ท่องโลกดึกดำบรรพ์: ออสเตรเลียแดนใต้ลึกลับ
ในช่วงยุคน้ำแข็ง (60,000-11,000) ปี ช่วงเวลานี้ตรวกับการที่สภาพแวดล้อมทั่วโลกเปลี่ยนแปลง ทุ่งหิมะและทุ่งหญ้าปกครองไปรอบทุกส่วนของโลก เว้นทวีปออสเตรเลียที่แยกตัวเป็นเอกเทศ ด้วยเหตุที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ออสเตรเลียจึงได้รับอิธิพลความชื้นมากจนมีป่าดิบชื้นปริมาณมาก ทุ่งหญ้าและทะเลทรายยังมีน้อยอยู่มากนัก
แน่นอนว่า ในออสเตรเลีย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มเด่นๆ อย่างสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง หรือมาร์ซูเพียล ก็ติดมายังทวีปออสเตรเลียด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าในช่วงที่ทวีปออสเตรเลียยังต่อกับทวีปอื่นๆ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีรกและมาร์ซูเพียลก็ติดมาอยู่ในออสเตรเลียก่อนหน้า และมีช่วงเวลาหนึ่งที่พวกมีรกพากันหายไปจากทวีปนี้ ทำให้มาร์ซูเพียลขยายพันธุ์ได้มากกว่าและตัดขาดไปเมื่อสะพานแผ่นดินจมลงสู่ทะเล เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มออกไข่อย่างโมโนทรีม (Monotreme) ก็ได้ติดมาเช่นกัน แน่นอนว่ามีโมโนทรีมบางส่วนในอเมริกาใต้เช่นกัน แต่พวกมันก็สูญพันธุ์ไปแล้วอีกด้วย
ในป่าโล่งของทวีปออสเตรเลีย คุณเดินย่างกรายไปท่ามกลางดงมะเดื่อและยูคาลิปตัส มีต้นไม้มากหลายชนิดและมีนกกระตั้วชนิดต่างๆ นอกจากนี้ มีโคอาล่าอาศัยปีนป่ายหากินอยู่บนต้นไม้ และจิงโจ้ต้นไม้อีกด้วย พวกมาร์ซูเพียลเหล่านี้มีขนาดเล็ก และเพราะมีลูกในกระเป๋าหน้าท้อง จึงมีอัตราการเผาผลาญพลังงานต่ำเนื่องจากไม่ต้องอุ้มท้องนาน และยังปกป้องลูกจากภัยร้ายได้ด้วยถึงแม้ตัวแม่จะตายไปแล้วก็ตาม แน่นอนว่า มันจะเทียบไม่ได้กับราชาแห่งจิงโจ้ในยุคดึกดำบรรพ์เลยแต่น้อย
(โปรคอปโตดอน)
นั่นไงล่ะ! นี่คือจิงโจ้ยักษ์ดึกดำบรรพ์ที่ยาว 3 เมตร นี่คือ โปรคอปโตดอน (Procoptodon) มันมีลักษณะโดยรวมคล้ายกับจิงโจ้ปัจจุบัน แต่มีใบหน้าสั้น และมีนิ้วเท้าหลังที่ยาวหลอมรวมคล้ายกีบ ด้วยวิธีนี้ พวกมันสามารถกระโดดได้อย่างรวดเร็วเพื่อตามหาพืชผักกินในป่า โปรคอปโตดอนนั้นชอบกินใบยูคาลิปตัส และพวกมันอาจจะมีกระเพาะสี่ช่องคล้ายกับวัวสำหรับหมักใบไม้ที่มันกินได้อีกด้วย
(เจนนอร์นิส)
นอกจากโปรคอปโตดอน ยังมีนกยักษ์ที่เป็นญาติห่างๆ ของนกอีโก้งแต่บินไม่ได้ นี่คือ เจนนอร์นิส (Genorynis) ด้วยความสูงถึง 3 เมตร มันคล้ายนกกระจอกเทศมาก แต่มันก็ใช้พื้นที่ป่าในการหาอาหารจำพวกต้นพืชกินเป็นอาหารอีกด้วย สัตว์ยักษ์เหล่านี้ก็ยังไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ในป่า
(ไดโปรโตดอน)
เดินมาอีกนิด คุณเจอกับน้ำตกขนาดใหญ่ที่เกิดเป็นแอ่งลำธารขนาดใหญ่ มีสัตว์ขนาดใหญ่หน้าตาประหลาดอยู่ หัวของมันกลมโตและใหญ่มาก นี่คือ ไดโปรโตดอน (Diprotodon) มาร์ซูเพียลยักษ์ขนาด 4 เมตร ด้วยขนาดตัวพอๆ กับฮิปโป แต่มันคือญาติห่างๆ ของวอมแบท พวกมันกินพืชและเลี้ยงลูกอ่อนในป่าแถบนี้ จากการศึกษาฟอสซิลของไดโปรโตดอนที่มีลูกพบว่า พวกมันมีช่องกระเป๋าหน้าท้องที่หลังใช้ให้ลูกอ่อนนอน เวลาที่ลูกนอนจะกลับหัวดูแปลกประหลาด ถ้ายังไม่พิลึกพอ มีญาติห่างๆ ที่ยาวเท่ากันของไดโปรโตดอนอย่างเจ้าปาร์ลอเคติส (Palorchetes) ซึ่งมีงวงยื่นออกมา ท่าทางการเดินของมันคล้ายสมเสร็จผสมกับหมีเลย
(ไทลาโคลีโอ)
มีเหยื่อแล้วก็ต้องมีนักล่า ขณะที่พวกมันกำลังดื่มน้ำและเดินเล่นอยู่ จู่ๆ ลูกไดโปรโตดอนตัวหนึ่งก็ถูกบางอย่างร่วงลงมาจากต้นไม้ สัตว์ตัวนั้นใช้ฟันเขี้ยวหน้างับเข้าไปที่ลำคอและกัดมันลงจนลูกไดโปรโดตอนร้องเสียงแหลม นี่คือ ไทลาโคลีโอ (Thylacoleo) เป็นมาร์ซูเพียลขนาด 2 เมตรที่มีเขี้ยวหน้าและดุร้ายพอๆ กับสิงโต วิธีการล่าของมันค่อนข้างคล้ายเสือดาวในทวีปเอเชียมาก แต่กระนั้นมันมีฟันหน้าสองซี่ที่แหลมคล้ายสิ่วแทนการมีฟันเขี้ยวในการเจาะเหยื่อ โชคดีที่แม่ของไดโปรโตดอนเข้ามาเห็น ด้วยน้ำหนักที่มากกว่าและพละกำลังมหาศาล มันยกขาหน้าฟาดลำแข้งกระแทกไทลาโคลีโอจนปลิวหลุดกระเด็นกลิ้งหลุนๆ ออกมา ไทลาโคลีโอที่สู้ไม่ได้รีบปีนหนีกลับขึ้นไปบนต้นไม้ในทันที โชคดีไป
ในลำธารแห่งนี้ นอกจากจะมีกุ้งเครฟิชและปลาจำนวนมากแล้ว ยังมีตุ่นปากเป็ดยักษ์ที่ยาวถึง 1 เมตร นี่คือตัวอย่างของกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการออกไข่ โมโนทรีมมีลักษณะโบราณคล้ายรอยต่อวิวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อออกไข่และไข่ฟักออกมาแล้ว ลูกๆ ของพวกมันต้องกินนมอีกสักระยะจนกว่าจะโตพอ ตุ่นปากเป็ดคือเจ้าแห่งลำธาร พวกมันมีปากที่แบนและสายตาที่ไม่ดีแทบจะบอดสนิท แต่ปลายปากมีเซลล์รับสัญญาณไฟฟ้าเรียกว่าอิเล็กโตรฟอร์ (Electrophores) ซึ่งจะจับสัญญาณเคมีไฟฟ้าที่ออกมาจากสิ่งมีชีวิต และทำให้มันจับกุ้งหรือแมลงกินได้
(เมกาลาเนีย)
เมื่อเดินทางออกมายังทุ่งหญ้าใหญ่ มีฝูงโปรคอปโตดอนเดินทางมาเตรียมจะอพยพไปยังป่าอีกฟาก แน่นอนว่าในทุ่งหญ้านี้มีนักล่าขนาดใหญ่ ขณะที่โปรคอปโตดอนตัวหนึ่งกำลังออกตัวกระโดด จู่ๆ พลันถูกสัตว์คล้ายตะกวดขนาดใหญ่งับลำคอไว้ นี่คือ เมกาลาเนีย (Megalania) มันคือญาติสายตรงของมังกรโคโมโด บรรพบุรุษของมันออกมาจากอินโดนีเซียทางแพข้ามมายังออสเตรเลียได้ และเพราะไม่มีนักล่าขนาดใหญ่เท่าบนทวีปเอเชีย พวกมันพัฒนาขนาดร่างกายจนยาวถึง 8 เมตรเลยทีเดียว การกัดของมันจะฉีดพิษผ่านฟันโค้งแหลมเข้าไปยังบาดแผล บวกกับการติดเชื้อแบคทีเรียจากสภาพแวดล้อม ในไม่ช้า มันก็ลงมือฉีกกระชากกินโปรคอปโตดอนตัวนั้นได้
(ควินกานาและเมกาลาเนีย)
ขณะที่มันกำลังกินอยู่ นักล่าอีกชนิดที่ตัวเล็กกว่าก็เข้ามา นี่คือ ควินกานา (Quinkana) จระเข้บกที่ยาว 5 เมตร มันเดินด้วยลำตัวยกสูง ขาแบะออกข้าง มันล่าด้วยวิธีเดียวกันกับเมกะลาเนีย แต่มีลักษณะเพรียวกว่าและเน้นแรงกัด เมื่อมันจับเหยื่อได้ จะสะบัดเหยื่อไปด้านข้างให้เหยื่อเจ็บหนักจนตาย แน่นอนว่ามันย่องมาช้าๆ กะจะแย่งเหยื่อของเมกะลาเนีย
แต่แล้ว เสียงเหยียบกิ่งไม้ของเจ้าควินกานาดังขึ้น เมกาลาเนียโผล่ออกมาและอ้าปากขู่พร้อมยกหางตี ควินกานาก็ส่งเสียงร้องเตือนเช่นกัน แต่ยังคงไม่ยอมปล่อยน่องขาโปรคอปโตดอนที่มันกัดได้ แน่นอนว่านอกจากการกัดแล้ว เมกาลาเนียอาจจะใช้หางในการตีฟาดนักล่าอื่นๆ ได้ และถ้าเป็นเมกาลาเนียด้วยกันเองแล้ว มันก็จะพุ่งใส่กอดรัดฟัดเหวี่ยงแบบที่ตัวเงินตัวทองในปัจจุบันทำ สุดท้ายแล้ว เจ้าควินกานาก็รีบหันหลังหนีไปทิ้งเมกาลาเนียไว้
(วอนัมบี)
เดินมาอีกนิด ใกล้จะเย็นแล้ว คุณเห็นรังของเจนอร์นิสที่มีลูกเจนอร์นิสวัยกำลังซนสามตัวออกวิ่งเล่นอยู่ ขณะนี้พวกมันไม่รู้ทันถึงอันตราย และแล้ว งูยักษ์ขนาด 6 เมตรพุ่งออกมาจากที่ซ่อนและรัดมัน นี่คือ วอนัมบี (Wonambi) งูยักษ์ชนิดนี้ล่าคล้ายงูเหลือม แต่มันสืบเชื้อสายมาจากพวกงูแมทโซเอีย หรืองูยักษ์ประเภทรัดเหยื่อดึกดำบรรพ์ที่พบในซีกโลกใต้ พวกมันล่ากินจิงโจ้และนกเป็นอาหาร เจนนอร์นิสวัยอ่อนถือว่ากินง่ายมากๆ
แน่นอนว่าเหล่ายักษ์ใหญ่แห่งออสเตรเลียนั้นสำคัญต่อระบบนิเวศ และยังช่วยให้เราเข้าใจถึงวิวัฒนาการของสัตว์ในทวีปนี้ที่ยังมีความลับอีกมาก แต่ว่า สุดท้ายพวกมันก็สูญพันธุ์ไปหมดจากการเข้ามาของมนุษย์ และออสเตรเลียเริ่มเย็นแห้งทำให้ต้นไม้ใหญ่ที่ใช้น้ำมากหายไป พร้อมๆ กับที่มนุษย์ล่าพวกมันเป็นอาหารและเผาป่าทำให้ที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารลดลง เร่งสภาพการเปลี่ยนของป่าเป็นทุ่งหญ้าในที่สุด
ตอนต่อไป เดินทางไปยังอเมริกาเหนือ ในช่วง 30,000 ปี เมื่อแคลิฟอร์เนียมีช้างยักษ์และสัตว์ดุร้าย มนุษย์กลุ่มแรกได้เดินทางเข้ามายังทวีปนี้ และพบว่าบ่อน้ำมันดิบในทุ่งหญ้าแห่งนี้อันตรายมากๆ พร้อมจะพรากชีวิตของพวกมัน จะมีอะไรรอเราอยู่ โปรดรอติดตามใน ท่องโลกดึกดำบรรพ์!