การติดเกม อาจเสี่ยงมีปัญหาทางจิตเวชแอบซ่อนอยู่ ?
องค์การอนามัยโลก WHO ระบุอย่างเป็นทางการว่า การติดเกม หรือ Gaming disorder ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของโรค หรือ ปัญหาทางสุขภาพตามสถิติระหว่างประเทศ หรือ ที่เรียกว่า ICD-11 โดยคนที่ติดเกมจะมีอาการบ่งชี้ตามหลัก WHO ดังนี้
1.หมกมุ่นกับการเล่นเกม โดยขาดการลำดับความสำคัญก่อนหลัง
2.เห็นเกมสำคัญกว่าทุกสิ่ง จนเกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ครอบครัว การเรียน ความสัมพันธ์ สังคม อาชีพ เป็นต้น
3.เล่นเกมอย่างหนักติดต่อกันอย่างน้อย 12 เดือน
วิธีสังเกตอาการติดเกม อย่างอื่นเพิ่มเติม
1.มีความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับการเล่นเกม เช่น นึกถึงการเล่นที่ผ่านมา หรือ นึกถึงการเล่นในครั้งถัดไป
2.ใช้เวลากับการเล่นเกมมากเกินไปไม่ทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น กิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เคยชอบ
3.ไม่พอใจ หงุดหงิด อาละวาด มีภาวะเครียด เมื่อต้องงด หรือ ลดการเล่นเกม
4.มีความต้องการเล่นเกมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจำนวนเวลาที่ใช้เล่น ความทันสมัยของอุปกรณ์ และ องค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเกม
5.มีพฤติกรรมไม่ดีที่ตามมาเพื่อให้ได้เล่นเกม เช่น ขโมยเงิน โกหกปิดบังการเล่นของตนเอง ทะเลาะกับคนรอบข้าง
6.อาจเคยพยายามหยุด หรือ ลด การเล่น แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ
7.ใช้การเล่นเกมเพื่อจัดการอารมณ์ทางลบ เช่น เศร้า เบื่อ โกรธ เหงา อยู่บ่อย ๆ
8.ยังคงการเล่นของตนอยู่แม้ว่าจะทราบถึงผลทางลบที่เกิดขึ้นจากการเล่นเกมต่อการใช้ชีวิตของตนเอง
9.เสีย หรือ พลาด โอกาสสำคัญในชีวิตต่าง ๆ เช่น ความสัมพันธ์กับผู้อื่น หน้าที่การงาน การเรียน อันเนี่องมาจากการเล่นเกมของตน
สาเหตุของการติดเกม
- ด้านชีวภาพ เกิดจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติทั้งด้านโครงสร้างการทำงานและสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ
- ด้านจิตใจและสังคม
- มีความพึงพอใจในตนเองต่ำ (low self-esteem) อยากได้การยอมรับจากผู้อื่น เช่น ได้รับคำชมจะทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้น
- การเลี้ยงดูแบบไม่มีระเบียบวินัย (poor disciplines) ไม่มีกฎกติกา ทำให้เด็กมีความสามารถในการควบคุมตัวเองไม่ดี ทำให้เล่นเกมจนไม่ได้ทำสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ เช่น การเรียน กิจวัตรประจำวัน
- ปัญหาครอบครัว ขาดต้นแบบที่ดี บางครอบครัวผู้ใหญ่เองก็ไม่มีระเบียบวินัย ติดมือถือ ไม่มีกิจกรรมอย่างอื่นทำร่วมกัน
ไม่ได้เพียงแค่ติดเกม แต่อาจมีโรคที่ซ่อนอยู่ การติดเกม เสี่ยงเป็นโรคจิตเวชหรือไม่ ?
หลายคนใช้เกมเป็นเครื่องมือระบายความรู้สึกต่าง ๆ ออกมา ที่เล่นเกมเพราะไม่อยากยุ่งกับใคร จึงเบี่ยงเบนความคิดแย่ ๆ ต่อสิ่งรอบตัว หรือ เล่นเกมเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นกว่าเดิม อาการติดเกมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งการที่เริ่มเล่นเกมก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเสพติดเกมได้ คนที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชหลายโรคพบร่วมกับโรคเสพติดเกมได้บ่อย โดยการมีโรคทางจิตเวชดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้งสาเหตุหรือเป็นผลที่ตามมาจากการติดเกม โรคทางจิตเวชที่มักพบได้บ่อยประกอบด้วยโรคดังนี้
1.โรคสมาธิสั้น (ADHD) การทำงานสมองของคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะต้องการการตอบสนองที่ฉับพลัน ไม่สามารถอดทนรอคอยได้ ขี้เบื่อ ต้องการสิ่งแปลกใหม่ ฉะนั้นการเล่นเกมจึงสามารถตอบสนองได้ทันที ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นแบบไม่ต้องรอนาน และ การเล่นเกมมีความแปลกใหม่ตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา การเล่นเกมจะทำให้อาการของสมาธิสั้นยิ่งเป็นมากขึ้น
2.โรคบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน (LD) ทำให้คนที่เป็นโรคนี้มีผลการเรียนไม่ดี คนรอบข้างตำหนิ แสดงท่าทีไม่ยอมรับ ทำให้ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง เมื่อไปเล่นเกมแล้วทำได้ดี มีสังคมเพื่อนในเกม ได้รับการชื่นชม ยอมรับ จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้น
3.โรคซึมเศร้า (depression) อาการของโรค คือ เศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร รู้สึกหมดหวังกับโลกความเป็นจริง การเล่นเกมเป็นหนทางหลีกหนีจากความทุกข์ทรมานที่เป็นอยู่ ทำให้อยากที่จะอยู่ในโลกของเกม
ไม่จำเป็นต้องเลิก ! แค่ลดพฤติกรรมติดจอ ก็ลดปัญหาที่เกิดจากการติดเกม
- สร้างวินัยในชีวิตประจำวัน ด้วยการจำกัดชั่วโมงการเล่นเกม
- หากิจกรรมสร้างสรรค์ทำกับเพื่อน ครอบครัว ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น
- อย่าปล่อยให้ตัวเองเข้าถึงมือถือ หรือ คอมพิวเตอร์ โดยไม่มีการควบคุม กำหนดเวลาในการเล่น
- วางตำแหน่งคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมในสถานที่โล่ง
- ไม่ควรตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอนหรือห้องที่ปิดมิดชิด
- วางนาฬิกาขนาดใหญ่ไว้หน้าเครื่อง จะได้เห็นเวลาที่ใช้ในการเล่นเกมที่ชัดเจน เมื่อหมดเวลาให้ไปทำกิจกรรมอย่างอื่น
ไม่ว่าจะเป็น “โรคติดเกม” หรือ แท้จริงแล้วมีโรคจิตเวชซ่อนอยู่ก็ตาม การโทษเกมไม่ใช่ทางออกทีดีที่สุด อย่าปล่อยให้คำว่า “ติดเกม” เป็นเหมือนกำแพงที่ซ่อนโรคทางจิตเวชไว้เบื้องหลัง คนรอบข้างควรจับมือเขา ช่วยกันทำลายกำแพงนั้น ซึ่งจะเป็นการปูทางให้คนนั้นได้ใช้ชีวิตในอนาคตอย่างแข็งแกร่งและมีความสุข