ทองคำ บนโลกนี้มีเท่าไหร่ และถูกใช้ไปเท่าใดแล้ว
ทองถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ถูกสำรวจเจอที่ไหนที่นั่นก็รวย เคยรู้บ้างไหมว่ามีทองอยู่บนโลกนี้เท่าไหร่ และถูกใช้ไปแล้วแค่ไหน งั้นมาดูกัน โดยทองคำ นั้นเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่พบได้ในหินเกือบทุกชนิด โดยเฉลี่ยแล้วมีประมาณ 0.0035 กรัมต่อตันในเปลือกโลก และมีประมาณ 0.00003 ตันในน้ำทะเล แต่จะมีบางบริเวณเท่านั้นที่มีสภาพทางธรณีวิทยาเหมาะสมต่อการสะสมตัวของทองคำ และเกิดเป็นแหล่งแร่ทองคำ ได้ ซึ่งสามารถจำแนกตามลักษณะการเกิดได้เป็น 2 แบบ คือแหล่งทองคำแบบปฐมภูมิ หมายถึง แหล่งแร่ทองคำที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยา เช่น สายน้ำแร่ร้อน และกระบวนการแปรสัมผัส
ซึ่งกระบวนการทั้งหลายดังกล่าว ทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่ทองคำในหินชนิดต่างๆ ทั้งหินอัคนี หินชั้น และหินแปร จนอาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า กับแหล่งทองคำแบบทุติยภูมิ หมายถึง แหล่งแร่ทองคำที่เกิดจากการผุพังของหินที่มีแร่ทองคำเป็นส่วนประกอบ หรือแหล่งแร่ทองคำแบบปฐมภูมิ โดยทองคำจะหลุดออกมาเป็นเม็ดกลม หรือเกล็ดเล็กๆ และพบในแหล่งที่ใกล้เคียงกับแหล่งแร่แบบปฐมภูมิ หรือถูกน้ำชะล้างพัดพาไปสะสมตัวใหม่ในบริเวณต่างๆ เช่น เชิงเขา ลำห้วย ทำให้สามารถแยกออกมาได้ด้วยการร่อน ข้อมูลของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่า โลกนี้มีทองที่ค้นพบแล้วทั้งหมด 244,000 ตัน
ซึ่งถ้าเอามารวมกันทำเป็นลูกบาศก์ ลูกบาศก์นี้จะมีความกว้างและความยาวประมาณ 23 เมตรในทุกด้าน ปัจจุบัน ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามนุษย์นำแร่ทองออกจากเปลือกโลกและน้ำทะเลมาแล้วกี่ตัน แต่จากการคาดการณ์ของสภาทองคำโลก (Word Gold Council) มนุษย์ได้ขุดแร่ทองคำออกมาใช้แล้วประมาณ 212,582 ตัน และประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณนั้นถูกขุดออกมาหลังปี 1950 เป็นต้นมา นี่เท่ากับว่าโลกของเราเหลือแร่ทองที่ยังไม่ได้ถูกขุดออกมาใช้อีกเพียงไม่กี่หมื่นตันเท่านั้น