ตาแพ้แสง ตาสู้แสงไม่ได้ อาการ สาเหตุ การรักษา มีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง
ตาแพ้แสง (Photophobia) คือ ภาวะที่มีอาการไวต่อแสง อาการที่เจอแสงแล้วเกิดอาการสู้แสงไม่ได้ เป็นอาการหรือภาวะเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ อย่างเช่น ไมเกรน ตาแห้ง ซึ่งอาจมีความเชื่อมโยงกับเซลล์ในดวงตาและเส้นประสาทที่ส่งไปยังสมอง ทำให้ดวงตาอาจเกิดการระคายเคืองเมื่อสัมผัสกับแสงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แสงแดดจากดวงอาทิตย์ แสงจากหลอดไฟ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตา แสบตา ตาแดง รวมถึงอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย นอกจากนั้น ตาแพ้แสงยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ อย่างเช่น การใช้ยาหยอดตา ตาอักเสบ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด
อาการของตาแพ้แสง
- ปวดตา
- แสบตา หรือน้ำตาไหลออกจากดวงตา
- เมื่อดวงตาสัมผัสกับแสง อาจต้องหรี่ตาหรือกระพริบตาถี่ ๆ
- ตาแดง
- เวียนศีรษะ
- คลื่นไส้และอาเจียน
- ลืมตาไม่ได้
- ปวดกระบอกตา
- ปวดหัว
- บางคนอาจเป็นไมเกรนได้
ผู้ที่มีอาการตาแพ้แสงอาจมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล รวมถึงความแตกต่างจากอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตาแพ้แสงร่วมกับอาการอื่น ๆ อย่างเช่น มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
สาเหตุของตาแพ้แสง
- อาจเกิดจากปวดศีรษะไมเกรนมากถึง 80% ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจมีอาการปวดศีรษะไมเกรนร่วมกับอาการตาแพ้แสง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน หรือที่เรียกว่า “ปวดศีรษะคลัสเตอร์” รวมถึงอาจ
- อาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับสมอง อย่างเช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง โรคก้านสมองเสื่อม เนื้องอกในต่อมใต้สมอง
- อาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับดวงตา อย่างเช่น ตาแห้ง ม่านตาอักเสบ ต้อกระจก กระจกตาถลอก เยื่อบุตาอักเสบ หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา
- ปัญหาสุขภาพจิต อาการตาแพ้แสงอาจเกิดกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต อย่างเช่น ภาวะซึมเศร้า โรคกลัวที่ชุมชน โรควิตกกังวล โรคอารมณ์สองขั้ว อาการแพนิก
- อาจเกิดจากการรักษาปัญหาทางสายตา อย่างเช่น การทำเลสิก หรือการผ่าตัดอื่น ๆ รวมถึงอาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิด อย่างเช่น ยาด็อกซีไซคลิน ยาเตตราไซคลีน ยาฟูโรซีไมด์ ยาแฮโลเพริดอล
- เกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือดในร่างกาย อย่างเช่น โรคโลหิตจาง เป็นต้น
วิธีแก้ปัญหาตาแพ้แสง
1.ตรวจตากับจักษุแพทย์ เมื่อพบความผิดปกติทุกครั้งที่เจอแสง จะต้องเข้าตรวจตากับจักษุแพทย์ทันที เพื่อหาสาเหตุ และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
2.หยอดยา การรักษาอาการตาแพ้แสง ส่วนใหญ่แล้วใช้ยาหยอดตาในการรักษา อย่างเช่น น้ำตาเทียม ยาลดการอักเสบ ยาแก้แพ้
3.ใส่แว่นป้องกัน โดยเลือกแว่นสายตาที่สามารถป้องกันแสง สามารถลดแสงสะท้อน และลดแสงจ้า เพื่อช่วยลดแสง และตัดแสงที่จะเข้าสู่ตาของเรา ให้ตาเราไม่ต้องเจอแสงเยอะ จะช่วยลดการเกิดอาการแพ้แสงได้
4.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้แสง หลีกเลี่ยงจ้องมองแสงจ้า หรือแสงแดด และถ้าหากจะต้องออกกลางแจ้ง หรือต้องเข้าไปในที่ที่มีแสงจ้า แนะนำใส่แว่นป้องกันแสง และอาจจะใส่หมวกทุกครั้งที่ออกกลางแจ้งหรือเจอแสงจ้า เพื่อลดแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์
5.ลดปริมาณการเปิดหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ขณะอยู่ในอาคาร พยายามให้แสงจากธรรมชาติเข้ามาภายในอาคารมากที่สุด
6.อาจหลีกเลี่ยงการสวมแว่นกันแดดในที่ร่ม เพราะเมื่อสายสัมผัสกับความมืดเป็นเวลานานอาจทำให้ดวงตาไวต่อแสง และอาจเกิดอาการตาแพ้แสงได้