลโอซีนตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ทะเลกำลังเจอกับการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ วันนี้เราจะพาทุกคนไปยังชายฝั่งทางแนวขอบแปซิฟิกของทวีปอเมริกาใต้แถวประเทศเปรู เพื่อไปดูว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลรับมือได้หรือไม่
ทางชายฝั่งแนวขอบมหาสมุทรแปซิฟิกนี้เอง มีความอบอุ่น เป็นทะเลที่มีอากาศอบอุ่นตลอดทั้งปี สาหร่ายทะเลขึ้นงอกงามด้วยความร้อน อีกทั้งยังมีกระแสน้ำอุ่นที่ได้อิธิพลกว้างหอบเอาสารอาหารตามชายฝั่งทะเลมา สาหร่ายที่นี่จึงเติบโตได้สูงมากและมีความหลากหลาย แน่นอนว่า เมื่อมมีพืช ก็มีสัตว์มากมาย
(ทาลาสซ็อกนัส)
คุณเดินลัดเลาะตามชายหาด มีสัตว์หลายชนิดทั้งนกทะเล แมวน้ำช้าง และแมวน้ำกลุ่มต่างๆ นอนหาวอยู่ริมชายหาด สายตาของคุณได้ไปสะดุดตาเข้ากับสัตว์แปลกๆ ที่หน้าตาพิลึกพิลั่น มันมีลักษณะชองขาหน้าคล้ายแขนยาว เล็บแหลม และยังเดินสี่ขา นี่คือสลอธทะเล ทาลาสซ็อกนัส (Thalassocnus) พวกมันคือสลอธบกที่พบได้ทั่วไปในแถบทวีปอเมริกาใต้ในยุคนี้ แต่สลอธเหล่านี้ว่ายน้ำได้เก่งมาก ด้วยมวลกระดูกหนา ขนที่ลดรูปจนเหลือแต่ผิวล้านเลี่ยนทำให้ว่ายน้ำสะดวก ทาลาสซ็อกนัสเดินไปที่ริมชายหาดและเริ่มเดินย่างกรายลงไปยังแหล่งน้ำในทันที เรามาตามไปดูการหากินของพวกมันกันดีกว่านะ
เมื่อตามทาลาสซ็อกนัสลงมา ทะเลแถบนี้มีสาหร่ายทะเลและพืชขึ้นตามโขดหิน ท่ามกลางหมู่ปลา เจ้าสลอธทะเลได้ใช้เล็บขุดเอาต้นสาหร่ายออกมา ด้วยมวลกระดูกหนาแต่เบา ทาลาสซ็อกนัสจึงจงลงก้นทะเลและลอยตัวกลับไปหายใจที่ผิวน้ำได้ ขาของมันจะแบะกว้างคล้ายการว่ายน้ำท่ากบ ขณะที่ขาหน้าพุ้ยน้ำพยุงตัว พวกมันอาศัยในทะเลตื้นๆ แถวนี้เป็นหลักเพื่อจะได้ง่ายต่อการขึ้นมาหายใจเอาอากาศ อีกทั้งทะเลน้ำตื้นจะปลอดภัยต่อการถูกโจมตีโดยนักล่าที่ตัวใหญ่กว่าด้วย
(พิสโคเกเวียลลิส)
นอกจากทาลาสซ็อกนัสแล้ว ยังมีสัตว์อื่นๆ เช่นเต่าทะเลที่หากินเม่นทะเลและแมงกะพรุนอีกด้วย และก็มีสัตว์ที่แปลกประหลาดแบบไม่น่าจะมีอยู่ นี่คือตะโขงทะเล พิสโคกาเวียลลิส (Piscogavialis) ตะโขงนั้นเคยมีสายพันธุ์ที่กระจายตัวไกลถึงอเมริกาใต้ และเนื่องจากการอาศัยหากินในทะเล พวกมันจึงพัฒนาต่อมขับเกลือที่ข้างตาเพื่อคายน้ำเกลือออกมาไม่ให้เกลือส่วนเกินสะสมเป็นพิษ พวกมันใช้ปากยาวๆ จับปลาที่ว่ายผ่านมากินเป็นอาหาร นี่เป็นทะเลที่แปลกมาก ถ้ามีสลอธอยู่ในทะเล ตะโขงที่เป็นสัตว์ที่อยู่กับน้ำจืดก็ดันมาเลือกอาศัยในทะเลด้วยเช่นกัน เราเห็นชีวิตในน้ำตื้นแล้ว งั้นเราลองไปดูทะเลที่ลึกกว่านี้กัน
(โอโดบิโนซีทอปส์)
ว่ายน้ำไกลออกมาอีกเล็กน้อยเป็นกอป่าสาหร่ายเคลป์ขนาดใหญ่ เคลป์เป็นสาหร่ายทะเลสีเขียว พวกมันมีลำต้นสูงยาวได้ถึง 20 เมตร มีใบแหลมรี และมีกะเปาะพิเศษช่วยเก็บอากาศทำให้ลำต้นยืตตรงและไม่จมลง ตามพื้นทะเลมีปลาและเม่นทะเลจำนวนมาก และนั่นก็มีสัตว์ประหลาด หัวดูคล้ายวอลรัส แต่มีลำตัวแบบวาฬ นี่คือ โอโดบิโนซีทอปส์ (Odobenocetops) มีความยาวถึง 4 เมตร เป็นวาฬดึกดำบรรพ์ที่มีงาแหลมสองข้าง มันใช้ในการแยงรู แทง หรือแคะเอาสัตว์ทะเลหน้าดินขึ้นมากินเป็นอาหาร งานี้คือฟันหน้าที่พัฒนาขึ้นมานั่นเอง แต่มันทำงานยังไงล่ะ?
ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มวาฬนั้น มีการแบ่งออกสองจำพวก หนึ่ง วาฬมีฟัน (Odontoceti) เป็นวาฬที่มีฟันใช้ในการกินเนื้อ รวมถึงพวกโลมา และวาฬเพรชฆาต ฟันจึงมีลักษณะคล้ายกรวย และวาฬบาลีน (Mysticeti) ซึ่งมีฟันพัฒนาเป็นซี่กรองคล้ายขนแปรงเพื่อจับและกรองอาหารขนาดเล็กจำพวกคริลล์ แพลงกต์ตอนหรือปลาขนาดเล็ก ในยุคไพลโอซีนนี้ เป็นช่วงวิวัฒนาการของวาฬทั้งสองกลุ่มจนมีมากมายหลายชนิด และที่เปรูเองก็ขุดพบหลายชนิดมากเช่นกัน
เมื่อดูในกอสาหร่ายทะเล โอโดบิโนซีทอปส์ต้องว่ายต่ำตามกอสาหร่ายและระวังนักล่าจากข้างบน มันต้องระวังตัวจากวาฬเพชรฆาตและนักล่าอื่นๆ ในยุคนี้เองก็มีวาฬเพชรฆาตขึ้นมาแล้วเช่นกัน แต่ไม่ใช่นักล่าที่น่ากลัวที่สุดในเวลานี้
(อโครไฟเซตเตอร์)
พลันที่มันชะล่าใจ จู่ๆ มีวาฬขนาดใหญ่ที่ยาวถึง 10 เมตรพุ่งขนาบข้างและกัดคอของมันเข้าจนตาย น้ำทะเลแดงฉานกลายเป็นสีเลือดในทันที นี่คือ อโครไฟเซตเตอร์ (Acrophyseter) วาฬมีฟันที่เป็นญาติกับวาฬหัวทุยในปัจจุบัน วาฬในวงศ์วาฬหัวทุยเคยมีหลายชนิดมาก และเป็นสุดยอดนักล่าทุกแบบที่มันแทบจะนึกออก มันล่าด้วยการกัดด้วยกรามที่แข็งแรง ฟันทรงกรวยขนาดใหญ่ที่แหลมคมจะบดกระดูกและกล้ามเนื้อทำให้ตายในทันที แต่ว่า นี่ก็เป็นเพียงหนึ่งในนักล่าขนาดใหญ่ที่เจอในทะเลตื้น ยิ่งออกทะเลเปิดไป นักล่าจะเยอะขึ้นไปด้วยเช่นกัน
(วาฬฟิน)
ตอนนี้พวกเราเดินทางออกมายังทะเลเปิด วาฬบาลีนที่มีซี่กรองจำนวนมากออกหากินในเวลานี้ พวกมันอ้าปากใช้ปากกว้างกรองเอาคริลล์หรือตัวเคยเข้าปากกินอย่างรวดเร็ว ตัวเคยจะถูกขังในซี่ฟันกรองขณะที่น้ำถูกพ่นออกไปทางปาก จากนั้นเคยทั้งหมดจะถูกซี่กรองสีจนไหลลงไปยังลำคอเข้ากระเพาะต่อไป วาฬบาลีนในทะเลแถบนี้มีหลายชนิด พวกนี้คือ วาฬฟิน (Fin Whale) แน่นอนว่า เป็นวาฬที่พบอาศัยมาจนถึงปัจจุบัน มันใหญ่รองจากวาฬสีน้ำเงินด้วย
(เมกาโลดอน)
ในขณะที่พวกวาฬฟินกำลังเกาะกลุ่มกัน จู่ๆ ก็มีนักล่าตัวหนึ่งเข้ามาจากข้างล่างและโฉบขึ้นมาโจมตีกัดเหยื่อเสยขึ้นบน นี่คือสุดยอดนักล่า ฉลามยักษ์แห่งทะเลเขตนี้ โอโทดัส เมกาโลดอน (Otodus megalodon) เมกาโลดอน แปลว่าฟันซี่ใหญ่ ฉลามชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับฉลามขาว แต่มีลำตัวสั้นตันกว่าและใบหน้ากลมกว้างกว่า ยาวได้ถึง 16 เมตร มันคือฉลามกินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดที่โลกเคยรู้จัก พวกมันมีฟันแหลมคมที่หนึ่งซี่จะมีความกว้างที่ 25 เซนติเมตร และมีแรงกัดมากถึง 40,000 PSI เป็นค่าการกัดที่สูงกว่าฉลามขาวยักษ์ในปัจจุบันถึง 10 เท่าเลยทีเดียว การล่าของมันก็จะเน้นการหลบอยู่ในเงาด้านล่างของทะเลที่เหยื่อไม่สังเกตเห็น แล้วพุ่งพรวดขึ้นมากระแทกพร้อมกับกัดเหยื่ออย่างแรงจนตายในทันที เมกาโลดอนนั้นมีรายงานฝากรอยฟันไว้บนกระดูกวาฬ โดยมันจะเน้นการกัดหางหรือกลางลำตัวเพื่อป้องกันเหยื่อหลบหนีได้
(ลิเวียธาน)
แน่นอนว่า ไม่ใช่แค่เมกาโลดอนเท่านั้น ในเวลานี้มีนักล่าอีกชนิดเข้ามาหากินในพื้นที่ด้วยกัน นี่คือ ลิเวียธาน (Livyathan) ตั้งชื่อตามมังกระทะเลในคำภีร์ใบเบิ้ล แต่มันคือวาฬกลุ่มวาฬหัวทุยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่โลกเคยมีมา พวกมันมีกรามกลมแข็งแรง หัวโตยาวคล้ายวาฬหัวทุยแต่ก็สั้นกว่ามาก แน่นอนว่า มันไม่ได้กินแค่หมึก ปลาเล็ก หรือแมวน้ำ แต่วาฬอื่นๆ และเมกาโลดอนก็กินได้เช่นกัน ลิเวียธานตัวนี้เสียลูกของมันไปให้กับเมกาโลดอนเมื่อหลายเดือนก่อน ตอนนี้ด้วยความที่กระแสน้ำเย็นพัดมาแทรกจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ วาฬอื่นๆ ที่เป็นแหล่งอาหารลดน้อยลง มันต้องลดคู่แข่งด้วยการฆ่าเมกาโลดอนทุกตัวที่มันพบ ด้วยความยาว 19 เมตร ลิเวียธานได้เปรียบมากกว่าทั้งมวลกระดูกที่แข็งแรงกว่าฉลามที่เป็นปลากระดูกอ่อนแน่ๆ
เจ้าสัตว์ยักษ์พุ่งตัวเข้าใส่อริที่กำลังสะบัดส่ายหัวกินเนื้อ มันโขกเข้าไปที่เบ้าหน้าของเมกาโลดอนหนึ่งทีจนเจ้าฉลามคายเหยื่อออกมา เมกาโลดอนตั้งหลักและพุ่งตรงเข้ามาเบียดลิเวียธานให้หงายหลัง ลิเวียธานเอี้ยวตัวหลบก่อนจะกัดครีบหลังของเมกาโลดอนและสะบัดหัวดึงครีบของเจ้าฉลามจนขาดรุ่งริ่งเลือดไหลเต็มน้ำทะเลดูน่ากลัว ในจังหวะชุลมุน เมกาโลดอนเตรียมจะมุดลงข้างล่างใต้ท้องคู่ต่อสู้เพื่อให้อีกฝ่ายมองไม่เห็นแล้ววกกลับขึ้นมากัด แต่ลิเวียธานหันก้มลงและกัดหางของเมกาโลดอน ด้วยแรงกัดมากมหาศาลของลิเวียธาน มันกัดหางของเมกาโลดอนจนครีบหางหลุดขาดลอยตกลงไปที่พื้นทะเลข้างล่าง เมกาโลดอนสิ้นฤทธิ์และจมลงสู่ก้นทะเล ในไม่ช้า มันจะตายลงจากการที่เสียเลือดมากและหายใจไม่ออกเพราะไม่มีอากาศไหลผ่านเหงือกจากการว่ายน้ำไมได้ ลิเวียธานมีแค่รอยถลอกใกล้ดวงตาของมันจังหวะที่เจ้าฉลามว่ายเข้ามากัด แต่บาดแผลก็จะรักษาตัวเองและหายได้ ในที่สุด มันแก้แค้นให้ลูกที่ตายไปได้สำเร็จแล้ว
แน่นอนว่าภาพการต่อสู้นี้เกิดขึ้นบ่อยมากๆ แต่กระนั้นเอง นักล่าทั้งสองต้องใช้ทะเลที่อบอุ่นในการดำรงชีวิต เมกาโลดอนเองออกลูกในชายฝั่งน้ำอุ่นซึ่งมีแหล่งอาหารมากให้ลูกของมันกิน ส่วนลิเวียธานก็อาศัยฝูงวาฬที่อยู่ประจำทะเลน้ำอุ่นเป็นอาหารเช่นกัน แต่จากสภาพน้ำทะเลที่เย็นลง วาฬกลุ่มอื่นๆ จะอพยพย้ายถิ่นหนีไปยังเขตอบอุ่นในจุดอื่นๆ ของโลกได้ แต่ทั้งเมกาโลดอนและลิเวียธานจะตายไปจากการขาดแหล่งอาหารในที่สุด ชีวิตมีหนทางของมันเองเสมอ...
ตอนต่อไป เดินทางไปยังฟลอริด้าใน 3 ล้านปีต่อมา เมื่อสัตว์จากอเมริกาใต้และเหนือเจอกัน พวกมันต้องเอาชีวิตรอดท่ามกลางการแข่งขันอันมากมาย จะมีอะไรรอเราอยู่กันแน่ โปรดติดตามใน ท่องโลกดึกดำบรรพ์!